มุมมอง และข้อเท็จจริง

ล่าสุด ดัชนีดาวโจนส์ร่วงและมีทิศทางเป็นขาลงชัดเจนขึ้น พาเอาหุ้นทั่วเอเชียต้องร่วงตามไปด้วย มีคำอธิบายเดียวว่ามาจากรายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 25-26 ก.ย. ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ล่าสุด ดัชนีดาวโจนส์ร่วงและมีทิศทางเป็นขาลงชัดเจนขึ้น พาเอาหุ้นทั่วเอเชียต้องร่วงตามไปด้วย มีคำอธิบายเดียวว่ามาจากรายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 25-26 ก.ย. ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ท่าทีของกรรมการเฟดที่กลายเป็นสายเหยี่ยวเกือบเอกฉันท์ดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า กรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคต แล้วสรุปว่า เฟดอาจจำเป็นต้องดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินต่อไปแม้ในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ดีดตัวสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เป็นผลมาจากภาวะไร้สมดุลทางการเงิน

อีกเหตุผลหนึ่งที่เฟดไม่ได้กล่าวถึง แต่มีความหมายคือ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเชื่อมโยงกับการรักษาค่าดอลลาร์ในตลาดโลกด้วย หลังจากที่นับตั้งแต่ต้นเดือนนี้เป็นต้นมา เงินหยวนของจีนได้ยกฐานะขึ้นเทียบเท่ากับดอลลาร์และยูโรในตะกร้าเงิน SDR ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา IMF ได้ประกาศให้เงินหยวนของจีนรวมอยู่ในตะกร้าสกุลเงินอย่างเป็นทางการในการเป็นสกุลที่ใช้เทรดนานาชาติ หลังจากรอเวลามา 2 ปี หลังการประกาศรับเงินหยวนเข้าในตะกร้าทุนสำรอง

ผลพวงที่ตามมาคือ ทำให้หยวนมีศักดิ์และศรีเทียบเท่าในระดับ par เดียวกันกับสกุลดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ และเยน

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ อาจจะไม่มีผลทันทีทันใด แต่ในหลักการแล้วถือเป็นเฟสสุดท้ายของชุดใหญ่ที่คุกคามเพื่อการกำจัดยูเอสดอลลาร์ในฐานะทุนสำรองหลักของโลก

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสกุลเงินตราระหว่างประเทศทำนายว่า การประกาศครั้งนี้จะเป็นตัวจุดชนวนไปสู่การแปรเปลี่ยนของมูลค่าทรัพย์สินครั้งใหญ่ของชั่วชีวิตคนร่วมสมัยในโลกใบนี้เลยทีเดียว ทำนองเดียวกันกับที่ดอลลาร์สหรัฐเคยรุกคืบคลานเงียบ ๆ เข้าแทนที่เงินปอนด์สเตอร์ลิงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกลายเป็นความจำเป็นด้วยเหตุปัจจัย 2 ด้านพร้อมกัน คือภายในประเทศ เนื่องจากดัชนีเศรษฐกิจหลายรายการเริ่มส่งสัญญาณขานรับการทะยานขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของเฟดกันไปแล้ว (การว่างงานที่ลดลง ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เหมืองแร่ และสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ พุ่งแรง และเงินเฟ้อพื้นฐานก็ปรับขึ้นต่อเนื่อง)

ปัจจัยต่างประเทศ ผลพวงของสงครามการค้าที่บานปลายมากขึ้น และห่วงโซ่อุปทานที่ถูกจำกัดจากสงครามการค้า ทำให้ต้นทุนราคาสินค้านำเข้าและในประเทศพุ่งขึ้นจนยากจะระงับได้

เหตุปัจจัยเหล่านี้สะท้อนว่า เพียงแค่เริ่มต้นสงครามการค้า ความเสียหายจากอหังการแบบอเมริกันคาวบอย ก็เป็นเช่นนี้ 

เกมรุกฆาตแบบฆ่าตัวตายของโดนัลด์ ทรัมป์และพวก ที่ยกเหตุสงครามการค้าขึ้นมาเพื่อหวังตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานของอเมริกัน ออกฤทธิ์ที่ดัชนีดาวโจนส์และแนสแด็กในสองสัปดาห์นี้ชนิดคาดเดายาก ทำให้มีผลพลอยมาถึงนักลงทุนเอเชียจนตั้งตัวแทบไม่ทันเลยทีเดียว ต้องตาลีตาลานลุกขึ้นมาสั่งขายทิ้งจ้าละหวั่นในบางวันประเภท “โชคดีที่ตายก่อน”

เหตุปัจจัยที่ส่งสัญญาณสนับสนุนการขึ้นอันตราดอกเบี้ยของเฟด ตอกย้ำว่าบรรดาสายเหยี่ยวที่ครอบงำนโยบายของเฟดยามนี้ ไม้ได้เกิดขึ้นจากอารมณ์ความรู้สึกที่ว่า เฟดต้องการตอกย้ำหลักการเรื่อง “ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” ในการกำหนดนโยบายทางการเงิน แต่มีเหตุผลในตัวเอง

เบื้องหลังการกระทำของเฟดล้วนมาจากหลักการพื้นฐานที่ต้องกล่าวย้ำแล้วย้ำอีกว่า

เจตนารมณ์​ ยุทธศาสตร์ และประวัติศาสตร์ที่หยั่งลึกทางด้านนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ดอลลาร์ได้สถาปนาขึ้นเป็นมหาอำนาจของเงินทั่วโลกแทนที่เงินปอนด์สเตอร์ลิงที่อับแสงลงไป แม้ว่าบางครั้งอาจจะต้องเปลี่ยนบทบาทตามยุคสมัยไปบ้าง

ผู้นำสหรัฐฯ ทุกยุคแสดงความหวาดกลัวอย่างยิ่งเกี่ยวกับฐานะของเงินดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องค่าดอลลาร์อ่อนหรือแข็ง แต่อยู่ที่ว่า โลกจะเมินเฉยต่อบทบาทของดอลลาร์สหรัฐเมื่อใด

ปัจจุบัน นับตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา กุญแจสำคัญที่ชี้ชะตาดอลลาร์ให้ยิ่งใหญ่ และมีมูลค่าเกินจริงมากกว่า 30% มาโดยตลอด เริ่มต้นจากการถือกำเนิดของปิโตรดอลลาร์ หรือดอลลาร์ในตลาดน้ำมันและพลังงานของโลก บทบาทของเฟดในการกำหนดปริมาณเงินดอลลาร์และอัตราดอกเบี้ย จึงเป็นภารกิจที่ “ห้ามแตะต้อง” เสมอมา

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจึงเป็นทั้งมุมมอง และข้อเท็จจริงที่ยากปฏิเสธได้

โดนัลด์ ทรัมป์ จึงทำอะไรไม่ได้ นอกจากบ่นพึมพำเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากคนสนับสนุนเขาเท่านั้น เพราะมุมมองของทรัมป์ขัดหรือย้อนแย้งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า เงินเฟ้อกำลังหวนกลับมาเล่นงานอเมริกาครั้งใหม่อีกแล้ว

Back to top button