ในนามของเสถียรภาพ

แล้วหลังจากใช้เวลานานเกือบครึ่งปี ในการส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยในตลาดเงินจะเป็นช่วงขาขึ้น ในที่สุด เดือนสุดท้ายของปี กนง.ก็ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เพื่อเป้าหมายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางเสียงบ่นงึมงำของรัฐมนตรีคลัง นายอภิศักดิ์ ที่สวมวิญญาณอดีตนายธนาคารพาณิชย์เก่า มาบ่นว่าทำให้ต้นทุนการเงินของระบบตลาดเงินแพงขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล  

แล้วหลังจากใช้เวลานานเกือบครึ่งปี ในการส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยในตลาดเงินจะเป็นช่วงขาขึ้น ในที่สุด เดือนสุดท้ายของปี กนง.ก็ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เพื่อเป้าหมายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางเสียงบ่นงึมงำของรัฐมนตรีคลัง นายอภิศักดิ์ ที่สวมวิญญาณอดีตนายธนาคารพาณิชย์เก่า มาบ่นว่าทำให้ต้นทุนการเงินของระบบตลาดเงินแพงขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท

คงไม่ต้องถามว่าตัวเลขหยาบ ๆ ที่ไม่น่าเชื่อถือนี้ของรมว.คลัง มาจากไหน เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่รมว.คลังย่อมไม่พึงพอใจกับการขึ้นดอกเบี้ยเสมอ เพราะต้องเหนื่อยมากขึ้นกับการรักษาหรือเสกปั้นตัวเลขอัตราเติบโตของจีดีพีจอมปลอม

ยิ่งท่าทีของธนาคารพาณิชย์ที่กัดฟันออกมา “โกหกสีขาว” ว่าธนาคารพาณิชย์ยังสภาพคล่องท่วมจะไม่ปรับตามดอกเบี้ยนโยบายแน่นอน เพราะใคร ๆ ก็รู้ดีว่าพูดไปตามสูตร อย่างไรเสียก็คงต้องขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน เพียงแต่ไม่มีใครอยากออกมาทำรายแรกเท่านั้นเอง

คณะกรรมการ กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากอัตรา 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก หลังจากการคงอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 28 ครั้งต่อเนื่อง หรือในรอบ 7 ปี 4 เดือน จากมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม โดยตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโต 4% ปี 2561 นี้ แม้จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงแล้ว ยังคาดว่าจะโต 4.2% และปีหน้า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 4% โดยได้ปรับลดประมาณการจากเดิม 4.2% ซึ่งเท่ากับเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอัตรา 4% ติดกัน 3 ปี ถือเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่ง และเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยมากนัก เพราะความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับที่ผ่านมาลดน้อยลง

ความจริงแล้วสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.มีนานหลายเดือน นับแต่เดือนพฤษภาคม เพียงแต่เสียงส่วนใหญ่ยังเห็นว่าไม่ถึงเวลาเหมาะสม แม้ว่าในสามปีมานี้ เฟดจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยทุกปีจนดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่เคยต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยยาวนานกว่า 10 ปี แซงหน้าไปไกลพอสมควร

เสียงสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยใน กนง.ยามนั้น ระบุว่า เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดีทำให้มีความเสี่ยงจำกัดที่เงินทุนจะไหลออก เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศ เพียงแต่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพราะอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อยจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและแรงกดดันอุปสงค์ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. เพราะสาเหตุความคุ้นเคยกับ “เงินราคาถูก” มายาวนานต่อเนื่อง ไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงเรื่องความสามารถทางธุรกิจของบริษัทและประเทศ อาศัยจังหวะที่สภาพคล่องส่วนเกินของปริมาณเงินที่ท่วมตลาด แม้จะไม่ยั่งยืนได้ดีเท่ากับการปล่อยให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น และมีส่วนทำให้ตลาดหุ้นเดินหน้าขาขึ้นยาวนาน

ดอกเบี้ยขาขึ้น คือ สิ่งที่ยืนยันว่าภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจตกต่ำได้ผ่านพ้นไปแล้ว ความกังวลของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ไม่ใช่เรื่องของการขาดสภาพคล่อง แต่อยู่ที่เงินเฟ้อและการจ้างงาน

แรงกดดันจากเฟดตามมาด้วยล่าสุด ECB สร้างผลสะเทือนให้ธนาคารกลางทุกแห่งต้องทบทวนว่าควรขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหม่เพื่อรับมือปัญหาทุนไหลออกจากการเก็งกำไร ตัวอย่างชัดเจนเกิดขึ้นแล้วกับประเทศใกล้ ๆ กันอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซียก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกันไปแล้ว

ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ 2.0-2.25% กับ 1.25% ของ ธปท. ในทางปฏิบัติถือเป็นการ “ส่งแขก” ให้ทุนไหลออกอย่างไม่ต้องสงสัย คำถามคือ ทำไม ธปท.ไม่เลือกเอาการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ที่มีหลายเดือน เพิ่งจะมีคำตอบเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ในทางทฤษฎีแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (ซึ่งเป็นแค่สัญญาณและสัญลักษณ์) รอบนี้ ถือเป็นการรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯไม่ให้ห่างมากเกินไป (ป้องกันทุนไหลเข้าออกรุนแรงเพราะการทำแคร์รี่เทรด แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ขึ้นกับเงื่อนไขอื่น โดยเฉพาะอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

มองในมุมกลับ หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวดี (ตามที่รองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และก๊วนสาวกคุยฟุ้งไปทั่วทุกเวทีปราศรัย) จะเกิดความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น ธนาคารพาณิชย์ต้องระดมเงินฝากมาปล่อยสินเชื่อ ซึ่งในช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ในตลาดต้องปรับเพิ่มขึ้น เว้นเสียแต่เกิดปรากฏการณ์ตรงกันข้ามกันกับคำคุยโอ่อวด

การมีรมว.คลังที่ไม่พยายามเข้าใจถึงการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่พยายามเชื่อว่า การทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยไม่มีเงินเฟ้อ เป็นกฎทั่วไป ไม่ใช่ข้อยกเว้น จะทำให้เราได้เห็นปาหี่คลัง-ธปท.เรื่องขึ้น-ลงอัตราดอกเบี้ยที่น่าเบื่อหน่ายกันเป็นระยะ ๆ ไปอีกนาน โดยมีสื่อไร้เดียงสาคอยเสี้ยม

 

Back to top button