พาราสาวะถี

มีคำถามให้เลือกตอบระหว่าง สืบทอดอำนาจแน่ ๆ กับ เลื่อนการเลือกตั้งจากเดือนกุมภาพันธ์ออกไป คิดว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกคำตอบแรกเป็นของตายและเป็นไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน ส่วนอย่างหลังไม่มีใครเดาใจหัวหน้าเผด็จการได้ ยิ่งเห็นท่าทีของคนจากพรรคในคาถาด้วยแล้ว เห็นแววส่อเค้าว่าเลือกตั้งกับโรคเลื่อนน่าจะมาพร้อม ๆ กัน


อรชุน

มีคำถามให้เลือกตอบระหว่าง สืบทอดอำนาจแน่ ๆ กับ เลื่อนการเลือกตั้งจากเดือนกุมภาพันธ์ออกไป คิดว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกคำตอบแรกเป็นของตายและเป็นไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน ส่วนอย่างหลังไม่มีใครเดาใจหัวหน้าเผด็จการได้ ยิ่งเห็นท่าทีของคนจากพรรคในคาถาด้วยแล้ว เห็นแววส่อเค้าว่าเลือกตั้งกับโรคเลื่อนน่าจะมาพร้อม ๆ กัน

การออกมาโอดครวญว่า 4 รัฐมนตรีในสังกัดพรรคพลังประชารัฐเสียเปรียบพรรคการเมืองอื่น เพราะจะหาเสียงได้ต้องรอวันหยุดเสาร์ อาทิตย์หรือหยุดนักขัตฤกษ์ และหลังเวลาราชการไปแล้ว แค่มุกตื้น ๆ เรียกคะแนนสงสาร แล้วที่ไปประชุมครม.สัญจรเช่นปลายเดือนนี้ลุยพะเยากับเชียงราย และไปพบประชาชนโดยอ้างว่าไปรับฟังปัญหาของประชาชนไม่ได้ไปหาเสียง ตรงนี้ไงที่พรรคส่วนใหญ่เขามองเป็นความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง

จะอ้างเรื่องความจำเป็นในการช่วยเหลือประชาชน โดยที่รัฐมนตรี 4 คนมีหัวโขนเป็นผู้บริหารพรรคการเมืองแล้วไม่มีเรื่องผลประโยชน์ของพรรคแอบแฝง ถ้าเป็นการแสดงในละครน้ำเน่าคนอาจจะเชื่อ แต่นี่เป็นโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ว่าจะสร้างภาพอย่างไร มันก็แยกกันไม่ออกระหว่างทำงานเพื่อประเทศหรือเพื่อพรรคการเมืองของตัวเอง

หากจะให้แฟร์ก็ปล่อยให้พรรคการเมืองอื่น ๆ เขาหาเสียงได้ จะพบปะประชาชนที่ไหนก็ไม่มีปัญหา ถ้าห่วงเรื่องความมั่นคงตามกล่าวอ้างก็มีกฎหมายพิเศษคอยเล่นงานอยู่แล้วหากใครฝ่าฝืนไปปลุกระดม กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเผด็จการ แต่เมื่อพรรคและพวกตัวเองทำได้ทุกอย่าง ขณะที่พรรคส่วนใหญ่ขยับอะไรไม่ได้ เช่นนี้แล้วมันจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมตามที่กล่าวอ้างกันอย่างไร

มองข้ามเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองหรือความมั่นคงในอำนาจของใครบางพวกบางกลุ่ม แต่พิจารณาโดยภาพรวมหากการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่เสรีและเป็นธรรม อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ให้เห็นว่า จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนสั่นคลอน ไม่มั่นใจต่ออนาคตของประเทศ รวมทั้งอาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในอนาคต

เช่นเดียวกับการเลื่อนการเลือกตั้งหากเลื่อนไปเรื่อย ๆ ก็จะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมรวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและออกแบบให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ จึงมีความสำคัญต่อประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งจาก 24 กุมภาพันธ์ 2562 อีก จะส่งผลกระทบทำให้ภาคการลงทุนและเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปีหน้า

