กสทช.ตั้งทีมบริหารแผน-ร่างหลักเกณฑ์เรียกคืนคลื่น จ่อบังคับใช้ใน 30 วัน
กสทช.ตั้งทีมบริหารแผน-ร่างหลักเกณฑ์เรียกคืนคลื่น จ่อบังคับใช้ใน 30 วัน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ตามที่ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา
โดยล่าสุด วันนี้ (7 ธ.ค 2561) สำนักงาน กสทช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เพื่อจะทำหน้าที่จัดทำรายงานวิเคราะห์การเรียกคืนคลื่นความถี่ ว่าจะเรียกคืนคลื่นความถี่ย่านไหน เป็นจำนวนเท่าไหร่ จัดทำแผนเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ สนับสนุนการศึกษาประเมินมูลค่าคลื่น ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีพล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีนายพลเดช ปิ่นประทีป กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ ดีอี) เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน ระยะเวลาในการดำเนินงาน 30 วัน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการเรียกคืนคลื่นความถี่ดังกล่าวต่อไป
“การดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการครั้งแรกตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เพื่อนำเอาคลื่นความถี่อันเป็นสมบัติของชาติมาให้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด” นายฐากร กล่าว
อนึ่ง คาดว่าคลื่นความถี่ที่มีจะเรียกคืนเป็นคลื่นแรก คือ คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ปัจจุบัน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ถือครอง 190 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมีการใช้งานไม่คุ้มค่า และทาง อสมท เคยทำหนังสือถึง กสทช.เพื่อขอคืน และขอรับเงินชดเชยจากการคืนคลื่นด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ต้องประเมินมูลค่าคลื่นทั้งหมด แล้วนำเสนอ อสมท หาก อสมท พอใจ ไม่ยื่นอุทธรณ์ ระยะเวลาการคืนคลื่นอาจเร็วกกว่า 270 วัน หรือใช้เวลาไม่เกิน 150 วัน ส่วนคลื่นที่จะเรียกคืนถัดไปคือคลื่น 3400 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 200 เมกะเฮิรตซ์ ปัจจุบันถือครองโดย บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) คลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์ ถือครองโดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการเรียกคืนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์
อีกทั้ง คลื่นความถี่ต่อไปที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายคือ คลื่นความถี่ในย่าน 26-28 GHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ในย่านสูงและยังว่างอยู่ มีอยู่ทั้งสิ้น 3GHz โดยคลื่นความถี่นี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่กสทช. จะจัดสรรให้โอเปอเรเตอร์นำคลื่นความถี่ในย่านนี้นำไปใช้ในระบบ 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต