คนดีที่ลอยนวล

ราคาหุ้นเข้าเทรดวันแรกของบริษัทเจ้าของโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) (SISB) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน เปิดตลาดมาก็หลุดจองตั้งแต่นาทีแรก และล่าสุดวานนี้ตอนปิดตลาด ก็ยังมีอาการ "เมาหมัด" ต่อเหลือแค่ 4.42 บาท 


พลวัตปี 2018  : วิษณุ โชลิตกุล 

ราคาหุ้นเข้าเทรดวันแรกของบริษัทเจ้าของโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) (SISB) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน เปิดตลาดมาก็หลุดจองตั้งแต่นาทีแรก และล่าสุดวานนี้ตอนปิดตลาด ก็ยังมีอาการ “เมาหมัด” ต่อเหลือแค่ 4.42 บาท

ราคาคุยก่อนเทรดที่ว่าราคาจอง 5.20 บาท เกิดจากการทำบุ๊ก บิลดิ้ง จึงไร้ค่าอย่างสิ้นเชิง

ส่วนหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของการที่ราคา SISB หลุดจอง เกิดจากนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ลุกขึ้นมาให้ข่าวว่าจะไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีการระงับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯของ SISB ก่อนหน้าที่หุ้นจะเข้าเทรดเพียงแค่ 2 วัน ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายเข้าทาง “ขาทุบ”

แน่นอนว่า การกระทำผิดที่ ผิดเวลา และผิดเจตนา ของนายจุติ อาจจะยากต่อการพิสูจน์ว่า มีเจตนา “ชี้นำราคาขาลง” แต่ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายไปเรียบร้อยแล้ว

คำอธิบายที่ถูกต้องตามหลังมา ถือว่าช้าเกินไปเสมอ แม้จะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

แรกสุด ก.ล.ต. ขอชี้แจงกรณี SISB ดังนี้

ก.ล.ต. พร้อมที่จะให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลปกครอง

ก่อนการพิจารณาอนุญาต IPO ก.ล.ต.ได้มีการหารือและส่งหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาของโรงเรียนเอกชน (lead regulator) ว่า SISB สามารถดำเนินการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ได้หรือไม่ และในวันที่ 24 ตุลาคม 2561 สช. มีหนังสือตอบ ก.ล.ต. ว่า ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการดำเนินการดังกล่าว  อีกทั้งในการหารือ สช. ก็มิได้เคยปรากฏว่า สช. มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่ SISB จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์แต่อย่างใด

– ก.ล.ต.ได้พิจารณาคุณสมบัติและพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของ SISB ตามกฎเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แล้ว พบว่า SISB มีคุณสมบัติตามที่กำหนด จึงไม่มีเหตุที่ ก.ล.ต.จะปฏิเสธคำขอของ SISB ได้  ก.ล.ต.จึงได้มีคำสั่งอนุญาตไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 และต่อมา SISB ได้เสนอขายหลักทรัพย์เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561

– แนวทางในการพิจารณา IPO ของ ก.ล.ต. นั้น จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอระดมทุนตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเน้นความโปร่งใสและดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอต่อผู้ลงทุน ซึ่งในกรณีที่มีข้อสังเกตว่า สถาบันการศึกษาไม่ควรมุ่งหวังผลกำไรเป็นหลักนั้น ก.ล.ต.ได้มีการสอบถามประเด็นดังกล่าว ซึ่ง SISB ได้ชี้แจงและเปิดเผยในหนังสือชี้ชวนว่า SISB มีวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการพัฒนาการศึกษาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับระดับสากล โดยไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุด และมีการระบุถึงบทบัญญัติของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554  ซึ่งกำหนดอำนาจของ สช. ว่า ในกรณีที่เห็นว่าค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นที่โรงเรียนกำหนดมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควร หรือเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร สช. มีอำนาจสั่งให้ลดลงตามที่เห็นสมควรได้

คำชี้แจงข้างต้นของ ก.ล.ต. ช่วยให้หน่วยงานนี้พ้นจากเสียงวิจารณ์ไปแค่นั้น ไม่สามารถช่วยให้ราคาหุ้นของ SISB ฟื้นคืนได้ นักลงทุนที่ถือหุ้นจอง คงต้องช่วยเหลือตัวเองไปตามระเบียบกับ “ค่าโง่”

