พาราสาวะถี

เพิ่งผ่านพ้นวันรัฐธรรมนูญมาไม่ถึง 24 ชั่วโมง แต่คำถามสำหรับประเทศไทยวันนี้คือ ระหว่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยองคาพยพของเผด็จการกับคำสั่งของหัวหน้าเผด็จการผ่านมาตรา 44 อย่างไหนยิ่งใหญ่กว่ากัน และเส้นทางเดินบนถนนประชาธิปไตยที่จะไปสู่การเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า (ที่เคาะกันแน่นอนแล้ว) จะเป็นอย่างไร


อรชุน

เพิ่งผ่านพ้นวันรัฐธรรมนูญมาไม่ถึง 24 ชั่วโมง แต่คำถามสำหรับประเทศไทยวันนี้คือ ระหว่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยองคาพยพของเผด็จการกับคำสั่งของหัวหน้าเผด็จการผ่านมาตรา 44 อย่างไหนยิ่งใหญ่กว่ากัน และเส้นทางเดินบนถนนประชาธิปไตยที่จะไปสู่การเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า (ที่เคาะกันแน่นอนแล้ว) จะเป็นอย่างไร

ฟังจากการอธิบายของ วิษณุ เครืองาม บนเวทีหารือระหว่างแม่น้ำ 5 สายกับพรรคการเมืองเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทุกอย่างมีการวางแผนล็อกเวลาไว้หมดแล้ว แม้จะอ้างว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกฎหมาย แต่จะเห็นได้ว่า กลไกที่จะนำพาพรรคการเมืองไปสู่การเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์คือการหาเสียงนั้น ถูกวางไว้หลังวันที่ 2 มกราคมปีหน้า

หมายความว่าพรรคการเมืองจะมีเวลาหาเสียงประมาณ 50 วัน ทันไหม ถ้าใช้ตรรกะที่ฝ่ายเผด็จการยกเอากรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นบรรทัดฐานโดยอ้างว่ามีเวลาหาเสียงแค่ 49 วันยังได้เป็นนายกฯ มาแล้ว คำตอบของปุจฉาดังว่าคือ ต้องพร้อมทุกพรรคการเมือง ทั้งที่ความจริงบริบททางการเมือง ณ เวลานั้นกับวันนี้เทียบเคียงกันไม่ได้อย่างสิ้นเชิง

ต้องไม่ลืมว่าพรรคการเมืองถูกจับมัดมือมัดเท้ามาตลอดเวลากว่า 4 ปี มีแค่กลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองบางพวกเท่านั้นที่ขยับทำอะไรก็ได้ และช่วงชิงความได้เปรียบมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นชื่อพรรคที่ใช้นโยบายสำคัญของรัฐบาลเผด็จการเป็นตัวชูโรง มิหนำซ้ำยังประกาศกันปาว ๆ ในช่วงนี้จะเอานโยบายบางส่วนของรัฐบาลนี้ไปเป็นนโยบายของพรรค

จะว่าไปแล้วก็อาจเรียกได้ว่าทั้งหมดนั่นแหละ โดยเฉพาะโครงการบัตรคนจน เช่นนี้จึงถือเป็นความได้เปรียบอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ยิ่งท่านผู้นำ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าเป็นนักฟุตบอลก็ต้องบอกว่าลงทุกสนามมีเตะติดดาบตลอด ย้อนกลับไปดูคำปราศรัยเวลาพบประชาชน จะเห็นท่วงทำนองในการแฝงการหาเสียงให้กับตัวเองและคณะเผด็จการรวมไปถึงนอมินีที่เป็นพรรคการเมืองอยู่ตลอดเวลา

การเทียบเคียงกันไม่ได้กับเวลาที่ใช้ของอดีตนายกฯ หญิงนั้น เป็นเพราะเวลานั้นเพื่อไทยอยู่ในสถานะพรรคฝ่ายค้าน อันเนื่องมาจากถูกงูเห่าภูมิใจไทยแปรพักตร์ไปร่วมตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ช่วงจังหวะขณะนั้นก็พบว่าผู้มีอำนาจจัดวางกลไกทุกอย่างไว้เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคนายใหญ่ได้

ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือ แม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่พรรคการเมืองทุกพรรคมีเวลาเตรียมตัวอย่างเต็มที่ มีความพร้อมทั้งในแง่ของการพบปะประชาชน เตรียมนโยบาย ต่างจากยุคสมัยนี้ที่จะขยับตัวแต่ละทีต้องระวังตัวแจว่าจะทำผิดกฎหมายที่เนติบริกรของเผด็จการวางกับดักไว้หรือไม่ เมื่อเป็นแบบนี้จะมาบอกว่าเวลาที่เตรียมไว้ให้เพียงพอ มันจึงดูเป็นการแสดงความใจแคบของผู้ถือครองอำนาจเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่านักการเมืองและพรรคการเมือง เมื่อถึงเวลาสู้ก็ต้องลุยกันอย่างเต็มที่ แต่ที่น่าห่วงกว่าใครเพื่อนก็คือพรรคเพื่อไทย กับปมถูกคนชื่อทักษิณครอบงำ ที่ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีหลักฐานหรือวางเป้าหมายเพื่อจัดการไว้อย่างไร ยิ่งล่าสุด อานนท์ แสนน่าน ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงจังหวัดอุดรธานี ออกมาบอกว่าได้รับสัญญาณจากนายใหญ่ให้กาเลือกพรรคเพื่อไทยและไทยรักษาชาติ ยิ่งไปใหญ่

