MAX แจงข้อมูลหลัง ตลท.จี้ถามกรณีตั้งบริษัทย่อยทำธุรกิจไฟฟ้าขยะ

MAX แจ้งการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะ “บ.วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค” อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้-สร้างความเข้าใจแก่ชุมชน โดยยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์ ตามที่มีข่าวว่าได้รับการต่อต้านจากมวลชน มีการเรียกเก็บสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของชาวบ้านและจ่ายเงินรายละ 2,000 บ. โดยมีการพาผู้นำชุมชนไปดูงานเพื่อการทำประชาพิจารณ์ เผยกรณีให้ “วรรณี ลิทองกุล” กู้ยืมเงิน 20 ลบ. เพื่อการนำไปสำรองจ่ายสำหรับการศึกษาเตรียมงาน ติดต่อประสานงานในพื้นที่ ให้ "บ.วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ขอให้ บริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX ชี้แจงเกี่ยวกับการทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานขยะของบริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด ตามที่ MAX เผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.57 เกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัท ไซมิสทริค จำกัด (SMT) เป็นบริษัทย่อย 100% ทุนชำระ 1 ล้านบาท

เนื่องจากปรากฏข้อมูลตามสื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่เผยแพร่ระหว่างวันที่ 15 มี.ค.58 -27 เม.ย. 58 รวมทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยของ MAX ขอให้ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริคจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ กำลังการผลิต 6.5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 142 ไร่ ที่จังหวัดลำปางซึ่งได้รับการต่อต้านจากมวลชน มีการเรียกเก็บสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของชาวบ้านและจ่ายเงินรายละ 2,000 บาท มีการพาผู้นำชุมชนไปดูงานโรงไฟฟ้าที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อประกอบการทำประชาพิจารณ์

ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้มีการซักถามในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 58 ว่า วีพีเอ็น แอนด์ไซมิสทริค มีการใช้จ่ายเงินไปในลักษณะดังกล่าวตามที่ปรากฏในข่าว หรือไม่ อย่างไร ซึ่งบริษัทยังไม่ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นและต่อผู้ร้องเรียนตามที่มีการสอบถามไปยังบริษัทในภายหลัง ดังนั้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอให้ MAX ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม

ทั้งนี้บริษัทชี้แจงว่า ปัจจุบัน วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการบริหารจัดการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยครบวงจรและโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ที่ตำบลบ่อแฮ้ว จังหวัดลำปาง และการสร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว โดย วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริคยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์สำหรับการก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานขยะแต่อย่างใด

โดยปัจจุบัน วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร และการนำขยะไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

สำหรับวีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค นั้นบริษัทได้มีการใช้เงินในการเตรียมความพร้อมในการประกอบธุรกิจศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยครบวงจร และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ ในขั้นตอนการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยครบวงจรและโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะแล้วรวม 28.3 ล้านบาท ตามที่ MAX ได้จัดตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด

โดย MAX ถือหุ้นผ่าน SMT ในสัดส่วนร้อยละ 51 ร่วมกับ VPNC ในสัดส่วนะ 49% เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 58 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทพลังงานขยะ และต่อมาเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 58 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2558 ได้มีมติอนุมัติให้ วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค ลงทุนในธุรกิจบริหารจัดการขยะมูลฝอย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะในอนาคตปัจจุบันจึงมีนโยบายที่จะประกอบธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน 2โครงการ ดังนี้

  1. โครงการบริหารจัดการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยครบวงจร
  2. โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ

สำหรับกรณีที่มีการให้สัตยาบันรายการให้เงินกู้ยืม 20 ล้านบาท แก่นางวรรณี ลิทองกุล (กรรมการของวีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค และเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 77% ของ VPNC) ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม นั้น บริษัทแจ้งว่า แหล่งที่มาของเงินทุนที่ วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค ใช้ในการให้เงินกู้ยืมแก่คุณวรรณี ลิทองกุล ดังกล่าวมาจากเงินให้กู้ยืมตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ของ MAX เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 58 ซึ่งมีมติอนุมัติวงเงินให้กู้ยืมแก่ SMT ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ MAX จำนวน 30 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจบริหารจัดการขยะครบวงจรและธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ

โดย SMT ได้เบิกเงินกู้ยืมดังกล่าวจาก MAX จำนวน 25 ล้านบาท และ SMT ได้นำเงินดังกล่าวไปให้กู้ยืมแก่วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำนวน 20 ล้านบาท จากนั้น วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จึงได้นำเงิน 20 ล้านบาทดังกล่าว ไปให้นางวรรณี ลิทองกุล กู้ยืม เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำไปสำรองจ่ายสำหรับการศึกษาเตรียมงาน ติดต่อประสานงานในพื้นที่

ขณะที่บริษัทแจ้งว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารของบริษัทฯ ในงวดไตรมาส 1 ปี 58 เพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ สามารถสรุปได้ดังนี้

1) ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2558 บริษัทอยู่ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงจำเป็นต้องว่าจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจหลายราย ได้แก่ ที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายเพื่อดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์สถานะธุรกิจ (Due Diligence) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 6ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เลื่อนแผนการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกไปแล้ว ดังนั้น บริษัทจะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนของการศึกษาและพิจารณาการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป

2) ในช่วงไตรมาส 1 ปี 58 บริษัทมีการเตรียมการสำหรับดำเนินธุรกิจใหม่ จึงมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรรวมประมาณ 6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5 ล้านบาท โดยเฉพาะในเดือนมกราคม 2558 บริษัทมีการจัดเตรียมบุคลากรสำหรับดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ลดลงแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา เนื่องจากได้มีการชะลอการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกไป

3) บริษัทมีค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์ สำนักงาน ก.ล.ต. และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์รวมประมาณ 2.7 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีทุนจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น

4) ค่าใช้จ่ายในการศึกษา ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจรและโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะของ วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำนวน 16 ล้านบาท

5) ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือรวมจำนวนประมาณ 4 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายที่สำคัญ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านพนักงานอื่น ๆ ค่าเช่าค่าบริการและใช้จ่ายเกี่ยวกับสถานที่ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ค่าเสื่อมราคา และรายการปรับปรุงทางภาษีตามมาตรฐานบัญชี

Back to top button