คนนำทางตาบอด
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคมาลานำไทยไปสู่อำนาจ มีการออกกฎหมายฉบับหนึ่งอันสุดแสนพิลึกพิลั่นมาก ห้ามตระกูลนานา ซื้อที่ดินแถบถนนสุขุมวิทเพิ่มเติม (หลังจากซื้อเกือบหมด แถวต้นถนนสุขุมวิท เป็นกฎหมายที่ไม่ใช้บังคับทั่วไป (sui generis) ที่ผิดเพี้ยนที่สุดอย่างแรงในตำรากฎหมาย
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคมาลานำไทยไปสู่อำนาจ มีการออกกฎหมายฉบับหนึ่งอันสุดแสนพิลึกพิลั่นมาก ห้ามตระกูลนานา ซื้อที่ดินแถบถนนสุขุมวิทเพิ่มเติม (หลังจากซื้อเกือบหมด แถวต้นถนนสุขุมวิท เป็นกฎหมายที่ไม่ใช้บังคับทั่วไป (sui generis) ที่ผิดเพี้ยนที่สุดอย่างแรงในตำรากฎหมาย
ความพิลึกพิลั่นดังกล่าว ถือว่าเป็นแค่เศษเสี้ยวธุลีของความพยายามในรอบ 10 ปีอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อ 1) ออกกฎหมายสารพัด 2) เบือนกลไกรัฐสารพัดรูป 3) สร้างม็อบจอมปลอมในนามสีเสื้อ “คนดี-ผู้จงรักภักดีสถาบัน” 4) ทำรัฐประหาร 5) ร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ 6) ตีความกฎหมายบิดเบี้ยว เพื่อเป้าหมายเดียวเท่านั้นคือ “ขับไล่ผีทักษิณ ชินวัตร” และพวก ออกจากวงจรอำนาจในฐานะ “ศัตรูของรัฐ” ที่มีต้นทุนแพงลิบลิ่ว
ประเด็นน่าสนใจคือ เวลาที่ผ่านไปกว่า 1 ทศวรรษ ความพยายามดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จดังที่หวัง ผีทักษิณ ชินวัตร และพวก ยังคงหลอกหลอนต่อไปอีก ไม่มีใครรู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อใด
ผลข้างเคียงทางลบ หรือผลพลอยเสีย ตกอยู่ที่ประชาชนในสังคมไทยตกเป็นตัวประกันของการต่อสู้ที่ไม่รู้จบนี้อย่างไม่มีทางเลี่ยง ถูกผลักให้ต้องเลือกข้าง ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ โดยปริยาย
พฤติกรรมทางการเมืองที่ไร้ทางออก หรือการเมืองของซากศพ (หรือ tumultuous politics) เช่นนี้ พรรคการเมืองหรือผู้มีอำนาจ หรือแก่งแย่งมีอำนาจในยามนี้ มีสถานภาพดุจคำกล่าวของพระเยซูคริสต์ที่ประณามพวกฟาริซีส์ และสะดูซีส์ในอดีตที่พยายามสร้างจุดเชื่อมสวรรค์และโลกในโบสถ์ยิวจากการขายใบไถ่บาปว่าเป็น “คนนำทางตาบอด”
เราได้เห็นขบวนการออกแบบการเลือกตั้งอันประหลาดพิสดารกับแนวทาง “งูกินหาง” (พรรคที่มีส.ส.เขตเพิ่มขึ้น 1 คน คะแนนปาร์ตี้ลิสต์หดไป 1 คน) จนกระทั่งเป็นที่มาของการจัดพรรค “แตกธนบัตร” (แบ่งพรรคย่อยลงส.ส.เขต ควบคู่กับพรรคที่เน้นปาร์ตี้ลิสต์)
เราได้เห็นขบวนการดูดนักการเมืองเก๋าสนามเลือกตั้งที่ไม่มีจุดยืนใดนอกจากโหนอำนาจ เพื่อสร้างพรรคนั่งร้านเผด็จการที่กล้าประกาศไร้ยางอายว่า นักการเมืองจากการเลือกตั้งคือเผด็จการ ในขณะที่นักรัฐประหารคือนักประชาธิปไตย
เราได้เห็นการวางแผนออกแบบชนิดดิบเถื่อนด้วยมาตรา 44 ให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถผ่อนผันและขยายเวลาเปลี่ยนแปลงการพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามอำเภอใจ
เป้าหมายของพฤติกรรมอันพิลึกพิลั่นนี้ เห็นได้ชัดว่า มีเพื่อให้ขัดขวางการหวนกลับคืนสู่อำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้งของทักษิณ ชินวัตร และพวก รวมทั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมอันผิดธรรมชาติให้คณะเผด็จการทหารได้ครองอำนาจต่อไปอย่างดื้อรั้น (โดยยังไม่รวมเครื่องมืออีก 2 อย่างที่สามารถงัดเอามาใช้จวนตัวได้ คือ สร้างสถานการณ์วุ่นวายเพื่อล้มการเลือกตั้ง และเปิดทางกองทัพทำรัฐประหารในนามของความมั่นคงแห่งชาติ)
ปรากฏการณ์ “คนนำทางตาบอด” นี้ ถือเป็นเจตนาสร้าง “กับดัก” ขัดขวางความก้าวหน้าทางสังคม-เศรษฐกิจในระยะยาวที่ชัดเจน
กับดักนี้จะก้าวข้ามไปได้อย่างไร คำตอบง่ายมากคือ ทางเลือกสายที่สาม ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าคืออะไร เพราะสถานการณ์ยามนี้และอนาคตอันใกล้ของสังคมไทย เข้าข่ายที่อันโตนิโอ กรัมชี่ เคยกล่าวไว้นานมาแล้วว่า “โลกเก่ากำลังจะตาย โลกใหม่กำลังต่อสู้ที่จะเกิด ปัจจุบัน คือช่วงเวลาแห่งอสุรกาย”