ส่วนคำอธิบายชนิด “จอมยุทธ์ที่แท้” ของ นายบรรยง พงษ์พานิช ในหัวข้อว่า “ค้านผิดเรื่อง ค้านผิดหลัก ค้านผิดจังหวะ ทำไมจะต้องซ้อมเป็นฝ่ายค้านตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งนะครับ” ดูจะถูกใจท่านผู้ชมมากมาย เหตุผลในรายละเอียดหาอ่านได้จากhttps://www.facebook.com/100005799254567/posts/998054800397819

แต่ที่นี้ขอตัดทอนย่นย่อมาสั้น ๆ ดังนี้

– โรงเรียนเอกชนนานาชาติที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี (เหมือนกับทุก ๆ โรงเรียน) ได้รับอนุญาตจากรัฐให้เอกชนประกอบธุรกิจได้ ก็แปลว่าส่งเสริมให้มีการลงทุน อนุญาตให้ค้ากำไร (ไม่เคยชักชวนหรือบังคับว่าห้ามค้ากำไร ไม่เคยระบุว่าต้องเป็นมูลนิธิหรือกิจการเพื่อสังคม) และการยกเว้นภาษีให้ ก็เพราะเห็นว่าเป็นกิจการที่ควรส่งเสริมเป็นพิเศษให้มีต้นทุนต่ำและให้มีการแข่งขันกันเต็มที่ เพราะต้องแข่งกับโรงเรียนรัฐที่รัฐอุดหนุนเต็มที่โดยใช้ภาษีเข้าช่วย

– อุตสาหกรรมโรงเรียนนานาชาติมีขึ้น เพื่อสนองความต้องการของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการคุณภาพสูงกว่าโรงเรียนรัฐและหลักสูตรกระทรวง ตั้งแต่ชาวต่างชาติ คนไทยฐานะดีมาก และคนไทยที่ฐานะดีขึ้น แต่ก็ต้องแข่งขันทั้งคุณภาพและราคา

– เอกชนนั้นย่อมหากำไร ไม่ว่าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯหรือไม่ แต่การอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ย่อมทำให้ต้องหากำไรอย่างโปร่งใสภายใต้มาตรฐานบรรษัทภิบาลมากขึ้น และทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ (ไม่งั้นก็จะมีแต่นายธนาคาร หรือบริษัทประกัน เท่านั้น) ทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้น

– การสนับสนุนให้โรงเรียนที่มีกำไรเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเยอะ จะทำให้การศึกษาถูกปฏิรูปโดยกลไกตลาด ไปอยู่ในมือเอกชนให้มากกว่ารัฐ (เหมือนทุกประเทศที่มีมาตรฐานการศึกษาสูง) ส่วนคนด้อยโอกาสก็จะเพิ่มโอกาสที่จะได้เรียนโรงเรียนรัฐที่คุณภาพดีขึ้น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำโดยใช้กลไกตลาดนำ และรัฐเพียงแต่ส่งเสริมโดยให้สิทธิทางภาษีทั้งระบบ และคอยควบคุมคุณภาพ

– จะเห็นได้ว่า เรื่องยกเว้นภาษี กับเรื่องเข้าตลาดเพื่อหาแหล่งทุนที่มีประสิทธิภาพนั้น มันคนละเรื่องกันเลย เป็นการหลงประเด็นที่ไปเรียกร้องว่า โรงเรียนไหนจะเข้าตลาดต้องยกเว้นสิทธิ์เรื่องภาษี หรือที่แย่กว่านั้นก็เช่น โรงเรียนไหนไม่สอนตามหลักสูตรกระทรวงไม่ได้รับยกเว้นภาษี

– โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชนแพง ๆ ดี ๆ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจริงในระยะสั้น แต่มันเป็นความเหลื่อมล้ำขึ้นข้างบน ที่ช่วยยกระดับคุณภาพโดยรวม ดีกว่าฉุดให้นักเรียนโง่พอ ๆ กันทั้งประเทศ และดีกว่าการตั้งกองทุนลดความเหลื่อมล้ำ (เพิ่งตั้งแต่ไม่ให้งบประมาณ)

– เลขาฯพรรคที่ประกาศตัวว่าเป็นพรรค “เสรีนิยม” ลุกขึ้นมาค้านถึงขั้นฟ้องศาล ถือว่า ค้านผิดเรื่อง ค้านผิดหลัก และค้านผิดจังหวะ

คำอธิบายที่ตรงประเด็นเช่นนี้ มาช้าเกินไป เพราะป่านนี้ ผู้ร้ายที่ “ปล้นกลางแดด” ก็ลอยนวลและบรรลุเป้าหมายไปแล้ว 

นี่คือ ประเทศกูมี

 

Back to top button