KTB มองกนง.ขึ้นดอกเบี้ย0.25%ธ.ค.นี้ แนะจับตาเศรษฐกิจจีน หวั่นนำเข้าหดตัวเซ่นสงครามการค้า
KTB มองกนง.จ่อขึ้นดบ. 0.25% ธ.ค.นี้ แนะจับตาเศรษฐกิจจีน หวั่นนำเข้าหดตัวเซ่นสงครามการค้า
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ต่อปี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือนธันวาคมนี้ เนื่องจากตัวเลขจีดีพีที่ออกมาไม่ได้บ่งบอกว่าเศรษฐกิจได้เริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว และคาดว่าธปท.ยังคงให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการทำนโยบายในอนาคต ซึ่งสะท้อนจากการลงคะแนนในการประชุมกนง.ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีคณะกรรมการเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มจาก 2 เสียง เป็น 3 เสียง
ทั้งนี้จากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ว่าเติบโต 3.3% และคาดว่าทั้งปีจะเติบโตราว 4.2% นั้น ในส่วนของ Krungthai Macro Research เห็นว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตไม่เกิน 4.5% และเป็นไปในทิศทางเดียวกับ สศช. หลังจากตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 3 ต่ำกว่าช่วงครึ่งปีแรกค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากตัวเลขภาคการเกษตรติดลบ อันเป็นผลจากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวค่อนข้างสูงตามสภาพอากาศเอื้ออำนวย และเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว
“มองว่าเศรษฐกิจไทยในเชิงคุณภาพยังดีอยู่ โดยการลงทุนภาครัฐและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวดี และการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ดีที่ 8.7% ในเดือนตุลาคม ดังนั้นตัวเลขจีดีพีที่ออกมาจึงไม่ได้สะท้อนว่าเศรษฐกิจชะลอลงอย่างน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด” นายพชรพจน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปจะเริ่มเห็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ในช่วงไตรมาส 4 ถึงครึ่งแรกของปี 2562 และอยากให้จับตาเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง และค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงด้วย ซึ่งจะทำให้จีนนำเข้าสินค้าลดลง โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาไทยส่งออกไปจีนขยายตัวเพียง 3% เท่านั้น ต่ำกว่าส่งออกไปตลาดเอเชียอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ขยายตัวได้ถึง 18.7% และ 21.8% คาดการณ์ว่า ภาคการผลิตของจีนจะอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2562 เป็นอย่างน้อย เพราะมีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะปรับอัตราภาษีนำเข้าจาก 10% เป็น 25% สำหรับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีน แต่หากว่าไม่มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากที่ได้ประกาศไปแล้ว ภาคการผลิตของจีนจะมีสัญญาณกระเตื้องขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562