“แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้” ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 1,818 ล้านหุ้น หวังนำเงินขยายธุรกิจโต
"แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้" ดำเนินธุรกิจถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 1,818 ล้านหุ้น เล็งเทรด SET ระดมทุนขยายธุรกิจ-คืนเงินกู้ โดยมีบล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) ยื่นแบบแสดงข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 30 พ.ย.61 เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 1,818 ล้านหุ้น และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมีบล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
โดย แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ และธุรกิจอื่นที่สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้เงินระดมทุนครั้งนี้ เพื่อลงทุนโครงการของกลุ่มบริษัทที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและรอการพัฒนา รวมถึงชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของกลุ่ม
ทั้งนี้ บริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 1,818 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 16.56% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังเสนอขายหุ้น IPO โดยภายหลังการขายหุ้น IPO จะมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 10,975,999,960 หุ้นจากเดิม 9,157,999,960 หุ้น
ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO แล้วสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท จะประกอบด้วย กลุ่มทรงเมตตา ถือหุ้นรวม 72.5% จากเดิม 86.9%, ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ถือหุ้น 3.5% จากเดิม 4.1%, บมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) ถือหุ้น 1.8% จากเดิม 2.2%, โอปุส เอนเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด ถือหุ้น 0.9% จากเดิม 1.1%, นายอิศเรศ จิราธิวัฒน์ ถือหุ้น 0.7% จากเดิม 0.8%, นางชไมมาศ ชาติเมธากุล ถือหุ้น 0.6% จากเดิม 0.8%, นางวัลยา ดำเนินชาญวนิชย์ ถือหุ้น 0.5% จากเดิม 0.7%, นายวริศ บูลกุล ถือหุ้น 0.5% จากเดิม 0.5%, นางสาวอัจจิมา สุวรรณจินดา ถือหุ้น 0.4% จากเดิม 0.5% และนายวิศิษฎ์ พิทักษ์สิทธิ์ ถือหุ้น 0.3% จากเดิม 0.4%
อย่างไรก็ตาม บริษัทถือหุ้นในบริษัทย่อยรวม 12 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทย่อยโดยตรง 1 บริษัท และบริษัทย่อยโดยอ้อม 11 บริษัท โดย ณ วันที่ยื่นไฟลิ่ง มีโครงการโรงไฟฟ้า ซึ่งนับรวมโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา แบ่งเป็น โครงการที่ COD จำนวน 11 โครงการ กำลังผลิตรวม 209.45 เมกะวัตต์ (MW) ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล (VSPP-Biomass) จำนวน 9 โครงการ กำลังผลิตรวม 89.1 MW ,โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (SPP-Cogeneration) จำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิต 114.35 MW และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน (VSPP-MSW) จำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิต 6 MW
รวมถึงโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวน 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 95.73 MW ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560 (โครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid) จำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 93 MW, โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โครงการ Solar Rooftop) จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 2.73 MW
อีกทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา รวมจำนวน 11 โครงการ กำลังการผลิตรวม 104.5 MW ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน (VSPP-MSW) ในจ.กระบี่ จำนวน 1 โครงการ ขนาด 5.5 MW ปัจจุบันได้รับคัดเลือกให้ทำสัญญาจ้างกำจัดขยะจากเทศบาลเมืองกระบี่แล้ว โดยอยู่ระหว่างการยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า, โครงการที่ได้รับการตอบตกลงเพื่อคืนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และอยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขของสัญญาที่จะได้รับคืน จำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิต 9.9 MW และโครงการที่อยู่ระหว่างการขอคืนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการหรือศาลปกครองชั้นต้น จำนวน 9 โครงการ กำลังการผลิต 89.1 MW
ทั้งนี้ บริษัทมีแหล่งรายได้ที่สำคัญ ได้แก่ การจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ., การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และลูกค้าอุตสาหกรรม การรับจ้างกำจัดขยะโดยการผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า และการจำหน่ายไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ
สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 58-60 บริษัทมีรายได้รวม 2,095.65 ล้านบาท , 2,150.63 ล้านบาท และ 4,255.72 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ในปี 58 มีผลขาดทุนสุทธิ 7.59 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจำนวนมาก รวมถึงค่าปรับจากการชำระหนี้ก่อนกำหนดเพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้เดิม และค่าด้อยค่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ส่วนปี 59 มีกำไรสุทธิ 134.03 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นราคาขายไฟฟ้าจากแบบ Adder เป็นแบบ FiT ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.59 สำหรับปี 60 บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 424.92 ล้านบาท เนื่องจากการเริ่ม COD โรงไฟฟ้าใหม่ และการรับรู้รายได้ค่าปรับจากการส่งมอบเชื้อเพลิงชีวมวลได้ไม่ครบตามที่กำหนดในสัญญา ตลอดจนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 61 มีกำไรสุทธิ 438.04 ล้านบาท และมีรายได้รวม 3,584.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 60 ที่มีกำไรสุทธิ 322.81 ล้านบาท และมีรายได้รวม 3,085.89 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายในการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมายการขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 67 อย่างไรก็ตาม การขยายการลงทุนของกลุ่มบริษัทยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจ สภาวะอุตสาหกรรมและการแข่งขัน การเมือง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อมทางกฎหมายของประเทศ และ/หรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายของบริษัท