CPF ดีดบวก 3% หลังกางแผน 5 ปี ดันยอดขายทะลุ 6 แสนล้าน พร้อมลุยธุรกิจตปท.เต็มสูบ
CPF ดีดบวก 3% หลังกางแผน 5 ปี ดันยอดขายทะลุ 6 แสนล้าน พร้อมลุยธุรกิจตปท.เต็มสูบ โดยล่าสุด ณ เวลา 10.24 น. อยู่ที่ระดับ 25.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.65 บาท หรือ 2.64% สูงสุดที่ระดับ 25.25 บาท ต่ำสุดที่ 24.60 บาท มูลค่าการซื้อขาย 98.72 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ณ เวลา 10.24 น. อยู่ที่ระดับ 25.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.65 บาท หรือ 2.64% สูงสุดที่ระดับ 25.25 บาท ต่ำสุดที่ 24.60 บาท มูลค่าการซื้อขาย 98.72 ล้านบาท
โดยราคาหุ้น CPF ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงวันนี้ หลังมีการรายงานข่าวว่าบริษัทวางเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้า ผลักดันยอดขายเติบโตมากกว่า 6 แสนล้านบาท พร้อมเดินหน้าธุรกิจในต่างประเทศหวังเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากกิจการในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 75% จากปัจจุบัน 67%
ด้านนายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และกรรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทได้ตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขายจำนวนมากกว่า 600,000 ล้านบาท โดยกิจการในต่างประเทศเป็นกิจการหลักในการผลักดันการเติบโต และมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าประเทศไทย ซึ่งคาดว่ากิจการในต่างประเทศจะมีสัดส่วนประมาณ 75% ของยอดขายรวม
ทั้งนี้ บริษัทได้มีการขยายการลงทุนไปยังประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและมีความต้องการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ให้ทันสมัยได้มาตรฐาน มาถึงวันนี้ได้มีการลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 17 ประเทศ มีการขยายตัวของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ยอดขายจากกิจการในต่างประเทศนี้คิดเป็นสัดส่วน 67% ของยอดขายรวม และในรอบระยะเวลา 9 เดือนแรกของปี 2561 มีการเติบโต 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกิจการในประเทศเวียดนามมีการเติบโตสูงสุด
สำหรับผลการดำเนินงานของ 9 เดือนแรกปี 2561 บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิได้ 13,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 12,933 ล้านบาท ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากราคาสุกรในประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชาที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน คาดว่าผลการดำเนินงานของปี 2561 น่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย และน่าจะมีการเติบโตต่อเนื่องในปี 2562 จากการขยายตัวของธุรกิจในต่างประเทศ
ส่วนยอดขายงวด 9 เดือนแรกปี 2561 อยู่ที่ 398,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเติบโตส่วนใหญ่มาจากกิจการในต่างประเทศ ขณะเดียวกันบริษัทยังตระหนักถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย และกำลังซื้อของผู้บริโภค จึงได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่มีอัตราลดลง และการจัดการบริหารด้านการเงินที่มีการออกและจำหน่ายหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อให้มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง