TMB แข็งสวนตลาด! โบรกฯย้ำพื้นฐานแน่นเปรี๊ยะ เคาะเป้าหนัก 2.78 บาท

TMB แข็งสวนตลาด! โบรกฯย้ำพื้นฐานแน่นเปรี๊ยะ เคาะเป้าหนัก 2.78 บาท ล่าสุด ณ เวลา 10.16 น. ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.26 บาท สูงสุดที่ระดับ 2.28 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.24 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 72.59 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงอย่างหนักถึง 19.20 จุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ล่าสุด ณ เวลา 10.16 น. ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.26 บาท สูงสุดที่ระดับ 2.28 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.24 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 72.59 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงอย่างหนักถึง 19.20 จุด หรือ 1.18%

ทั้งนี้ บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/61 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ของ TMB เพิ่มขึ้นเป็น 2.69% จากไตรมาส 2/61 ที่ 2.37% อย่างไรก็ตามผู้บริหารเผยว่าหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการปรับลดเชิงคุณภาพ (Qualitative downgrade) โดยอิงสมมติฐานของมาตรฐาน IFRS 9

โดยธนาคารได้มีการจัดชั้นลูกหนี้ที่มีคุณภาพต่ำใหม่ (Reclassification) และตั้งสมมติฐานความเป็นไปได้ของการผิดนัดชำระ (Probability of default) ของลูกหนี้เหล่านี้ให้สูงขึ้น โดยใช้วิธีคิดตามมาตรฐานบัญชีใหม่ดังกล่าวซึ่งมีความอนุรักษ์นิยมขึ้น ทำให้ธนาคารตั้งสำรองเพิ่มเติมจำนวน 7 พันล้านบาทในไตรมาส 3/61 อย่างไรก็ตาม เรามีมุมมองบวกต่อปัจจัยดังกล่าว เนื่องจากจะช่วยทำให้พอร์ตสินเชื่อของธนาคาร clean ขึ้น และสะท้อนคุณภาพลูกหนี้ที่แท้จริง อีกทั้งจะช่วยให้การปรับเปลี่ยนไปใช้ IFRS 9 ผ่านไปได้ด้วยดี โดยไม่ต้องเผชิญกับผลกระทบก้อนใหญ่

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าสัดส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ณ สิ้นไตรมาส 3/61 คิดเป็น 23-24% ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นรองแค่ SCB แต่ผู้บริหารดูไม่เป็นกังวลนักกับมาตรการ Macro-prudential ของ ธปท. เพื่อควบคุมสินเชื่อประเภทนี้ เนื่องจากธนาคารได้เน้นการใช้นโยบายเชิงคุณภาพภายในนับตั้งแต่ปี 2557

โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/61 90% ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสินเชื่อจากพนักงานรายได้ประจำ และ 98% มี Ticket size ที่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท อีกทั้ง ธนาคารไม่ได้เน้นบ้านมือสองมากนัก นอกจากนี้ NPL ratio ของสินเชื่อดังกล่าวอยู่ที่เพียง 1.57% ต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่ 3.39% ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างดี รวมถึงการจัดการความเสี่ยงการกระจุกตัว (Concentration risk) ที่มีประสิทธิภาพของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้ธุรกิจหลักจะอ่อนแอในปี 2561 แต่คาดแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นในปีหน้า โดยคาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อปี 2562 จะเร่งตัวเป็น 8% จากปีนี้ที่ 6% หนุนโดยเศรษฐกิจที่ขยายตัวเป็นวงกว้างขึ้นและกลุ่ม SME ที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ เราประมาณการการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมปี 2562 จะฟื้นตัวเป็น 6% จากปี 2561 ที่ -10% เนื่องจากคาดว่าธุรกิจกองทุนรวมจะเริ่มได้รับปัจจัยบวกจากการเป็นพันธมิตรกับ Eastspring ขณะที่ธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ยังมีโอกาสการขยายตัวในกลุ่ม Underpenetrated

นอกจากนี้ คาดอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อเฉลี่ย (Credit cost) ปี 2562 จะแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ 130bps หนุนโดย Qualitative downgrade ที่ทำล่วงหน้าไว้แล้วตั้งแต่ปีนี้ โดยรวมแล้ว เราคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2561/2562 ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท/1.0 หมื่นล้านบาท

โดย คงคำแนะนำ “ซื้อ” ด้วยราคาเป้าหมายปี 2562 ที่ 2.78 บาท คำนวณจาก prospective PBV ที่ 1.15 เท่า (Gordon Growth Model) นอกเหนือจากพอร์ตสินเชื่อที่ดู clean ขึ้นแล้ว และแนวโน้มการตั้งสำรองที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงในปีหน้า อาจมีอัพไซด์เพิ่มเติมหากจำนวนสำรองหนี้สูญที่แท้จริงที่จะใช้สำหรับมาตรฐาน IFRS 9 ต่ำกว่าระดับที่ตั้งไว้

 

Back to top button