โอเปกในภาวะนับถอยหลัง
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกร่วงลงแรงระลอกล่าสุด หลังจากข่าวดีปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากข่าวข้อตกลงลดกำลังการผลิตของสมาชิก 15 ชาติของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 800,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกจะปรับลดกำลังการผลิต 400,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้มีการปรับลดกำลังการผลิตรวม 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปีหน้า
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกร่วงลงแรงระลอกล่าสุด หลังจากข่าวดีปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากข่าวข้อตกลงลดกำลังการผลิตของสมาชิก 15 ชาติของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 800,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกจะปรับลดกำลังการผลิต 400,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้มีการปรับลดกำลังการผลิตรวม 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปีหน้า
การลดกำลังการผลิตของโอเปก และชาตินอกโอเปก ถูกหักกลบด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐฯเร่งเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบ จนล่าสุดต้นเดือนนี้ สหรัฐฯมีการผลิตน้ำมันดิบ 11.7 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ไม่มีใครรู้ว่าเจตนาของสหรัฐฯสอดรับกับข้อเสนอของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยเสนอว่าต้องการให้ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป
ล่าสุด นักวิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบในยุโรป ออกมาทุบราคาต่อไปโดยระบุว่า ระดับการปรับลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล/วันยังคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดกลับมาอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำมัน เพื่อดึงราคาน้ำมันกลับขึ้นไปเหนือ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลครั้งใหม่
นอกจากนี้ ตลาดยังมีคาดการณ์ว่า โลกจะยังคงเผชิญภาวะน้ำมันล้นตลาดราว 1.2 ล้านบาร์เรล/วันในไตรมาสแรกของปีหน้า จากการที่มีปริมาณน้ำมันใหม่ ๆ ระบายเข้าสู่ตลาด
หากไม่กล่าวถึง “เหตุปัจจัยสำเร็จรูป” ว่าด้วยแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า เศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวอาจส่งผลให้ความต้องการน้ำมันซบเซาลงจากคู่กรณีสงครามการค้าอย่างจีน ที่ล่าสุดเปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นมาตรวัดเศรษฐกิจที่สำคัญ ขยายตัว 5.4% ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนตุลาคมที่มีการขยายตัว 5.9% ขณะที่สหรัฐฯก็ไม่ต่างกันเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านร่วงลง 4 จุด สู่ระดับ 56 ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายเดือน ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เราคงต้องพูดถึงตัวแปรใหม่นั่นคือ การปรับเปลี่ยนของตลาดรถยนต์โลก ที่ทำให้อนาคตของการใช้น้ำมันเติบโตช้าลงต่อเนื่อง
การเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นอันตรายที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของธุรกิจน้ำมันดิบ
แม้ว่ายอดขายรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจะยังมีสัดส่วนต่ำมากเมื่อเทียบกับจำนวนตลาดรวมที่ยังคงใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่อัตราเติบโตของยอดขายในธุรกิจใหม่ถือว่าน่าสนใจยิ่ง
การผลิตรถโดยสารและรถตู้พลังงานไฟฟ้าที่วิ่งบนทางด่วนได้แบบจำนวนมากในตลาดยังมีจำกัดอยู่เพียง 25 รุ่น ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ประเทศในยุโรปตะวันตก และจีน แต่ยอดขายของรถพลังงานไฟฟ้าที่เติบโตปีละกว่า 50% นับตั้งแต่มีการผลิตเชิงพาณิชย์จริงจังจากปีสำคัญคือ 2555 เป็นต้นมา โดยญี่ปุ่นซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 28% จากยอดขายทั่วโลก ตามด้วยสหรัฐอเมริกาที่ 26% จีน 16% ฝรั่งเศส 11% และนอร์เวย์ 7%
รถพลังงานไฟฟ้า หรือ EV ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมนุษย์ เพราะปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้รับความนิยมนานหลายทศวรรษ จนกระทั่งถูกเบียดขับให้หายไปจากความก้าวหน้าเกี่ยวกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน และการผลิตยานพาหนะจากเครื่องยนต์ดังกล่าว หรือ ICV
