พาราสาวะถี
ความจริงควรจะหยุดพูดเรื่องประเทศกูมีได้แล้ว แต่ก็ทำไม่ได้ ด้วยเหตุที่ว่าถ้าจำกันได้ หลังเพลงเกิดเป็นกระแส นายตำรวจใหญ่ 2 ราย พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล บอกว่าก้ำกึ่งว่าจะมีความผิดใดหรือไม่ ขณะที่ พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ หักพาล ฟันธงชัดเจนเป็นความผิดอยู่แล้ว ก่อนที่เมื่อวันจันทร์รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะประกาศฟัง-ร้อง-แชร์เพลงนี้ได้ไม่มีความผิด
อรชุน
ความจริงควรจะหยุดพูดเรื่องประเทศกูมีได้แล้ว แต่ก็ทำไม่ได้ ด้วยเหตุที่ว่าถ้าจำกันได้ หลังเพลงเกิดเป็นกระแส นายตำรวจใหญ่ 2 ราย พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล บอกว่าก้ำกึ่งว่าจะมีความผิดใดหรือไม่ ขณะที่ พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ หักพาล ฟันธงชัดเจนเป็นความผิดอยู่แล้ว ก่อนที่เมื่อวันจันทร์รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะประกาศฟัง-ร้อง-แชร์เพลงนี้ได้ไม่มีความผิด
ส่วนนายตำรวจผู้ใกล้ชิดรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงรีบติ๊ดชึ่งทันที ให้ยึดที่รองผบ.ตร.อธิบาย ก่อนที่จะออกตัวว่ายังไม่ได้ดูเนื้อหาของเพลงโดยละเอียด อ้าว! แล้วไหงวันก่อนบอกนักข่าวว่าผิดแหง ๆ นี่หรือเปล่าที่มีคนเขาค่อนขอดไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ขนาดที่ยังไม่ได้ฟังแต่บอกว่าผิดไว้ก่อนแล้ว อย่างนี้หมายความว่ายังไง
พอจะเข้าใจได้ความเป็นตำรวจเชลียร์นาย ต้องพูดอะไรให้เห็นถึงการแอ็คทีฟและจัดการผู้ที่มาบังอาจวิจารณ์เจ้านายไว้ก่อน แม้จะมีการออกตัวว่าตัวเองมองเรื่องความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก แต่มันไม่น่าจะใช่ความมั่นคงที่ฟันธงว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดผิดกฎหมาย โดยที่ไม่ได้ดูเนื้อหาสาระว่าเป็นอย่างไร ไม่ต่างอะไรจากพวกกองเชียร์ที่หลับหูหลับตาด่ากันไว้ก่อน
ส่วนสาเหตุที่ใส่เกียร์ถอย ไม่ใช่เพราะเสียงสนับสนุนจากกูรูผู้รู้อย่างหลากหลายสาขา ที่ต่างเห็นว่านี่เป็นงานศิลปะ ไม่มีอะไรที่เป็นความผิด ขณะที่ท่านผู้นำก็ประกาศชัดไม่ได้สั่งการให้ทำอะไร เพราะเดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าปิดกั้นสิทธิเสรีภาพไปอีก ก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งในฐานะคนที่จะกระโจนเข้าสู่สนามการเมืองแบบเต็มตัว ต้องฝึกใจให้กว้างเข้าไว้
สิ่งสำคัญ จากที่เพลงนี้ยอดวิวในยูทูบในช่วงแรก ๆ มีแค่หลักแสนนิด ๆ แต่ปรากฏว่าพอเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงออกมาขู่จะดำเนินคดี ทำให้ยอดดูทะลุเลยหลัก 20 ล้านไปเสียอย่างนั้น แทนที่จะปล่อยผ่านแล้วให้เกิดเป็นกระแสแป๊บเดียว แต่กลับทำให้มีคนเข้าไปดูกันถล่มทลาย พร้อมเสียงยกมือหนุนว่าพูดในสิ่งที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เกินเลยจากความเป็นจริง
อย่างที่ ไชยันต์ ไชยพร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่าเนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่ก็เป็นข้อเท็จจริงในมุมหนึ่ง ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอย่างนี้จริง ๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริง คือไม่ได้เป็นเรื่องเสกสรรปั้นแต่งอะไร จึงไม่น่าจะต้องตระหนกอะไรกันมาก พร้อม ๆ กับคำอธิบายต่อว่าข้อจำกัดของการทำเพลงมันไม่อาจอธิบายความจริงรอบด้านได้เหมือนงานวิชาการ
แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ในระยะเริ่มแรกของการยึดอำนาจเวทีวิชาการต่าง ๆ จึงถูกคุกคาม จนเกิดการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิชาการระดับประเทศ พร้อมกับข้อเรียกร้องเวทีวิชาการหรือมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร อย่างไรก็ตาม สุรพศ ทวีศักดิ์ ก็ขยายผลจากคำพูดดังกล่าวของไชยันต์ได้อย่างน่าสนใจ งานวิชาการไม่ใช่สิ่งที่ผูกขาดการนำเสนอความจริง เพราะความจริงอาจถูกนำเสนอได้หลายรูปแบบ
ในแง่หนึ่งแร็พประเทศกูมีมันคืองานศิลปะแต่เป็นงานศิลปะที่สะท้อนความจริง และความจริงนั้นไชยันต์ก็ยืนยันว่าไม่ใช่สิ่งที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาลอย ๆ แต่มันคือความจริงที่มาจากการศึกษาสืบค้นในทางวิชาการ แล้วแปรความจริงออกมาในรูปของศิลปะเพลงแร็พ ขณะเดียวกันความจริงที่นำเสนอผ่านบทเพลง มันก็ถูกนำไปสืบค้นว่าเรื่องนั้น ๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร ดังเช่นไอลอว์ได้อ้างถึง 7 เรื่องจริงที่ประเทศกูมี
พลังของบทเพลงมันจึงไม่ใช่การนำเสนอแบบงานวิชาการ แต่มันคือการนำปัญหาสำคัญ ๆ ดังกล่าวมาร้อยเรียงและนำเสนออย่างมีศิลปะที่กระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกและกระตุ้นให้คนคิด ซึ่งพลังเช่นนี้งานวิชาการไม่สามารถทำให้เกิดได้ โดยเราก็ไม่ควรลืมไปว่าความจริงที่นำเสนอผ่านบทเพลงประเทศกูมี มันคือความจริงที่มีหลักฐานและคำอธิบายทางวิชาการรองรับอยู่ก่อนแล้ว
ประเด็นที่ว่าเพลงไม่อธิบายความจริงรอบด้านเหมือนงานวิชาการอันนี้พูดอีกก็ถูกอีก เพราะมันไม่มีเพลงไหนจะอธิบายความจริงรอบด้านได้อยู่แล้ว เพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” เพลง “คืนความสุข” มันก็ให้ความจริง(เท็จ)เฉพาะด้านที่ตัวเองต้องการเสนอทั้งนั้น โดยเฉพาะบางคนที่ไม่พอใจเพลงประเทศกูมีบอกว่า ทำไมไม่พูดถึงปัญหาในยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์บ้าง
ทั้งที่ความจริงแล้วเปล่าเลย เพราะเรื่องของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์นั้น อีกฝ่ายพูดกันมายาวนานกว่าทศวรรษแล้ว พูดกันได้ทุกช่องทางทั้งฟรีทีวี รายการคืนความสุข และอื่น ๆ มีช่องทางให้พูดได้อย่างปลอดภัยมากกว่าการพูดถึงปัญหาของรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว
มันไม่ใช่แต่เพลงประเทศกูมีเท่านั้นที่พูดความจริงรอบด้านไม่ได้ แม้แต่งานวิชาการก็พูดความจริงรอบด้านอย่างแท้จริงไม่ได้ เพราะเงื่อนไขของความเป็นไปได้ของการพูดความจริงได้รอบด้านคือ “เสรีภาพ” ซึ่งประเทศไทยไม่ได้มีเสรีภาพที่จะพูดความจริงของปัญหาการเมืองได้รอบด้านหรือได้ทั้งหมดทุกเรื่องจริง ๆ นี่คือความจริง
เวลาพูดถึงเสรีภาพ ย่อมหมายถึงเสรีภาพที่ทุกคนมี มันไม่ใช่อย่างที่รัฐบาลคสช.ส่งทหารไปติดตามนักการเมืองแม้กระทั่งเวลาเข้าห้องน้ำ แล้วอ้างว่าสังคมไทยก็ยังมีเสรีภาพ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังดำเนินชีวิตปกติ มันไม่ใช่อย่างนั้น การพยายามพูดความจริงที่เสี่ยงต่อการถูกอำนาจรัฐบาลเผด็จการทหารหาเรื่องเอาผิดทางกฎหมายอย่างศิลปินที่ผลิตเพลงประเทศกูมี นี่คือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยผ่านงานศิลปะการทำเพลง
ดังนั้น ปรากฏการณ์ของแร็พประเทศกูมีในภาวะที่ยังไม่ปกติ มันจึงมีความหมายต่อการกระตุ้นเตือนสังคมและผู้มีอำนาจรัฐให้ตระหนักร่วมกันว่า การกลับไปสู่วิถีของเสรีภาพและประชาธิปไตยเท่านั้น คือคำตอบของการหลุดพ้นจากความขัดแย้งและปัญหาต่าง ๆ ที่พูดถึงในเพลงประเทศกูมี แต่สิ่งสำคัญคงอยู่ที่ผู้มีอำนาจได้มองเห็นเหมือนอย่างที่ผู้ที่วางตัวเป็นกลาง(อย่างแท้จริง)ได้มองเห็นหรือไม่ ถ้าพิจารณาสิ่งที่ทำกันมาเพื่อเตรียมการสืบทอดอำนาจแล้ว ดูเหมือนทุกอย่างเดินสวนทางกับคำว่าประชาธิปไตยอันเป็นสากล