พาราสาวะถี

ถูกต้องและไม่มีใครไปกล่าวหาหรือต่อว่าแน่นอน จากกรณี พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต.ชี้แจงถึงกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้สื่อโซเชียลประชาสัมพันธ์ตัวเอง ในขณะที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหาเสียงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ว่า กกต.มีหน้าที่ดูแลเฉพาะพรรคการเมือง แต่หัวหน้าเผด็จการไม่ใช่พรรคการเมืองจึงไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่งนี้


อรชุน

ถูกต้องและไม่มีใครไปกล่าวหาหรือต่อว่าแน่นอน จากกรณี พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต.ชี้แจงถึงกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้สื่อโซเชียลประชาสัมพันธ์ตัวเอง ในขณะที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหาเสียงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ว่า กกต.มีหน้าที่ดูแลเฉพาะพรรคการเมือง แต่หัวหน้าเผด็จการไม่ใช่พรรคการเมืองจึงไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่งนี้

เพราะความจริงอย่าว่าแต่บิ๊กตู่เล่นโซเชียลมีเดียเลย ถามกันว่าหากรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งกกต.ยังไม่ได้รับรองให้เป็นพรรค ทำในลักษณะเดียวกันก็คงจะไม่ผิดอะไรอีก ด้วยการอ้างสถานะว่ายังไม่ได้เป็นพรรคการเมือง ดังนั้น เรื่องเช่นนี้จึงขึ้นอยู่กับสำนึกของคนล้วน ๆ ส่วนกกต.ก็ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพ สภาพที่ว่าแม้แต่กฎหมายที่ตัวเองมีอำนาจเต็มยังทำอะไรไม่ได้ เพราะอยู่ภายใต้อุ้งเท้าเผด็จการ

ไม่ได้กล่าวหาว่ายอมศิโรราบหรือรับใช้ แต่ด้วยข้อกฎหมายที่ท่านอ้างนั่นแหละ หลายเรื่องพรรคการเมืองมีปัญหา องค์กรที่บอกว่าดูแลเฉพาะพรรคการเมืองไม่มีปัญญาตอบ เพราะต้องหอบเอาคำถามไปถามคสช. ได้คำตอบบ้างบางเรื่องหากไม่มีการกระตุ้นก็ปล่อยให้เงียบ ๆ กันไป น่าเสียดายและสังเวชใจที่มีคนอ้างว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยและเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่องค์กรที่จะดูแลพรรคการเมืองตามครรลองกลับง่อยเปลี้ยเสียขา

ขณะที่ปุจฉาว่าด้วยสำเหนียกของคน อธิบายอย่างง่ายคือ การมีข้อห้ามไม่ให้คนอื่นทำในสิ่งที่ตัวเองตั้งข้อรังเกียจไว้ตั้งแต่ต้น แต่พอเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่ตัวเองชัดเจนแล้วว่าจะสืบทอดอำนาจ กลับมาใช้โซเชียลมีเดียแบบครบวงจร เช่นนี้มันหมายถึงอะไร หากไม่เล่นการเมืองต่อเลือกตั้งแล้วจบกันคงไม่มีใครว่า แต่ถ้ากระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่น สิ่งที่ทำอยู่จะอธิบายอย่างไร อย่าคิดว่านี่เป็นการเล่นขายของเหมือนเด็ก ๆ เลิกรากันแล้วก็แล้วกัน ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเด็กทำมันก็ให้อภัยกันได้ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไร

โรดแมปว่าด้วยการเลือกตั้ง สรุปแล้วท่านผู้นำจะเอายังไง เมื่อต้นเดือนไปญี่ปุ่น ยืนยันกับ ชินโสะ อาเบะ ผู้นำแดนอาทิตย์อุทัยเป็นมั่นเหมาะ ประเทศไทยมีเลือกตั้งแน่นอนในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า แต่พอไปเบลเยี่ยมหารือทวิภาคีกับผู้นำฮอลแลนด์และนอร์เวย์ก็บอกว่า จะมีเลือกตั้งเร็วสุดคือกุมภาพันธ์แต่ช้าสุดคือเดือนพฤษภาคม

เข้าใจว่านี่เป็นกรอบตามกฎหมายที่จะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันหลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ หรือดูจากเงื่อนเวลาแล้ว พรรคการเมืองในคาถาไม่น่าจะเตรียมตัวทัน ทั้งที่ออกสตาร์ทก่อนพรรคการเมืองอื่น ๆ และกุมความได้เปรียบทุกประตู

เพราะดูจากเงื่อนไขอื่น ไม่มีเหตุจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดเดิมที่ขีดกันไว้ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า มาถึงนาทีนี้ก็เชื่อได้ว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่คงไม่มีใครโวย อาจจะบ่นบ้างหรือวิพากษ์วิจารณ์ตามบทบาท เพราะทุกฝ่ายอยากเลือกตั้งเต็มทน แต่คนที่จะต้องตอบคำถามให้ชัดและเคลียร์คือหัวหน้าเผด็จการ

