TRC รับทรัพย์ 267 ลบ.หลังคว้างาน “กฟน.” ลุยสร้างบ่อพัก-ท่อร้อยสายไฟใต้ดินบนถ.พระราม 3

TRC รับทรัพย์ 267 ลบ.หลังคว้างาน “กฟน.” ลุยสร้างบ่อพัก-ท่อร้อยสายไฟใต้ดินบนถ.พระราม 3


บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 บริษัท สหการวิศวกร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทได้ลงนามในสัญญาจ้างโครงการ งานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินในถนนพระราม 3 ร่วมกับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ของกรุงเทพมหานคร จากการไฟฟ้า นครหลวง มูลค่าโครงการ 267.29 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 792 วัน

นอกจากนี้ นางสาวภาวิตา ลี้สกุล ผู้อำนวยการสายงานบริหารองค์กรของ TRC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 62 จะเติบโตมาที่ระดับ 3.5-3.8 พันล้านบาท จากปีนี้คาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 2.4-2.6 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน โดยรายได้ที่เติบโตขึ้นเป็นไปตามการรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) ที่ปัจจุบันมีอยู่ 5.8 พันล้านบาท

ทั้งนี้ รายได้ดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมกับงานประมูลใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างรอยื่นประมูลงานและรอผลประมูลงาน มูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท เช่น งานนำสายไฟฟ้าลงดิน ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 3 เส้นทาง พระราม 4-อโศก-รัชดา มูลค่า 5-5.3 พันล้านบาท คาดหวังได้รับงานจำนวน 2 เส้นทาง มูลค่า 2.6 พันล้านบาท และน่าจะรู้ผลได้ในไตรมาส 4/61, งานก่อสร้างโรงงานผลิตยา ขององค์การเภสัชกรรม มูลค่า 5 พันล้านบาท หวังได้รับงาน 50% คาดรู้ผลต้นปีหน้า

รวมถึงงานวางระบบจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ (ASRS) ให้กับ Amazon Coffee ของ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือPTTOR มูลค่า 600-700 ล้านบาท คาดรู้ผลปี 62 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม หากนับรวมกับงานที่จะได้รับเข้ามาใหม่ บริษัทฯ คาดรายได้ในปี 62 จะเติบโตเป็น 4.5 พันล้านบาท

พร้อมกันนี้บริษัทฯ ได้ปรับแผนการดำเนินงาน 3 ปี โดยจะมุ่งเน้นการเป็นโซลูชั่นที่มีนวัตกรรม เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่บริษัทมีมาช่วยในการออกแบบและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานต่าง ๆ ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทย่อย บริษัท สหการวิศวกร จำกัด (SKW) ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท ออโต้ โมชั่น เวิร์ค จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อเข้ารับงานก่อสร้างคลังสินค้าและระบบจัดเก็บและเบิกจ่ายสินค้าแบบอัตโนมัติ หรือ Automated Storage Retrieval System (AS/RS)

โดยได้เข้ารับงานโครงการแรก คือ โครงการจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าผลิตภัณฑ์หล่อลื่นจาก PTTOR จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่างาน 600 ล้านบาท

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการในธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AS/RS ในไทยเพิ่มเติมอีก เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น คาดว่าจะสามารถสรุปความชัดเจนได้ในไตรมาส 1/62 ซึ่งเบื้องต้นอาจเป็นการเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 80-90% และคาดใช้เงินลงทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท

“ต่อจากนี้ไปเราจะมุ่งไปสู่การเป็นโซลูชั่นนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อเพิ่มมาร์จิ้นให้กับบริษัทฯ  โดยวางเป้าหมายในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทฯ จะต้องติด TOP10 ของหมวดรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะมีรายได้เฉลี่ยราว 5 พันล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิจะต้องติดอันดับ 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งจะต้องมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 10-11%”

นางสาวภาวิตา กล่าวเพิ่มว่า สำหรับการก่อสร้างเหมืองโปแตช ที่ได้เลื่อนออกไปเป็นปี 62 ขณะนี้ทางกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้บริษัทลูก หรือ รัฐวิสาหกิจ เข้ามาถือหุ้นแทน เพื่อความคล่องตัวในการลงทุน โดยกระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 20% คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้กลางปีหน้า และหลังจากนั้นจะมีการระดมทุน ซึ่งคาดจะเห็นการลงทุนได้ภายในปี 62 และน่าจะมีเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

Back to top button