DTAC สั้นร้าย…ยาวดี

ชัดแล้ว.!! การประมูลคลื่น 900 MHz ที่มีเพียงบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN บริษัทในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว แต่ถูกตั้งข้อสังเกตว่างานนี้ จะเป็น “ทุกขลาภ” หรือไม่..!?


สำนักข่าวรัชดา

ชัดแล้ว.!! การประมูลคลื่น 900 MHz ที่มีเพียงบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN บริษัทในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว แต่ถูกตั้งข้อสังเกตว่างานนี้ จะเป็น “ทุกขลาภ” หรือไม่..!?

ด้วยราคาประมูลคลื่น 900 ที่ 5 MHz ที่ DTAC กำลังจะคว้าไปนั้น คาดว่าจะสูงถึง 38,064 ล้านบาท (ราคาเริ่มต้นประมูล 37,988 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 76 ล้านบาท) ถือเป็นต้นทุนสูง โดยมีเงื่อนไขการชำระเงิน งวดแรก 4,020 ล้านบาท งวด 2 และ 3 งวดละ 2,010 ล้านบาท งวด 4 ที่เหลือทั้งหมดและเมื่อรวมกับเงินลงทุนในการขยายโครงข่าย คาดว่าต้องใช้เงินกว่า 50,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ตอกย้ำด้วยงบไตรมาส 3/61 ที่พลิกมา ขาดทุนสุทธิ 921 ล้านบาท ปรับลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 600 ล้านบาท หากดูไส้ในงบการเงินพบว่า DTAC มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อยู่ที่ 1,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 193% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนและเพิ่มขึ้น 27% จากไตรมาสก่อน เพราะมีค่าใช้จ่ายการโรมมิ่ง 4G บนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่จ่ายให้กับทีโอที

ขณะที่ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของต้นทุนการให้บริการอยู่ที่ 7,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสก่อน อันเป็นผลจากการลงทุนโครงข่าย รวมทั้งมีรายการพิเศษจากค่าตัดจำหน่ายที่เป็นผลจากการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ ในเสาโทรคมนาคมกับกสท. เป็นเงิน 14,464 ล้านบาท

และที่น่าใจหาย..!! เกิดปรากฏการณ์ลูกค้าไหลออก (ลูกค้าย้ายไปอยู่ค่ายคู่แข่ง) โดยพบว่า จำนวนลูกค้า DTAC ลดลงถึง 313,000 เลขหมาย โดยมีลูกค้ารวมอยู่ที่ 21.3 ล้านเลขหมาย จากลูกค้าระบบเติมเงินที่มีอยู่ 15.3 ล้านเลขหมาย ลดลง 404,000 เลขหมาย ส่วนลูกค้ารายเดือน แม้เพิ่มขึ้นกว่า 92,000 เลขหมาย ทำให้มีลูกค้ารายเดือนรวมกว่า 6 ล้านเลขหมาย แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าไตรมาส 2/61 ที่เพิ่มขึ้น 154,000 เลขหมาย สาเหตุเป็นเพราะความไม่แน่นอน เรื่องการหมดอายุสัญญาสัมปทานนั่นเอง

ยิ่งตอกย้ำว่า…ระยะสั้น DTAC อาจเป็นหุ้นที่ไม่สดใสมากนัก..!!

แต่หากมองระยะยาว จะเป็นผลดี เนื่องจากเงื่อนไขการประมูลคลื่น 900 MHz (ที่เอื้อให้ DTAC สุด ๆ) ยังอนุญาตให้ DTAC ใช้คลื่น 850 MHz ต่อไปได้อีก 2 ปี ซึ่งคลื่น 850 MHz และคลื่น 900 MHz เป็นคลื่นเดียวกัน แต่อุปกรณ์รับส่งสัญญาณเป็นคนละระบบ ทำให้ DTAC ยังให้บริการ 850 MHz ลูกค้าเดิมต่อไปได้อีก 2 ปี และค่อย ๆ ทยอยติดตั้งอุปกรณ์รับส่งคลื่น 900 MHz ในปีที่ 2 ช่วยให้ลูกค้าใช้งานคลื่น 850 MHz ได้ต่อเนื่อง

ที่สำคัญ…หลังหมดการเยียวยาคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ตั้งแต่ 16 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนแบ่งรายได้ที่ให้ภาครัฐจะลดลงจากปีนี้ราว 9% เหลือ 4% เพราะไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ CAT ที่ 30% อีกต่อไป (รับรายได้ไปเต็ม ๆ)

ส่วนจำนวนคลื่นและพื้นที่การให้บริการ เริ่มทัดเทียมคู่แข่ง จึงคาดว่า DTAC จะกลับมามีกำไรไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่ไตรมาส 4/61 เพราะไม่มีการตั้งตัดจำหน่ายสินทรัพย์สัมปทานราวไตรมาสละ 4,000 ล้านบาทอีกต่อไป โดยคาดกำไรปี 2562 จะเติบโตเกือบ 3 เท่าตัวเลยทีเดียว

ขณะที่บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ DTAC ออกมานั่งยันยืนยันว่า “ครั้งนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับกลยุทธ์ DTAC ระยะยาว เพื่อยกระดับคุณภาพโครงข่าย สู่การสร้างความมั่นใจในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง แก่ลูกค้า DTAC ทั่วประเทศ”

แต่จะเชื่อ “เสี่ยบุญชัย” ได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ต้องดูกันยาว ๆ..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button