SISB ฝ่ามารผจญ
พรุ่งนี้แล้ว บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเทรดวันแรกของหุ้นโรงเรียนแห่งแรกของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทย บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB จะได้รู้เสียทีว่า ผลของการเข้าเทรดวันแรกจะสามารถสร้างปรากฏการณ์อะไรที่น่าจดจำได้บ้าง ดังนี้
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
พรุ่งนี้แล้ว บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเทรดวันแรกของหุ้นโรงเรียนแห่งแรกของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทย บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB จะได้รู้เสียทีว่า ผลของการเข้าเทรดวันแรกจะสามารถสร้างปรากฏการณ์อะไรที่น่าจดจำได้บ้าง ดังนี้
– จะสามารถพลิกและหยุดยั้ง “กระแสหุ้นหลุดจอง” ที่แพร่ระบาดมาในรอบ 2 เดือนนี้ได้หรือไม่กับค่าพี/อี ที่ระดับ 59 เท่า ซึ่งที่ปรึกษาการเงินมือฉมังแห่ง FSS นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ ประกาศ “เอาหัวไอ้เรืองเป็นประกัน” ว่า “ไม่แพง ๆ ๆ ๆ ๆ”
– นักลงทุนในตลาดที่ได้รับจัดสรรหุ้นจองในราคาทำ book building ที่ระดับ 5.20 บาท ยังศรัทธามั่นคงขนาดไหนกับอนาคตของโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ที่มีฉายา “รถติดหน้าโรงเรียนมหาโหด” และหลักสูตร “นานาชาติสไตล์สุดโหดแบบสิงคโปร์” มากน้อยแค่ไหนจนไม่เกิดปรากฏการณ์ “ขายชอร์ตเซล IPO (naked shorting)”
– ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่แอบขายทิ้งหุ้นแบบ “ตีหัวเข้าบ้าน” และสามารถสื่อสารว่าภาพลักษณ์ค่าเทอมมหาโหดนั้นไม่เป็นความจริงเลย
ก่อนถึงวันพรุ่งนี้เช้า คนที่นอนตาหลับยากกว่าใคร คงหนีไม่พ้นนาย ยิว ฮอค โคว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SISB ที่ต้องพบโจทย์ใหม่อันไม่คุ้นเคยมาก่อน หลังจากบุกเบิกสร้างโรงเรียนเครือข่าย “โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์” รวม 5 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และที่เชียงใหม่ ซึ่งเปิดสอนนักเรียน (ส่วนใหญ่เป็นคนไทย) ตั้งแต่ระดับชั้นก่อนประถมศึกษา (เตรียมอนุบาล) จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ว่า ความสำเร็จจากการสร้างภาพลักษณ์ทางบวกด้วยวิธี “ปากต่อปาก” ของผู้ปกครอง เกี่ยวกับมาตรฐานและรูปแบบการเรียนการสอน 3 ภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ จีน และไทย จะแกร่งต่อการทำลายล้างแบบเดียว “ปากต่อปาก” ในราคาหุ้นที่ตลาดเก็งกำไร ในนามของ “ความปรารถนาดีที่เคลือบแฝง” ของมารผจญมากน้อยแค่ไหน
โดยข้อเท็จจริง วิบากกรรมของ SISB เกิดขึ้นหลายเดือนแล้ว นับตั้งแต่เริ่มยื่นไฟลิ่ง ต่อ ก.ล.ต.เพื่อระดมทุนจำนวน 260 ล้านหุ้น วันที่ 22 สิงหาคม 2561 โดยมี บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
การโจมตี SISB แทนที่จะพูดถึง “กติกา” และ “หลักการ” ว่าด้วยคุณสมบัติของการเข้าเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนที่บริษัทสอบผ่านตลอด ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
– หลักการและข้อกฎหมายตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 39/2559 เรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ที่ไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับธุรกิจที่จะเข้าจดทะเบียน เพียงแต่ต้องมีคุณสมบัติครบ (หรือไม่มีข้อต้องห้าม) ดังนี้ 1) ไม่ขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐ 2) ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม 3) ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนโดยรวม หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนโดยรวมไม่ได้รับความเป็นธรรม ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