หรืออ่านสถานการณ์กันแล้ว นอกจากพรรคของคณะเผด็จการเตรียมตัวไม่ทันแล้ว ยังมีปัจจัยที่ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ค้างคาอยู่ เช่น กรณีชาวสวนปาล์มออกมาเรียกร้องเรื่องราคาที่ตกต่ำ เพราะทันทีที่ท่านผู้นำกลับมาจากเบลเยี่ยมก็ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ทันที ซึ่งเป็นการอธิบายที่ทำให้เห็นว่า รัฐบาลนี้หมดปัญญาที่จะช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้แน่นอน

เนื่องจากท่านผู้นำอ้างว่า วันนี้ต่างประเทศมีปัญหาเรื่องปาล์มมากกว่าเราอีก ปัจจุบันโลกมีกฎกติกาที่เป็นสากล อย่าคิดว่าเราปลูกเองแล้วจะได้ราคาตามที่เราต้องการ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะจะต้องมีการขายให้กับคนอื่น ถ้ากำหนดราคาสูงก็จะขายไม่ได้ เรื่องน้ำมันปาล์มถือเป็นเรื่องใหญ่ ทางสหภาพยุโรปหรืออียูให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทั้งการนำไปใช้เป็นอาหารหรือพลังงาน มันก็มีกรอบกติกาถ้าไม่ทำอะไรภายใต้กติกาก็จะมีปัญหาทั้งหมด

แหม! รีบอ้างหลักการสากลกันเลยทีเดียว ประเดี๋ยวก็จะมีพวกจ้องจับผิดตั้งคำถามเอาว่าแล้วเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสรีภาพของประชาชน ที่องค์กรต่างประเทศเขาถามถึง ทำไมไม่พูดถึงความเป็นสากลบ้าง อ้างแต่กติกาแบบไทย ๆ นี่ไงความไหลลื่นที่นักการเมืองอาชีพยังอาย สรุปว่าแก้ปัญหาให้ไม่ได้ เลยต้องข้าง ๆ คู ๆ ตีกรรเชียงกันไปก่อน ยังไม่นับรวมเกษตรกรด้านอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาไม่ต่างกัน

อีกด้านก็เหมือนเป็นการอธิบายภาพความย้อนแย้งซึ่งรัฐบาลเผด็จการพยายามจะโชว์ตัวเลขด้านเศรษฐกิจที่โตวันโตคืน แต่กับประชาชนคนฐานรากที่นอกเหนือจากบัตรคนจนซึ่งได้รับกันจำนวน 11.4 ล้านคนแล้ว ผู้ที่เป็นเกษตรกรอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงเดือดร้อนกันต่อไป นี่อาจเป็นปัจจัยชี้วัดสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งต้องขยับอีกกระทอก แม้จะต้องกลายเป็นคนไร้ความน่าเชื่อถือเพราะพูดกลับไปกลับมา จากผู้นำบางประเทศก็ตาม

คำถามจากคำพูดของ “บิ๊กแดง” พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่ไม่ยืนยันว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหารหรือไม่ นักข่าวนำไปหาคำตอบจากผู้นำเผด็จการคสช. เจ้าตัวรีบบอกทันควัน “ปัดโธ่ คุณก็พูดไปเรื่อยแหละ ไม่มีใครเขาอยากทำหรอก ก็พูดไปเรื่อย” สงสัยจะกลัวเข้าอีหรอบเดียวกับตัวเองหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะเคยพูดตลอดสมัยที่นั่งเก้าอี้ผบ.ทบ. “ผมจะไม่ทำ” สุดท้ายก็อย่างที่เห็น

จะว่าไปแล้วน่าเห็นใจบิ๊กแดงอยู่ไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่พูดตรงไปตรงมา ไม่เหมือนผบ.ทบ.ในอดีตที่ทุกคนบอกว่าไม่ทำแต่จบด้วยการลงมือ ซึ่งครั้งนี้เจ้าตัวไม่ยืนยันเพราะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความจริงน่าจะเป็นผลดีด้วยซ้ำ แต่ประสาโลกยุคโซเชียลฝ่ายไม่เอาเผด็จการก็รีบขยายผล ส่วนพวกถือหางทหารก็รีบปกป้องยกย่องกันทันที นี่แหละ! ต้นเหตุที่จะนำไปสู่การรัฐประหารของแท้ แต่ผลพวงจากเรื่องดังกล่าวพวกที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือคนที่จะสืบทอดอำนาจนั่นแหละ ถ้าการกลับมาแล้วทุกอย่างสงบก็เป็นอันจบกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องตรงข้าม ก็เป็นเหตุจำใจที่น้องต้องกล่าวคำว่าเสียใจกับการที่ต้องยึดอำนาจพี่

Back to top button