เหมือนอย่างที่แลกเปลี่ยนกันมาตลอด ผู้มีอำนาจไม่ควรวิตกกังวลการเคลื่อนไหวทางการเมืองว่าจะนำมาสู่ความขัดแย้ง เผชิญหน้าหรือวิกฤตการณ์ทางการเมือง การไม่ปลดล็อกทางการเมืองต่างหากจะสร้างปัญหาและนำไปสู่ความรู้สึกว่ามีการจัดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม การกดทับสิทธิเสรีภาพต่างหากที่จะสร้างปัญหาความขัดแย้งรุนแรงและทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น อนุสรณ์ยังตั้งข้อสังเกตถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่ความสามารถในการแข่งขันของไทยล่าสุดปี 2561 ปรับตัวลดลงทั้งที่รัฐบาลชุดนี้มีการเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ Hard Infrastructure จำนวนมาก แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพิ่มเติม ดูแลทางด้านสาธารณสุข การศึกษา และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นเพราะล่าสุดมีอันดับที่ลดลง

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่เป็น Soft Infrastructure ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งระบบนิติรัฐ ระบบกฎหมาย การแก้ปัญหาการคอร์รัปชันและสถาบันในระบอบประชาธิปไตย ในระยะยาวแล้วเศรษฐกิจไทยจะต้องเติบโตบนฐานนวัตกรรมและผลิตภาพ เนื่องจากการขยายตัวของแรงงานและทุนมีข้อจำกัดและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยนั้นยังลงทุนทางด้านนวัตกรรมน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว

เสียงสะท้อนต่าง ๆ ที่ออกมาจากนักวิชาการที่เชื่อได้ว่าไม่ได้เอนเอียงข้างหนึ่งข้างใด ก็เหมือนภาพสะท้อนไปยังรัฐบาลที่เวลานี้ต้องบอกว่าเล่นการเมืองกันแบบเต็มตัว การโพนทะนาตัวเลขเศรษฐกิจโดยพยายามหยิบยกสิ่งที่ประชาชนเห็นแล้วตาโตมาอวดอ้าง แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของความสำเร็จเท่านั้น หากแต่ยังห่างไกลจากสิ่งที่จะแก้ปัญหาในภาพรวมทั้งหมด

ตามติดกันมาคือความเห็นของ วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณและอดีตคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชี้ว่า รัฐประหารของคณะคสช.เมื่อ 4 ปีที่แล้ว “เสียของ” ในหลายเรื่อง แต่เรื่องที่เสียหายใหญ่ที่สุดคือ ในเมื่อพวกเขาเป็นคนสั่งการร่างรัฐธรรมนูญเอง ทำไมไม่ออกแบบรัฐธรรมนูญให้มีวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแบบ 2 ขั้วสุดโต่งที่ดูวุ่นวาย ยืดเยื้อ ไม่มีทางออกด้วยวิธีการอื่น

โดยยังรักษารัฐธรรมนูญไว้ ไม่จำเป็นต้องใช้การทำรัฐประหารยึดอำนาจ (ที่พวกเขาเรียกผิด ๆ ว่าปฏิวัติ) ถ้าผู้นำกองทัพรุ่นนี้คิดได้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เหมือนยุค 50 ปีที่แล้ว เราจะพัฒนาประเทศและแข่งขันกับประเทศอื่นในโลกยุคใหม่ได้อย่างไร อ้าว! ไหงวิทยากรมองเช่นนั้น ก็คณะเผด็จการเขาประกาศว่าคือผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับยุทธศาสตร์ 20 ปี และการพาประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ยุค 4.0 มิใช่หรือ

บทสรุปของวิทยากรในวันนี้ คงจะเป็นเหมือนที่ใครหลาย ๆ คนแสดงความเห็นไว้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะพลิกแพลง ใช้ความเป็นเนติบริกรออกแบบกฎหมายและวางแผนสร้างกลไกให้ประเทศไทยเดินตามความต้องการอย่างไร สุดท้ายเมื่อวกกลับเข้าสู่การสืบทอดอำนาจ ทุกอย่างก็เป็นคำตอบว่าความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวอ้าง แท้ที่จริงแล้วก็แค่การเปลี่ยนขั้วอำนาจ หาใช่การปฏิรูปและทำให้ประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งและเดินไปสู่การพัฒนาที่มั่นคง ยั่งยืนแต่อย่างใด

Back to top button