กทพ.โดนอีกคดี! อนุญาโตสั่งจ่าย “BEM” 9 พันล้าน ผิดสัญญาทางด่วนเฉลิมมหานคร-ศรีรัช
กทพ.โดนอีกกระทง! อนุญาโตสั่งจ่าย "BEM" 9 พันล้าน ผิดสัญญาทางด่วนเส้นเฉลิมมหานคร-ศรีรัช
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงกรณี คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับคดีปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัชปี 2551 จากกรณีที่ BEM ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 เพื่อเรียงร้องให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชำระเงินส่วนต่างรายได้ค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 กับ อัตราค่าผ่านทางที่ถูกต้องตามสัญญานั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 บริษัทได้รับทราบคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการลงวันที่ 24 ตุลาคม 2561 โดยคณะอนุญาโตตุลาการได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ชี้ขาดให้กทพ.ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทสรุปดังนี้
1.ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 9,091.79 ล้านบาท และดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ข้อ 25.6 ของต้นเงินค่าเสียหายจำนวน 7,909.59 ล้านบาท คิดเป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป จนกว่า กทพ.จะชำระเสร็จสิ้น
2.ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางตามอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 กับส่วนแบ่งที่บริษัทมีสิทธิจะได้รับตามสัญญา โดยคำนวณตามจำนวนรถยนต์แต่ละประเภทที่ใช้ทางตามจริง เป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป รวมทั้งชำระดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาข้อ 25.6 ของผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัทจนเสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมของ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่า นอกจากคดีความที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายคดีความที่ทาง BEM ยื่นฟ้องต่อ กทพ. ซึ่งแบ่งเป็นข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองกลาง และคณะอนุญาโตตุลาการ
โดยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชำระเงินแก่ NECL เป็นบริษัทย่อยของ BEM โดยจ่ายเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่ NECL สำหรับปี 2542 จำนวน 780.80 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ตามที่กำหนดในสัญญา และสำหรับปี 2543 จำนวน 1,059.20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดในสัญญา รวมจำนวนกว่า 1,840 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
ขณะที่มีคดีข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาระหว่าง BEM และ กทพ. อีกทั้งหมด 4 คดีความ ประกอบด้วย
1) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้เงินค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษของรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D จำนวนเงิน 1,048.24 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา และชดใช้เงินค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษของรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 และอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามที่บริษัทเรียกร้องจนกว่าจะมีการดำเนินการปรับและบังคับใช้อัตราค่าผ่านทางพิเศษ ให้เป็นไปตามที่เรียกร้องไม่เกินวันที่ 31สิงหาคม 2551 พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
2) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางด่วนขั้นที่ 2 ในปี พ.ศ. 2551 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางรถยนต์แต่ละประเภทของโครงข่ายในเขตเมืองและโครงข่ายนอกเขตเมือง ตามอัตราค่าผ่านทางในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 9,091.79 ล้านบาท
3) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ในปี พ.ศ. 2551 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ตามอัตราค่าผ่านทางในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาทจำนวนเงิน 4,062.83 ล้านบาท
4) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) (บริษัทย่อยของ BEM) ได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้ค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในปี พ.ศ. 2546 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ทางพิเศษสายบางปะอิน–ปากเกร็ด ตามอัตราค่าผ่านทางพิเศษในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 69 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากรวมมูลค่าการฟ้องร้องทั้งหมด พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 2.36 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากทาง BEM เป็นฝ่ายชนะคดี จะส่งผลให้บริษัทมีการบันทึกค่าเสียหายดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของบริษัท และเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้นของบริษัท