หุ้น SCC
สองปีก่อน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้น SCC หรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (ที่ผู้บริหารอยากให้คนทั่วไปรู้จักชื่อยี่ห้อ SCG มากกว่า) พากันให้ราคาเป้าหมายเกิน 600.00 บาท แต่ปีนี้ มุมมองเปลี่ยนไปมาก ขนาดเกรงใจสุด ๆ ยังให้ราคาเป้าหมาย ไม่เกิน 500.00 บาท ที่ไม่เกรงใจก็ให้ราคาแค่ 425.00 บาท
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
สองปีก่อน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้น SCC หรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (ที่ผู้บริหารอยากให้คนทั่วไปรู้จักชื่อยี่ห้อ SCG มากกว่า) พากันให้ราคาเป้าหมายเกิน 600.00 บาท แต่ปีนี้ มุมมองเปลี่ยนไปมาก ขนาดเกรงใจสุด ๆ ยังให้ราคาเป้าหมาย ไม่เกิน 500.00 บาท ที่ไม่เกรงใจก็ให้ราคาแค่ 425.00 บาท
ฉันทามติของนักวิเคราะห์หุ้น เกิดจากแนวโน้มผลประกอบการที่ถดถอยลงเป็นสำคัญ
ผลประกอบการของ SCC ที่เคยสะท้อนภาพของธุรกิจไทยโดยรวม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจพื้นฐานของประเทศคือวัสดุก่อสร้าง กระดาษ และปิโตรเคมี พร้อมกับเครือข่ายธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากมายในประเทศและอาเซียน
ไตรมาสสามที่ผ่านมา SCC มีกำไรสุทธิลดลงมาก ถึง 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เท่ากับ 9,473 ล้านบาท โดยในไตรมาสนี้ มีตัวเลข “ขาดทุนพิเศษทางเทคนิค” จากการด้อยค่าสินทรัพย์ซึ่งมีการประเมินเป็นประจำทุกปี 1,670 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากธุรกิจปูน และวัสดุก่อสร้างในอินโดนีเซีย และไทย ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานปกติ มีส่วนต่างราคาของธุรกิจเคมิคอลส์ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ EBITDA ลดลง 33% จากไตรมาสก่อน และ 10% จากระยะเดียวกันปีก่อน สวนทางกับรายได้จากการขาย 122,518 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2%
โชคยังดีที่มีรายการกำไรพิเศษจากการขายบริษัท Alliance Petrochemical Investment 770 ล้านบาทมาประคองเอาไว้
หากคิดเป็นงวดช่วง 9 เดือนของปี 2561 มีกำไรสุทธิ 34,281 ล้านบาท ลดลง 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจ เคมิคอลส์ และการด้อยค่าสินทรัพย์ โดยมี EBITDA เท่ากับ 66,560 ล้านบาท ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้จากการขายเท่ากับ 361,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%
ไม่เพียงแต่บริษัทหลักที่ย่ำแย่ บริษัทที่ไปลงทุนร่วมก็พลอยย่ำแย่ไปด้วย เพราะ SCC รายงานว่ามีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม เท่ากับ 11,890 ล้านบาท ลดลง 2,316 ล้านบาท หรือ 16% จุดหลักคือส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนมาจากบริษัทร่วมในธุรกิจเคมิคอลส์ลดลง 2,610 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ส่วนแบ่งในบริษัทร่วมจากธุรกิจอื่น เพิ่มขึ้น 294 ล้านบาท และมีเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมทุน ในช่วง 9 เดือนลดลง 3,250 ล้านบาท หรือ 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
หากเจาะลึกลงในรายละเอียด จะเห็นว่าแรงกดดันหลักมาจากธุรกิจเคมีที่ส่วนต่างของ HDPE, LDPE, LLDPE, PP และ PVC ลดลง รวมทั้ง ปริมาณการขาย Olefins ลดลง ทำให้อัตรากำไรลดลงจากต้นทุนแนฟทาที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ธุรกิจปูน (ไม่รวมการตัดจำหน่ายคงที่) แข็งแกร่งขึ้น หนุนโดยงานภาครัฐที่เพิ่มขึ้น 12% และด้านธุรกิจพาณิชย์เพิ่มขึ้น 5%
ที่น่าสนใจคือนักวิเคราะห์พากันประเมินล่วงหน้าว่า ผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสสาม แม้ว่าต้นทุนของแนฟทาเริ่มควบคุมได้ แต่อุปสงค์ของปูนและวัสดุก่อสร้างจะอ่อนแอลงตามฤดูกาล โดยมีการประคองตัวที่ชดเชยบางส่วนจากเงินปันผลของบริษัทลูก และกำไรพิเศษจาก PTA/PET
กำไรที่น่าผิดหวังของ SCC อาจจะปลอบใจนักลงทุนบางกลุ่มว่า กรรมการบริษัทน่าจะเอากำไรมาจ่ายปันผลอย่างใจป้ำเพื่อประคองความภักดีของนักลงทุน แบบที่เคยทำในงวดครึ่งแรกของปี ซึ่งในทางการเงินแล้วไม่สมควร เพราะอาจจะทำให้กำไรสะสมของบริษัทไม่เพิ่มขึ้น และค่าพี/อีเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
ในอนาคตอันใกล้ โอกาสของ SCC ที่จะถูกปรับลดประมาณการกำไรจึงน่าจะเลี่ยงไม่พ้น
คำถามก็คือ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จากนี้ไป ทิศทางทำกำไรของยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมไทยอายุยาวนานกว่า 100 ปี จะให้ความปลื้มปีติจากนักลงทุน “ชาวดอย” และ “ชาวสวน” ได้มากน้อยแค่ไหน
โจทย์นี้ ยังคงเป็นปริศนา