อนาคตอันแสนสั้นพลวัต2015
เสาร์ที่ผ่านมา เจอโดยบังเอิญกับแหล่งข่าวเก่า ปัจจุบันเป็นผู้จัดการกองทุน ของบลจ.แห่งหนึ่ง ก็เลยนั่งสนทนากันพักหนึ่ง ได้ความรู้เพิ่มเติมมาเยอะพอสมควร
เสาร์ที่ผ่านมา เจอโดยบังเอิญกับแหล่งข่าวเก่า ปัจจุบันเป็นผู้จัดการกองทุน ของบลจ.แห่งหนึ่ง ก็เลยนั่งสนทนากันพักหนึ่ง ได้ความรู้เพิ่มเติมมาเยอะพอสมควร
เรื่องหนึ่งที่เป็นประโยชน์พอสมควร คือคำถามว่า หนึ่งเดือนมานี้ กองทุนหุ้นทั้งหลายหันมาเล่นสั้นกันมากขึ้น อย่างผิดสังเกต เป็นกลยุทธ์แห่งยุคสมัยหรือชั่วคราวกันแน่
คำตอบคือน่าจะเป็นกลยุทธ์หลักของกองทุนหุ้นที่ลงทุนเฉพาะในตลาดหุ้นไทยไปตลอดจนถึงสิ้นปีนี้ หรือปีหน้า
เหตุผลก็เพราะว่า ไม่สามารถมองเห็นทิศทางขาขึ้นของตลาดหุ้นปีนี้ในภาพรวมได้อย่างมั่นใจเอาเสียเลย ไม่ว่าจะพิจารณาจากปัจจัยภายในหรือภายนอก
ปัจจัยภายนอก การฟื้นตัวของสหรัฐไม่ได้เร็วมาก แต่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่อง ทำให้ค่าแรงและตัวเลขการจ้างงานดีขึ้นเรื่อย กำลังซื้อที่แข็งแกร่งจะกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่ม จนกระทั่งเฟดต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งที่ไม่เต็มใจ ส่วนจะขึ้นมากน้อยไม่ใช่ประเด็น เพราะเท่ากับส่งสัญญาณชัดเจนว่า หมดยุคกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงิน และค่าดอลลาร์ต่ำอีกต่อไป
ส่วนยุโรป ผลสะเทือนของวิกฤตหนี้กรีซ จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวทางของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป และทิศทางของค่าเงินยูโร ที่จะตามมาด้วยความอลหม่านหลายยกทีเดียว ส่งผลต่อตลาดหุ้นโลกเป็นระยะๆ
ทางด้านเอเชีย ญี่ปุ่นกำลังใช้เวลาเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันสำหรับ “ยุคหลังอุตสาหกรรม” ที่ยังไม่จบ จึงทำให้มีการปรับทิศทางที่จะต้องทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปั่นป่วน
ส่วนจีนและอินเดียนั้น การเปลี่ยนผ่านจากชาติที่เติบโตโดดเด่นใน 1 ทศวรรษนี้ ทำให้เกิดความจำเป็นต้องปรับสมดุลอีกหลายรอบ ซึ่งตลาดหุ้นจะได้รับผลดีและร้ายสลับกันอย่างเลี่ยงไม่พ้น
ปัจจัยภายนอกที่มีความเสี่ยงสูงแทรกซึม สั่นคลอนต่อบรรยากาศการลงทุนเป็นช่วงๆ ยากจะทำให้มั่นใจว่าการลงทุนระยะยาวจะดีกว่าการลงทุนระยะสั้น
สำหรับปัจจัยในประเทศ รัฐบาลชุดนี้ ไม่มีทางจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังด้วยการสร้างสาธารณูปโภคได้ เป็นเวลาอีกหลายปี เพียงเพราะคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเรื่องเงินกู้ทำรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลเก่า ที่บอกชัดว่า การก่อหนี้ระยะยาว จะต้องทำภายใต้กฎหมายงบประมาณเท่านั้น ซึ่งผิดหลักหนี้สาธารณะเพื่ออนาคตในยุคปัจจุบันอย่างรุนแรง
เขาระบุว่า ตามหลักการสร้างสาธารณูปโภค ต้องเป็นการก่อหนี้ระยะยาว (long-term public financing) เพราะกินเวลานานหลายปีมากกว่าจะเสร็จโครงการ ดังนั้น การก่อหนี้ด้วยเงินนอกงบประมาณจึงเป็นเรื่องปกติของรัฐบาลที่ต้องลงทุนเพื่ออนาคต เป็นเรื่องปกติ แต่เมืองไทยกลับเห็นเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะความเกลียดชังทักษิณ ชินวัตร และพลพรรค
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวแทนของความผิดพลาดนี้ เพราะการระบุว่า ต้องเอาการก่อหนี้ระยะยาวนี้ใส่ไปในงบประมาณแต่ละปีเพื่อควบคุมหนี้สาธารณะ ผลลัพธ์คือการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจประเทศที่ผิดฝาผิดตัว เพราะงบประมาณประเทศนั้นเป็นระบบก่อหนี้ระยะสั้นปีต่อปี (short-term public financing)
ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการเอาเรื่องก่อหนี้ระยะยาว มาปนกับระยะสั้นมั่วไปหมด แม้จะอ้างว่าทำด้วยเจตนาดี แต่ผลลัพธ์จะเป็นตรงกันข้าม เข้าข่าย “เจตนาดี ประสงค์ร้าย”
เขาระบุว่าการปล่อยให้นักกฎหมายซึ่ง อัลวิน ท็อฟเลอร์ ระบุว่าเป็นคนกลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดขั้วในบรรดาสถาบันทั้งหมดของสังคมทุกแห่ง มากำหนดกติกาและทิศทางของแนวทางเศรษฐกิจเช่นที่กระทำโดยศาลรัฐธรรมนูญไทยตั้งกติกาเช่นนี้ จะทำให้เมกะโปรเจ็กต์ทั้งหลายของรัฐบาลไทยรวมทั้งรัฐบาลปัจจุบัน ไม่สามารถกระทำได้เลย ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติมา และจะทำไม่ได้เลย จนกว่าจะมีการเปลี่ยนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเสีย ซึ่งไม่ง่ายเลย ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้
ตัวอย่างที่เห็นง่ายสุด และน่าเวทนาที่สุด คือ การทำโครงการแก้น้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท ที่ล่าสุดสิ้นท่าจนต้องทำเรื่องขอกู้เงิน กสทช. 1.5 หมื่นล้านบาท ก็เป็นผลพวงของศาลรัฐธรรมนูญที่มั่วๆ และไม่ยอมเข้าใจธรรมชาติของการก่อหนี้สาธารณะนั่นเอง
ผมถามเขาไปว่า ถ้าอย่างนั้น โครงการรถไฟทางคู่ 3.5 ล้านล้านบาทของรัฐบาลชุดนี้ ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นตามที่ป่าวประกาศไว้นะสิ
นักการเงินอดีตแหล่งข่าว เลี่ยงไปตอบว่า ให้ไปฟังเพลง The Bee Gees ที่ชื่อI Started a Joke เอาเอง แล้วจะเข้าใจดีว่าทำไม กองทุนหุ้นจึงพากันหันมาใช้กลยุทธ์“เล่นสั้น ขยันซอย” แข่งกับรายย่อย อย่างชัดเจน และอย่าได้หวังเลยว่าไตรมาสนี้จะมีวินโดว์เดรสซิ่ง เพราะทำแล้วไม่เกิดมรรคผลใดๆ
เพื่อความชัดเจน เขายกตัวอย่างประกอบว่า ในบรรดาหุ้นใน SET50 หรือ SET100 นั้น มีหุ้นที่ผลประกอบการโดดเด่นยามนี้ไม่กี่ราย บางรายก็มีสภาพคล่องต่ำ ดังนั้น การเลือกหุ้นบลูชิพที่มีสภาพคล่องสูงจึงมีข้อจำกัดมาก จะเห็นว่าหุ้นที่กองทุนนิยมซื้อขายใน 2 เดือนนี้กระจุกตัวมาก และยิ่งกระจุกตัวเท่าใด ความผันผวนจากการเล่นรอบสั้นๆ จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น
ทางเลือกที่จะไม่ต้องทำเช่นนี้ คือ การตั้งกองทุน FIF ไปลงทุนในตลาดต่างประเทศที่กำลังเป็นขาขึ้น และมีความคึกคัก เช่น ตลาดหุ้นอินเดีย หรือเซี่ยงไฮ้ หรือฮ่องกง เป็นต้น โดยจับจังหวะที่เหมาะสม แล้วหาโอกาสทำกำไรในช่วงเวลาไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งปลอดภัยกว่าลงทุนในหุ้นในประเทศ
แม้จะไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลว่าทำไมกองทุนถึงหันมาใช้กลยุทธ์ “เล่นสั้น ขยันซอย” จริงจัง แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จึงสะท้อนความหวั่นไหวต่ออนาคตของตลาดหุ้นไทยที่มีพื้นฐานจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ รวมทั้งกติกาทางการเมืองที่ครอบงำสังคมอยู่
ปรากฏการณ์ดัชนีหุ้น “ขึ้น 2 วัน ลง 3 วัน” สลับฟันปลา และกองทุนหันมาเล่นสั้นแข่งรายย่อย หรือเล่นตามสัญญาณเทคนิค บอกให้รู้ว่าความคาดหวังในอนาคตระยะยาว ถือเป็นความเสี่ยงประเภทหนึ่งในยามนี้ที่พึงหลีกเลี่ยง แล้วหันมาเกาะติดสถานการณ์เล่นตามแนวโน้มตลาด บนพื้นฐานของแนวทาง 19 ข้อที่นักเล่นระยะสั้นอย่าง Victor Sperandeo แห่งวอลล์สตรีท ชี้ช่องเอาไว้