ตลาดหุ้นเอเชียเลือดสาด หลัง “ดาวน์โจนส์” ดิ่ง 500 จุด จับตา! หุ้นไทยวิกฤตหลุดแนวรับ 1,600
ตลาดหุ้นเอเชียเลือดสาด หลัง “ดาวน์โจนส์” ดิ่ง 500 จุด จับตา! หุ้นไทยวิกฤตหลุดแนวรับ 1,600
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ (21 พ.ย.61) ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงกว่า 500 จุดเมื่อคืน โดยตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง
โดยดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 21,286.81 จุด ลดลง 296.31 จุด, -1.37%
ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,619.82 จุด ลดลง 26.03 จุด, -0.98%
ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 25,496.85 จุด ลดลง 343.49 จุด, -1.33%
ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,698.52 จุด ลดลง 45.47 จุด, -0.47%
ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,057.07 จุด ลดลง 25.51 จุด, -1.22%
ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,010.09 จุด ลดลง 16.90 จุด, -0.56%
ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,694.57 จุด ลดลง 16.14 จุด, -0.94%
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงถูกเทขายอย่างหนัก อันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับข่าวที่ว่า บริษัท แอปเปิล อิงค์ ได้ปรับลดคำสั่งผลิต iPhone ใหม่ทั้ง 3 รุ่น ซึ่งได้แก่ iPhone XR, iPhone XS และ iPhone XS Max ทั้งที่เพิ่งมีการเปิดตัวในเดือนก.ย.
นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังได้รับแรงกดดันหลังจากที่หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานเมื่อวานนี้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลของจีนได้ตรวจพบหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ถึงพฤติกรรมกีดกันการแข่งขันของบริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์, เอสเค ไฮนิกซ์ และไมครอน เทคโนโลยี ซึ่งเป็นผู้ผลิตเมมโมรีชิปรายใหญ่ของสหรัฐ
ด้านบล.เอเอสแอล ประเมินตลาดหุ้นไทยวันนี้มีโอกาสที่จะปรับตัวลงจากแรงกดดันจากปัจจัยต่างชาติเป็นหลัก โดยตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงกังวลกับผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง สอดคล้องกับที่ Goldman Sachs ได้ออกรายงานทิศทางการลงทุนประจำปี 2562
โดยแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มสัดส่วนการถือครองเงินสด และเลือกลงทุนในหุ้น defensive ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มปลอดภัย โดยให้ความเห็นว่าเงินสดจะเป็นสินทรัพย์ที่สามารถแข่งขันกับหุ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นมีความเสี่ยงสูง และให้ผลตอบแทนไม่มากนัก ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และแรงกดดันจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน (สภาพัฒน์รายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 3/61 ออกมาอยู่ที่ 3.3% ต่ากว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 4.2%) ตามตัวเลขการส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัวลงไป จากการกีดกันการค้า ค่าเงินหยวนอ่อนค่า และโศกนาฏกรรมเรือล่มที่ภูเก็ต
นอกจากนี้ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจหดตัว ยังส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์ของน้ำมันโลกปรับตัวลง สวนทางกับกำลังผลิตของกลุ่มประเทศใหญ่ๆ ทั้งสหรัฐฯ และ OPEC+ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยวานนี้ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลงกว่า 6.6% กดดัน Sentiment การลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงาน ขณะเดียวกันดัชนี CBOE VIX ก็ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบเดือน สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนยังไม่มีความมั่นใจที่จะกลับเข้ามาลงทุนในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือความคืบหน้าของการพบกันระหว่างผู้นาสหรัฐฯ และจีนในที่ประชุม G20 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. โดยสัญญาณที่ออกมาจากก่อนหน้ายังคงไม่ชัดเจน และสร้างความกังวลให้กับตลาดมาก
สำหรับกลยุทธ์ปัจจัยพื้นฐานยังคงแนะนำให้นักลงทุนเลือก Selective Buy โดยเน้น 1) กลุ่ม Domestic Play แม้ GDP ไตรมาส 3/61 จะเติบโตในอัตราชะลอตัว แต่มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4/2561 2) กลุ่มที่ได้ประโยชร์จากโครงการ EEC ทั้งผู้รับเหมา วัสดุก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรม 3) สะสมหุ้นพื้นฐานดีบางตัวยัง Laggard อยู่ โดยเลือก AOT, CPALL, PLANB, UTP, SCC, STEC, SEAFCO, AMATA และ WHA
ขณะที่ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินตลาดหุ้นไทยวันนี้กำลังเผชิญแรงขายรอบใหม่ จากปัจจัยลบทั้งในและนอกประเทศ โดยกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้นอกจากชะลอการลงทุน ให้จับตาแนวรับสำคัญทางจิตวิทยาคือ 1,600 จุด ว่าจะรับอยู่หรือไม่ (ต่ำกว่าควรพิจารณาลดพอร์ตลงบ้าง) การเข้าเก็งกำไรยังต้องเน้นเล่นรอบสั้น “ลงซื้อ ขึ้นขาย”
สำหรับหุ้นที่เป็น top picks ในวันนี้ให้น้ำหนักหุ้นบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ CPALL และ BJC ขณะที่ TISCO มองว่าเป็นหุ้นพักเงินที่มี dividend yield สูง (คาดปันผลปีนี้ @4.9)