สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 23 พ.ย. 2561


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดตลาดในแดนลบเมื่อวันศุกร์ (23 พ.ย.) โดยถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ทรุดตัวอย่างต่อเนื่องในวันศุกร์ โดยดิ่งลง 7% หลุดระดับ 51 ดอลลาร์ แตะระดับต่ำสุดของปีนี้ และมีแนวโน้มทำสถิติร่วงลงมากที่สุดในรอบ 1 เดือนนับตั้งแต่ปลายปี 2557 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงซึมซับข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่มีการเปิดเผยเมื่อวันพุธจนส่งผลกระทบต่อการซื้อขายในวันเดียวกัน โดยตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปิดทำการเมื่อวันพฤหัสบดี เนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,285.95 จุด ลดลง 178.74 จุด หรือ -0.73% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,632.56 จุด ลดลง 17.37 จุด หรือ -0.66% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,938.98 จุด ลดลง 33.27 จุด หรือ -0.48%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์(23 พ.ย.) ในขณะที่นักลงทุนต่างจับตาการประชุมของสหภาพยุโรป (EU) ในวันอาทิตย์ที่ 25 พ.ย.ว่า สมาชิก EU จะอนุมัติร่างกรอบปฏิญญาว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) หรือไม่

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นไม่มากนัก เพราะนักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาอ่อนแอกว่าการคาดการณ์ ประกอบกับการที่สัญญาน้ำมันดิบทรุดตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อวันศุกร์

ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 1.41 จุด หรือ 0.40% ปิดที่ 353.98 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,192.69 จุด เพิ่มขึ้น 54.20 จุด หรือ +0.49% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,952.86 จุด ลดลง 7.46 จุด หรือ -0.11% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,946.95 จุด เพิ่มขึ้น 8.82 จุด หรือ +0.18%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อวันศุกร์ (23 พ.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน ในขณะที่นักลงทุนต่างจับตาการประชุมของสหภาพยุโรป (EU) ในวันอาทิตย์ที่ 25 พ.ย.ว่า สมาชิก EU จะอนุมัติร่างกรอบปฏิญญาว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) หรือไม่

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,952.86 จุด ลดลง 7.46 จุด หรือ -0.11%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดตลาดร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ (23 พ.ย.) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งอาจปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในเดือนหน้า

นายซูฮาอิล บิน โมฮัมเหม็ด ฟาราจ ฟาริส อัล มาสโรอี ประธานโอเปก และนายโมฮัมเหม็ด บาร์คินโด เลขาธิการโอเปก กล่าวว่า สมาชิกโอเปกบรรลุฉันทามติที่จะสนับสนุนให้มีการปรับลดการผลิตน้ำมันในการประชุมวันที่ 6 ธ.ค. เพื่อสร้างความสมดุลต่อตลาดน้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 4.21 ดอลลาร์ หรือ 7.7% ปิดที่ 50.42 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 3.8 ดอลลาร์ หรือ 6.1% ปิดที่ 58.8 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (23 พ.ย.) โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และการดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป ซึ่งทำให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง

ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จะลดความน่าดึงดูดของทองคำ โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 4.80 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 1,223.20 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 25.9 เซนต์ หรือ 1.7% ปิดที่ 14.243 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 5.6 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 845.0 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 18.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 1114.50 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (23 พ.ย.) โดยเงินยูโรได้อ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาอ่อนแอกว่าการคาดการณ์

ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1329 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1405 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2808 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2876 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7226 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7253 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 112.88 เยน จากระดับ 112.95 เยน แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9974 ฟรังก์ จากระดับ 0.9943 ฟรังก์ และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3230 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3195 ดอลลาร์แคนาดา

 

Back to top button