สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศประจำวันที่ 13 พ.ย. 2561


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (13 พ.ย.) เนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ดิ่งลงกว่า 7% อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด ขณะที่หุ้นโบอิ้งร่วงลงอย่างหนัก จากความกังวลเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเครื่องโบอิ้ง 737 ของสายการบินไลอ้อนแอร์เมื่อเดือนที่แล้ว โดยแรงกดดันเหล่านี้ได้สกัดปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของกลุ่มหุ้นเทคโนโลยี รวมทั้งสัญญาณบวกที่ว่าสหรัฐและจีนอาจจะสามารถแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าได้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,286.49 จุด ลดลง 100.69 จุด หรือ -0.40% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,722.18 จุด ลดลง 4.04 จุด หรือ -0.15% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,200.88 จุด เพิ่มขึ้น 0.01 จุด หรือ +0.00%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (13 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม การร่วงลงของราคาน้ำมันดิบได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง และสกัดแรงบวกของตลาดหุ้นยุโรปในระหว่างวัน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวขึ้น 0.7% ปิดที่ 364.44 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,472.22 จุด เพิ่มขึ้น 146.78 จุด หรือ +1.34% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,053.76 จุด เพิ่มขึ้น 0.68 จุด หรือ +0.01% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,101.85 จุด เพิ่มขึ้น 42.76 จุด หรือ +0.85%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (13 พ.ย.) หลังจากเจ้าหน้าที่ตัวแทนการเจรจาจากอังกฤษ และสหภาพยุโรป (EU)  สามารถตกลงกันเกี่ยวกับร่างข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU (Brexit) อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวส่งผลให้เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น และสกัดแรงบวกของตลาดในระหว่างวัน

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,053.76 จุด เพิ่มขึ้น 0.68 จุด หรือ +0.01%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดทรุดตัวลงกว่า 7% เมื่อคืนนี้ (13 พ.ย.) หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปี 2562 นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กดดันซาอุดีอาระเบียและกลุ่มโอเปกไม่ให้ปรับลดกำลังการผลิต โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 12 ซึ่งเป็นการปิดลบที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในปี 2526

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 4.24 ดอลลาร์ หรือ 7.1% ปิดที่ 55.69 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 2560 และเป็นการร่วงลงภายในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 3 ปี

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนม.ค. ดิ่งลง 4.65 ดอลลาร์ หรือ 6.6% ปิดที่ 65.47 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (13 พ.ย.) โดยได้รับปัจจัยกดดันจากดัชนีดอลลาร์ที่ยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี อันเนื่องมาจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 2.10 ดอลลาร์ หรือ 0.17% ปิดที่ 1,201.40 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 3.4 เซนต์ หรือ 0.24% ปิดที่ 13.977 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ร่วงลง 4.0 ดอลลาร์ หรือ 0.47% ปิดที่ 841.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 6.50 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 1092.10 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สกุลเงินปอนด์และยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 พ.ย.) ขานรับรายงานที่ว่า เจ้าหน้าที่ตัวแทนการเจรจาจากอังกฤษ และสหภาพยุโรป (EU)  สามารถตกลงกันเกี่ยวกับร่างข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU (Brexit)

เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2954 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2852 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.1268 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1241 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7202 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7189 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐทรงตัวเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.84 เยน แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0085 ฟรังก์ จากระดับ 1.0098 ฟรังก์ อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3253 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3227 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button