– บริษัทที่จะขออนุญาตระดมทุนต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม (เช่น ผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจครอบงำ เคยหรืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ ถูกกล่าวโทษ หรือดำเนินคดีจาก ก.ล.ต. หรือหน่วยงานรัฐอื่น)
– ต้องจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ต้องไม่มีการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้น รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลชัดเจนตามที่กำหนด
ประเด็น “จิปาถะ” ที่คนโจมตีเชื่อว่า “ถูกจริต” (แม้จะไม่เป็นความจริงเลย) ในการกล่าวหา SISB ตั้งแต่ต้นจึงเน้นย้ำไปที่
1) หลักสูตรแบบสิงคโปร์ (ซึ่งล่าสุดมีการยอมรับระดับโลกว่าเยี่ยมที่สุด) ทำให้นักเรียนต้องแข่งกันตั้งแต่สองขวบครึ่ง เพราะโรงเรียนในเครือ SISB เน้นวิชาการจริง ๆ (..เรียนโหดเกิน สงสารเด็ก)
2) การเข้าตลาดหุ้น จะทำให้โรงเรียนละเมิดกติกาว่าด้วยค่าเล่าเรียนมหาโหดตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน 2550 ซึ่งข้อนี้เลอะเทอะมากเพราะตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน มาตรา 32 ระบุว่า คณะกรรมการบริหารโรงเรียนต้องมีหน้าที่กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ค่าตอบแทนครูที่สมควรกับความรู้ และค่าใช้จ่ายอื่นรวมถึงการขยายกิจการและผลตอบแทน โดยที่ผลตอบแทนจะต้องไม่เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ซึ่งมี รมว.ศึกษาธิการเป็นประธาน) กำหนด แล้วในมาตรา 33 มีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่คณะกรรมการที่กระทรวงศึกษาพิจารณาเห็นว่า การกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นมีลักษณะค้ากำไรเกินควร หรือผู้บริหารไม่สามารถแสดงได้ว่ามิได้เป็นการค้ากำไรเกินควร คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนก็มีอำนาจสั่งให้ลดได้ตามที่เห็นสมควร หรือถ้าคณะกรรมการฯ ไม่ทำ กระทรวงศึกษาธิการก็สามารถสั่งการโดยตรงข้ามหัวคณะกรรมการฯ ได้ ด้วยข้ออ้างว่าเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่สมควร ซึ่งก็กำหนดไว้ในมาตรา 34
ข้อกฎหมายข้างต้น เท่ากับยอมรับว่า การทำโรงเรียนเอกชน เป็นธุรกิจได้ มีกำไรได้ และมีขาดทุน (ถึงขั้นถูกสั่งปิดได้) แต่กำไรที่เกิดขึ้น จะมากน้อยเพียงใด เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการที่กำกับดูแล
หลังจากฝ่าฟันอคติและเสียงโจมตีที่ผ่านมา จนถึงขั้นขายหุ้นจองไปแล้ว รอเทรดวันแรกพรุ่งนี้เช้า ก็ยังไม่วายมี “มารผจญ” ที่หยิบยกประเด็น “หาเรื่อง” แบบไร้สาระใหม่อีกโดยไม่ทราบเจตนา (ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องดีแน่)
นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เรียกร้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทบทวนนโยบายการอนุญาตให้สถาบันการศึกษาเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะสวนทางกับแนวทางที่รัฐบาลต้องการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน และ หากต่อไปมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาเอกชนทยอยกันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ความเสียหายคือค่าเล่าเรียนจะสูงขึ้นและคนจนจะไม่มีโอกาสมีที่ยืนในสังคม เพราะกิจการที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ล้วนต้องแสวงหากำไรและให้ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นสูงสุด
คำอธิบายและเหตุผลที่บ้องตื้นดังกล่าว แม้จะน่าเวทนาในความรู้ของอดีตรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคการเมืองเก่าแก่ฉายา (เรียกกันเอง) “พรรคแมลงสาบ” แต่การออกมาในจังหวะที่หุ้นกำลังจะเข้าเทรดวันแรกท่ามกลางกระแส “หุ้นหลุดจอง” จึงถือเป็นตัวแปรเชิงลบ ที่ ก.ล.ต. น่าจะต้องสอบถามถึงเจตนาการเรียกร้องดังกล่าวที่ “อาจส่งผลต่อราคาหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ”
ไม่ใช่ปล่อยให้พูดพล่อย ๆ ส่งเดช โดยไม่เคยรับผิดชอบอะไรตามถนัด
พ้นพรุ่งนี้ไปแล้ว หาก SISB สามารถสร้างปรากฏการณ์หยุดยั้งกระแสหุ้นหลุดจองไปได้ พวกมารผจญคงหายหน้าไปอีกนาน