เจตนาของคนที่ให้ข่าวไม่รู้ว่าสร้างราคาค่างวดให้กับตัวเองหรือเป็นความเดียงสาทางการเมือง แต่ก็ไม่น่าจะใช่ทั้งสองอย่าง เพราะน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่าสองพรรคที่เอ่ยถึงจะต้องตกเป็นเป้าเล่นงานจากผู้มีอำนาจแน่นอน หากป่าวประกาศกันโต้ง ๆ แบบนี้ จึงเหมือนเป็นความหวังดีประสงค์ร้ายยังไงชอบกล แต่หากศึกษากันอย่างถ่องแท้แล้ว จะพบว่าบรรดาแกนนำเสื้อแดงในแต่ละจังหวัดนั้น มักจะสร้างมูลค่าให้กับตัวเองและชอบโชว์ความใกล้ชิดกับนายใหญ่เป็นเรื่องปกติ

งานนี้ร้อนถึง จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ต้องออกมาเบรก พร้อมกับยกคาถา อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้ มาเตือนสติบรรดาแนวร่วมทั้งหลาย แต่ก็พูดยากเพราะตัวเองก็เป็นกองเชียร์พรรคเพื่อชาติ ดังนั้นจึงตกอยู่ในภาวะน้ำท่วมปาก นี่อาจเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของแนวร่วมฝ่ายทักษิณที่มีการแยกตัวกันกระจัดกระจาย จนไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลาลงคะแนนจะต้องหย่อนบัตรเลือกใคร พวกไหนดี

มีประเด็นน่าสนใจจากวงถก คสช. กับพรรคการเมือง คือ การพิมพ์โลโก้และชื่อพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง ฝ่าย กกต.บอกว่ายินดีรับสิ่งที่พรรคการเมืองร้องขอไปพิจารณา แต่ท่านผู้นำกลับบอกว่าประชาชนจะเลือกเพราะรู้จักคนและพรรค ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของบัตร ฝ่ายที่มีหน้าที่พร้อมจะกลับไปทบทวน แต่คนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดส่งสัญญาณอย่างนี้ น่าจะพอเดากันได้แล้วว่าบทสรุปจะออกมาอย่างไร

ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไม กกต.จึงออกลูกยึกยักแต่กรณีนี้ เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัครพรรคเดียวกันแต่อยู่ต่างเขต จะได้หมายเลขประจำตัวไม่เหมือนกัน ดังนั้น โลโก้และชื่อพรรคถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะการเลือกตั้ง พ.ศ.นี้ ประชาชนเข้าไม่ได้ยึดอยู่ที่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังพิจารณาความสามารถและนโยบายของพรรคการเมืองในการแก้ปัญหามาประกอบการตัดสินใจด้วย

เมื่อเจตนาที่จะไม่พิมพ์โลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้ง ด้วยข้ออ้างที่ทั้งอดีต กกต. และนักวิชาการต่างเห็นตรงกันว่า ฟังไม่ขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุผลขององค์กรอิสระที่จัดการเลือกตั้งมาอย่างยาวนาน แต่พอได้เห็นการใช้มาตรา 44 เป็นหลักยึดในการแบ่งเขตเลือกตั้งจนถูกครหาว่ามี “หน้าตาอัปลักษณ์” ในหลายเขต ก็เข้าใจได้ทันทีว่า กรณีนี้คงไม่ต่างกัน หากจะมีใครเรียก “บัตรเลือกตั้งอัปยศ” ก็อย่าไปโกรธเขา

จังหวะก้าวของ กกต. ชุด 7 เสือที่ยังรอเติมให้เต็มอีก 2 ราย ถือเป็นเรื่องน่าศึกษา ถ้านับมาถึงวันนี้ สิ่งที่ประชาชนสัมผัสถือว่าความน่าเชื่อถืออยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เพราะดูเหมือนว่ากระบวนการการทำงานจะโน้มเอียงไปในลักษณะยอมอยู่ใต้โอวาทของเผด็จการผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากเป็นเช่นนั้น การที่บอกว่าองค์กรแห่งนี้จะยึดหลักธรรมาภิบาล ผู้ปฏิบัติงานยึดหลักสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม รู้รักสามัคคี และภักดีต่อองค์กร ประชาชนน่าจะยังคงมีเครื่องหมายคำถามอยู่อีกมากทีเดียว

Back to top button