โดนง่าย ได้ยาก
นักวิเคราะห์สำนักใหญ่ที่เคยมีมุมมอง “โลกสวย” มาตลอด เริ่มพากันทยอยกลับมุมมองเป็นลบกันมากขึ้น บางสำนักแนะให้ชะลอการลงทุนและถือเงินสดเอาไว้บางส่วน มีเหตุผลรองรับ
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
นักวิเคราะห์สำนักใหญ่ที่เคยมีมุมมอง “โลกสวย” มาตลอด เริ่มพากันทยอยกลับมุมมองเป็นลบกันมากขึ้น บางสำนักแนะให้ชะลอการลงทุนและถือเงินสดเอาไว้บางส่วน มีเหตุผลรองรับ
การเปลี่ยนมุมมองในยามที่ดัชนี SET ขึ้นสัญญาณเทคนิค “อีกาสี่ตัว” ซึ่งควรจะได้จังหวะรีบาวด์ กลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ขาลงของตลาดมากขึ้น ในยามที่ดัชนีอยู่ใต้ 1,660 จุด ครั้งใหม่
พื้นฐานหลายประการที่ทำให้มุมมองนักวิเคราะห์เปลี่ยนไป มีเหตุปัจจัยหลักสรุปย่นย่อดังนี้
– 2 ปัจจัยหลักที่เคยเป็นจุดเด่นของประเทศ อย่างภาคการท่องเที่ยว & การส่งออก เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัว โดยส่งออกติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน ส่งออกไปจีนติดลบ 14% และส่งออกรถยนต์ ติดลบ 7% ในขณะที่คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะลดลงมากถึง 15% เทียบกับปีก่อน
– ค่าเงินบาท มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากกระแสฟันด์โฟลว์ไหลออกต่อเนื่อง ล่าสุดยอดขายสุทธิสะสมต่างชาติตลอดปีนี้ถึงวันจันทร์มากกว่า 2.58 แสนล้านบาท
ทั้งสองปัจจัย แม้จะเป็นปัจจัยภายใน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีรากฐานจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ สะท้อนว่าภายใต้โครงสร้างที่เศรษฐกิจไทยเปิดกว้างมากกว่า 75% กับเศรษฐกิจโลก ยากยิ่งที่ขนาดที่ฝรั่งเรียกว่า “มิกกี้ เม้าส์” จะไม่หวั่นไหวทั้งบวกและลบเมื่อเศรษฐกิจโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง
ดังที่ทราบกันดี แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปัจจุบันมีทิศทางหลักดังนี้ 1) สงครามการค้าจากนโยบายการค้าที่เปลี่ยนไปรุนแรงของสหรัฐฯ 2) ดอกเบี้ยขาขึ้นที่สวนทางกันหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เนื่องจากปริมาณเงินซึ่งเคยท่วมโลกลดลงจากการเลิกมาตรการ QE ของสหรัฐฯ และยูโรโซน 3) ชาติตลาดเกิดใหม่หลายแห่งมีปัญหาค่าเงินถดถอย
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้คำปลอบใจว่าเศรษฐกิจไทยจะสวนทางดีขึ้นชัดเจนกว่าเศรษฐกิจโลก หรือภูมิภาคก็กลายเป็นมายาอย่างง่ายดาย
การแถลงล่าสุดของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนกันยายน ระบุว่า การส่งออกมีมูลค่า 20,699.80 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -5.20% จากตลาดคาดโต 5.4-5.6% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,212.60 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.90% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 487.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 (ม.ค.-ก.ย. 2561) มีมูลค่า 189,729 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.13% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 186,891 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.2% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,838.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
การส่งออกที่ติดลบ นับเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่การส่งออกของไทยติดลบ 2.87%
สาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงเป็นผลจากฐานที่สูงในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การส่งออกของไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ที่ประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจในประเทศ และปัญหาค่าเงิน
ช่วงนี้ประเทศต่าง ๆ มีปัญหาค่าเงิน ทั้งตุรกี อาร์เจนตินา ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่มีปัญหาชะลอตัว จึงนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศลดลง รวมถึงไทยด้วย ซึ่งปัจจัยนี้จะยังมีต่อเนื่องต่อไป
สำหรับการส่งออกไปยังตลาดหลัก ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และตลาด CLMV ยังขยายตัวได้ดี แต่ต่ำลง โดยตลาด CLMV ขยายตัวสูงสุดที่ 17.5% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ, รถยนต์และส่วนประกอบ, น้ำมันสำเร็จรูป, เม็ดพลาสติก และสินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ เป็นต้น
รองลงมา เป็นตลาดสหภาพยุโรป ขยายตัว 3.9% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์, รถยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศ, โทรทัศน์และส่วนประกอบ เป็นต้น ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 1.2% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์, ผลิตภัณฑ์ยาง, อัญมณีและเครื่องประดับ, โทรศัพท์และอุปกรณ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น
ส่วนตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 0.2% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก, รถยนต์และส่วนประกอบ, เหล็กและผลิตภัณฑ์ และไก่แปรรูป เป็นต้น และตลาดอาเซียน ขยายตัว 0.2% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องยนต์สันดาป, เหล็กและผลิตภัณฑ์ และไก่แปรรูป เป็นต้น
ขณะที่การส่งออกไปตลาดอื่น ๆ ปรับตัวลดลง เช่น ตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS ลดลง 19.9% ตลาดออสเตรเลีย ลดลง 19.3% ตลาดลาตินอเมริกา ลดลง 12% ตลาดจีน ลดลง 14.1% ตลาดเอเชียใต้ ลดลง 3.7% และตลาดตะวันออกกลาง ลดลง 0.5%
สำหรับผลกระทบของการส่งออกไทยจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้ในช่วงเดือนกันยายน มูลค่าส่งออกไทยที่หายไปจากผลลบทางตรง มูลค่าส่งออกหายไป 75 ล้านดอลลาร์ ส่วนผลลบทางอ้อม จากการที่ห่วงโซ่อุปทานเกิดชะงักงัน ทำให้มูลค่าส่งออกหายไป 392 ล้านดอลลาร์ แต่มีผลบวกจากสินค้าไทยทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 65 ล้านดอลลาร์ ทำให้โดยรวมแล้วเดือนกันยายนผลจากสงครามการค้าทำให้มูลค่าส่งออกรวมหายไป 402 ล้านเหรียญ หรือ 1.8% ของมูลค่าส่งออก
แม้ท่าทีของผู้ที่เกี่ยวข้องจะยังคงมองโลกสวย แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นรวมทั้งการที่ผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคาร แสดงตัวเลขกำไรลดลง และ NPL เพิ่มขึ้น ต้องอาศัยกำไรพิเศษมาช่วยประคอง ก็เป็นอีกสัญญาณลบที่ชวนให้บรรยากาศการลงทุนมีสภาพ “โดนง่าย ได้ยาก” ดังที่ขาใหญ่บางคนโอดครวญล่าสุด
คำถามคือ ภาวะ “โดนง่าย ได้ยาก” นี้จะดำรงอยู่นานแค่ไหน คำตอบมีหลากหลาย แต่คำตอบที่จะพึ่งพิงได้น้อยที่สุด คือคำตอบจากผู้จัดการตลาดหุ้นทั้ง SET และ mai