แม้จะยังไม่มีคำตอบว่าจุดจบจะเกิดขึ้นเมื่อใด แล้วผลลัพธ์จะเป็นเช่นใด แต่ในความพยายามขับไล่ผีทักษิณออกไปนั้น มีปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดความฟอนเฟะอย่างยิ่งยวดขึ้นมา นั่นคือการซื้อขายใบไถ่บาปของคนดี-คนจงรักภักดีสถาบัน ที่เอิกเกริก
การซื้อขายใบไถ่บาปยามนี้ของรัฐบาลและคสช. ด้วยปฏิบัติการ “อุ้มคนรวย (อ้างว่า) เพื่อช่วยคนจน” ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา มีให้เห็นต่อเนื่องมากมายจนเกิดสภาพ “รวยกระจุก จนกระจาย” อย่างกว้างขวาง ชนิดที่มาตรการ “ผักชีโรยหน้า” อย่างประชารัฐ หรือไทยนิยม ไม่อาจกลบมิด
หลายต่อหลายครั้ง มีการออกมาตรการลดภาษีธุรกิจและคนรวย ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้ง 2 เรื่องล่าสุดคือ คำสั่ง คสช.ที่ 17/2561 ให้ใช้มาตรา 44 เรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรบางกรณีให้นิติบุคคลต่างชาติที่ซื้อตราสารหนี้ภาครัฐ และการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ มาตรการอุ้มคนรวย (อ้างว่า) เพื่อช่วยคนจนนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์ ถือเป็นแนวทางเศรษฐศาสตร์เน้น “อุปทานสร้างอุปสงค์” ตามข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Laffer Curve ผสมกับ Trickle-down Effect Laffer Curve ระบุว่า การลดภาษีในระดับที่เหมาะสม ในยามที่การลงทุนเอกชนถดถอยลง ต่ำกว่าอัตราเพิ่มของเงินอัดฉีดจากภาครัฐ เพราะไม่อาจจะทนต่อการเสียภาษีที่เพิ่มขึ้นได้ จะช่วยให้เอกชนลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพราะมีแรงจูงใจที่ดีขึ้น
ส่วนมาตรการ “อุ้มคนรวย เพื่อช่วยคนจน” คือการลดภาษีคนรวยและนิติบุคคลเพื่อทำให้เกิดการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ท้ายสุดจะลงไปสู่การจ้างงานและค่าเฉลี่ยของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นโดยปริยาย
พฤติกรรมซื้อขายใบไถ่บาป เพื่อสงบปากสงบคำผู้มีรายได้ในเขตเมืองที่มีวิสัยทัศน์ “โลกสวย” ที่มีเสียงดังสุดในสังคมของรัฐบาลเผด็จการเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการทำซ้ำเพื่อซื้อเวลาให้คะแนนนิยมไม่ลดลง ซึ่งในทางปฏิบัติ ทำให้ความเหลื่อมล้ำ และการคอร์รัปชันทวีขึ้น
พฤติกรรมซื้อขายใบไถ่บาปครั้งแรกของโลก เกิดขึ้นในเมืองเยรูซาเลม ตามที่บันทึกในพระคัมภีร์ใหม่ของคริสเตียน ที่ระบุว่าพวกฟาริซีส์ที่ครองอำนาจร่วมกับสะดูซีส์ในสังคมยิวแห่งยูดายยุคโรมันครองเมือง ได้แปรโบสถ์ยิวให้กลายเป็นสถานที่ขายใบไถ่บาป เมื่อพระเยซูโจมตีพวกเขา จึงสมคบคิดเสนอให้ผู้ปกครองโรมันในยูดายยามนั้นคือ ปิลาตุส ปอนติอุส ให้จับพระเยซูไปตรึงไม้กางเขน
ต่อมาในประวัติศาสตร์ยุโรปปลายยุคกลาง วาติกันในฐานะศูนย์กลางศาสนจักรโรมันคาธอลิก ประกาศระดมสรรพกำลังรัฐฟิวดัลไปรบในสงครามครูเสด ยึดเมืองเยรูซาเลมคืนมาจากพวกมุสลิมที่เข้ายึดครอง โดยออก “ใบไถ่บาป” (indulgences) ให้กับบรรดานักรบครูเสดทุกคนว่าแม้จะทำผิดบาปอะไรก็ตามไว้หรือภายภาคหน้า ก็จะได้รับการปลดเปลื้องใน “แดนชำระบาป”
จากจุดเริ่มของใบไถ่บาปยุคสงครามครูเสด ได้จุดประกายให้กลายเป็นวิวัฒนาการของการตลาด “ขายใบไถ่บาป ปูทางสู่สวรรค์” หรือกรมธรรม์ประกันบาป ที่เฟื่องฟูอย่างยิ่งในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนเป็นที่มาของคำประกาศ The 95 Theses อันลือลั่นของมาร์ติน ลูเธอร์ ที่เมืองวึตเตมบวร์ก (หรือวิตเทนบูร์ก) ใน ค.ศ. 1517 ซึ่งเกิดการปฏิรูปศาสนารุนแรง
การซื้อขายใบไถ่บาปที่สร้างความเหลื่อมล้ำและคอร์รัปชัน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้แค่สร้าง “สวรรค์คนโง่” (Fool’s Paradise) ระยะสั้น ๆ หลอกล่อคนจำนวนหนึ่งให้เชื่อว่าอำนาจเผด็จการของกองทัพจะยั่งยืนในสังคมไทยเป็นนิรันดร
บทเรียนจากถนอม-ประภาส ในอดีตอาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับสังคมที่มีคนนำทางตาบอดยามนี้