ถ้าเพื่อไทยแยกพรรค
2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่าเพื่อไทยจะแยกพรรค จัดตั้งพรรคเครือข่าย โดยใช้คณิตศาสตร์เลือกตั้ง ทำให้ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น ซึ่งมีคำถามมากมาย ทำได้จริงหรือ
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่าเพื่อไทยจะแยกพรรค จัดตั้งพรรคเครือข่าย โดยใช้คณิตศาสตร์เลือกตั้ง ทำให้ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น ซึ่งมีคำถามมากมาย ทำได้จริงหรือ
คำตอบคือ ทำได้จริงครับ แม้ยังไม่แน่ว่าควรทำจริงไหม เพราะมีข้อเสียหลายอย่าง แต่ในทางทฤษฎี ทำได้
ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมของมีชัย อธิบายคร่าว ๆ ว่า หลังเลือกตั้ง ส.ส. 350 เขตแล้ว ให้นำคะแนนทั้งประเทศมารวมกัน คิดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงได้ สมมติมีผู้มาใช้สิทธิ 35 ล้านคน ก็เอา 500 หาร เป็นสัดส่วน 70,000 คะแนน ได้ ส.ส. 1 คน แล้วสมมติเพื่อไทยได้คะแนนทั้งประเทศ 14 ล้านเสียง ก็จะได้ ส.ส. 200 คน แต่ถ้าได้ ส.ส.เขตแล้ว 190 คน ก็จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มเพียง 10 คน
ความคิดแยกพรรคมาจากสมมติฐานที่ว่า ส.ส.เขตเพื่อไทยส่วนใหญ่จะได้คะแนนไม่ถึง 70,000 เพราะดูฐานคะแนนปี 2554 ส่วนใหญ่ได้คะแนนไล่เลี่ย 50,000 มีไม่กี่คนชนะล้นหลาม ประกอบสถานการณ์การเมือง 4 ปี ที่รัฐแย่งชิงมวลชนอย่างหนัก ก็ประเมินหยาบ ๆ ได้ว่า ส.ส.ส่วนใหญ่น่าจะชนะด้วยคะแนนประมาณนี้
ดังนั้น ถ้าตั้งตุ๊กตาว่าแยกอีกพรรค รวบรวมเฉพาะ ส.ส.เขตที่มั่นใจว่าชนะแน่ในภาคอีสาน ภาคเหนือตอนบน สมมติตัวเลขกลม ๆ 175 คน พวกมีความเสี่ยงไม่ต้องไป คุณก็จะเห็นพรรคการเมืองอีกพรรค ซึ่งชนะ 175 เขต แต่คะแนนรวมประเทศ อาจได้แค่ 10.5 ล้านเสียง เพราะชนะแค่คนละ 5-6 หมื่นคะแนน คำนวณตามระบบควรได้ ส.ส.แค่ 150 คน แต่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ได้ ส.ส.เขตเท่าไหร่ ก็ถือว่าได้ไปเลย 175 คน
ส่วนพรรคที่สอง รวบรวมคนที่มีลุ้น ได้ก็ดี แพ้ก็ไม่เป็นไร คนที่จะได้ที่ 2 ที่ 3 ทั่วประเทศ อาจชนะ ส.ส.เขตบ้าง ส่วนใหญ่ไม่ชนะ แต่คะแนนรวมประเทศ จะได้ราว 3.5 ล้านเสียง
ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม แม้การที่พรรคแรกมี ส.ส.เขตล้น จะทำให้ระบบคำนวณปั่นป่วน ต้องใช้ตัวหารสูงขึ้น จนพรรคที่สองได้ ส.ส.ไม่ถึง 50 คน แต่อย่างไรก็ได้มากกว่า 25 คน โดยอาจได้ถึง 40 คน จาก 200 ก็ขยายเป็น 215 ด้วยประการฉะนี้
แต่แน่ละ นี่เป็นทฤษฎีคณิตศาสตร์ล้วน ๆ ซึ่งความเป็นจริงทางการเมือง ไม่สามารถล็อกเป๊ะ ๆ ได้ เช่น ไม่สามารถแยกคะแนน 14 ล้านเป็น 10.5 และ 3.5 ล้านได้ดังใจ การแยกหลายพรรคลงสมัครจะทำให้มวลชนสับสนจนตัดคะแนนกันเองหรือไม่ ฯลฯ (แต่ความสับสนเรื่องเบอร์ ไม่เป็นไร เพราะระบบมีชัยต่างเขตต่างเบอร์ทำสับสนอยู่แล้ว)
ยิ่งกว่านี้ การแยกพรรคจะทำให้มีปัญหา “ธงนำ” การมีพรรคหนึ่งมุ่ง ส.ส.เขต อีกพรรคมุ่งกวาดปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศ (ซึ่งน่าจะเป็นเพื่อไทยเดิม เพราะหาเสียงง่ายกว่า) ในทางการตลาด ถามว่าพรรคไหนคือแบรนด์เนม พรรคไหนจะชูเป้าเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ชิงความชอบธรรมจัดตั้งรัฐบาล เพราะอย่าลืมว่าที่ประชาชนจะเลือกเพื่อไทย ไม่ใช่แค่ต้านเผด็จการ หากยังหวังให้เป็นรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แม้ครั้งนี้เป็นไปได้ยากมาก เพราะรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.แต่งตั้งร่วมเลือกนายกฯ ก็ไม่ควรยกธงขาวก่อน
การที่เพื่อไทยจะมีพรรคสำรองเพราะกลัวถูกยุบ เป็นที่เข้าใจได้ แต่ไปถึงแยกพรรค โดยอาจถึงขั้นทิ้งเพื่อไทยเป็นพรรครอง แม้เป็นไอเดียที่เซียนคณิตศาสตร์ยังทึ่ง ก็ต้องคำนึงถึงผลดีผลเสียทางการเมืองให้รอบด้านก่อน