หากปราศจากการร่วมมือสร้าง วิกฤติพลังงานในคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980 ของกลุ่มโอเปก รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าคงจะหายไปตลอดกาล
ความสนใจในรถพลังงานไฟฟ้าในช่วงสั้น ๆ ช่วงหลังวิกฤติราคาน้ำมัน แม้จะไม่สามารถแตะถึงขั้นรบกวนตลาดหลัก แต่สามารถทำได้อีกครั้งในศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ ค.ศ. 2008 มีกระบวนการการฟื้นฟูการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากแบตเตอรี่และการจัดการพลังงานมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก จากผลพวงของ 2 เหตุปัจจัยคือ การขึ้นราคาของน้ำมันดิบเหนือ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและความต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ที่ผ่านมาในระยะสั้น รัฐบาลในหลายประเทศได้ออกเครดิตภาษี เงินสนับสนุน และสิ่งจูงใจอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการเปิดตัวและประยุกต์ใช้ในตลาดหลักของยานพาหนะพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ โดยขึ้นกับขนาดของแบตเตอรี่ และพิสัยของการใช้ไฟฟ้าล้วนของตัวรถยนต์
เหตุปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงยาวนานเมื่อ 3 ปีก่อนจนราคาร่วงเกือบหลุด 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้รับการตอบโต้จากกกลุ่มสมาชิกโอเปก และนอกโอเปกที่เกือบเข้าขั้นล้มละลายทางการคลังหลายประเทศจากเหตุราคาน้ำมันร่วง ด้วยการจับมือกันลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบครั้งใหญ่ตั้งแต่มีข้อเสนอกลางปี 2559
การร่วมมือสร้างราคาน้ำมันดิบครั้งสำคัญในปี 2559 ช่วยหยุดยั้งขาลงของราคาน้ำมัน โดยมีรัสเซียและซาอุดีอาระเบียชักใย และมีอิหร่านกับอิรักร่วมด้วย อาจจะถือเป็นโอกาส “เฮือกสุดท้าย” ของชาติที่มีทรัพยากรและธุรกิจน้ำมันดิบ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกลับไปสู่จุดเดิมได้อีก
เหตุผลสำคัญคือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานทดแทน ได้บรรลุเป้าหมายระดับใหม่ในการลดอุปสรรคและข้อจำกัดมากมายของรถยนต์พลังไฟฟ้า เช่นราคาที่สูงกว่า ขาดโครงสร้างพื้นฐานสำหรับชาร์จพลังงาน (นอกจากการชาร์จตามที่อยู่อาศัย) และปริวิตกที่เกิดในตลาดว่าพลังงานไฟฟ้าที่เก็บในแบตเตอรี่จะหมดก่อนจะถึงที่หมาย เนื่องจากพิสัยที่มีจำกัดในรถพลังงานไฟฟ้า) อย่างมีนัยสำคัญ
ภาวะตกต่ำของราคาน้ำมันรอบล่าสุดนี้ มีรายละเอียดต่างจากครั้งก่อนเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีสาระเดียวกันคือไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมชาติหรืออุปสงค์และอุปทานของตลาด แต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์
ครั้งก่อนหน้านี้ เหตุที่ราคาร่วงแรงเพราะว่า ชาติใหญ่ในโอเปกต้องการทำ “สงครามสั่งสอน” ผู้ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯที่มีต้นทุนสูงกว่า โดยประกาศสงครามราคาอย่างไม่เป็นทางการ ด้วยเหตุผลที่ไม่เปิดเผยแต่เหตุผลเบื้องหน้าคือการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำมันดิบโลก
ครั้งนั้น อิรัก และซาอุดีอาระเบีย พากันขุดน้ำมันออกมาขายอย่างหนักจนเกินจำนวนเป้าหมายวันละ 31.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณล้านบาร์เรลต่อวันส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงจนบริษัทขุดเจาะน้ำมันสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จำต้องลดการขุดเจาะน้ำมันลงต่อเนื่อง
แม้ต่อมาการร่วมมือลดกำลังการผลิตโอเปกและนอกโอเปกจะเกิดขึ้น แต่ก็ได้ผลลัพธ์อันไม่พึงปรารถนา เมื่อสหรัฐฯกลับมาทำการผลิตใหม่เพิ่มเติมมากกว่าเดิม และชาติสมาชิกโอเปกก็ฉวยโอกาสแอบเพิ่มกำลังการผลิตเกินกว่าข้อตกลง ทำให้น้ำมันกลับมาล้นตลาดอีก
ครั้งนี้ต่างออกไป เพราะตลาดอุปสงค์หดหายไป ผสมกับอุปทานเพิ่มขึ้น และเสียงของชาติสมาชิกโอเปกที่แตกออกไม่เป็นเอกภาพ ทำให้ยากที่จะรักษาแนวรับของราคาน้ำมันดิบให้เหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้
ชาติที่ดูเหมือนจะเสียหายมากสุดคราวนี้คือซาอุดีอาระเบีย เพราะราคาน้ำมันที่ร่วงลง น่าจะส่งผลให้แผนการนำหุ้นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ “อารามโก” เข้าจะทะเบียนในหลายตลาดเพื่อระดมทุนมากถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ต้นปีหน้า อาจล่มไม่เป็นท่า
แต่ไม่ว่าใครจะเสียหาย งานนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับประโยชน์เต็ม ๆ
ส่วนโอเปก คงต้องนับเวลารอวันล่มสลายในฐานะคาร์เทลน้ำมันใหญ่สุดของโลกทั้งไม่เป็นทางการและเป็นทางการ แม้อาจจะไม่เร็วเท่าจินตนาการ