ข่าวรั่วเดือนธันวาคม

แม้จะไม่ใช่เดือนเมษายน ที่มักจะมีคนปล่อยข่าว "แสร้งโง่" ตามแนวทางฝรั่งเรื่อง April's Fool Day แต่ข่าวเรื่องการควบรวมกิจการของ 2 ธนาคารพาณิชย์ระดับกลาง TMB-TBANK เมื่อวันศุกร์ก็เป็นประเด็นที่สื่อนำมา "สับขาหลอก" ให้เป็นข่าวใหญ่จนได้


พลวัตปี  2018 : วิษณุ โชลิตกุล 

แม้จะไม่ใช่เดือนเมษายน ที่มักจะมีคนปล่อยข่าว “แสร้งโง่” ตามแนวทางฝรั่งเรื่อง April’s Fool Day แต่ข่าวเรื่องการควบรวมกิจการของ 2 ธนาคารพาณิชย์ระดับกลาง TMB-TBANK เมื่อวันศุกร์ก็เป็นประเด็นที่สื่อนำมา “สับขาหลอก” ให้เป็นข่าวใหญ่จนได้

ตามหลักของการสร้างดีลควบรวมกิจการแล้ว ดีลที่ออกมาก่อนเวลาอันสมควรทั้งที่ยังมีแค่ความเคลื่อนไหว มีโอกาสล่มมากกว่าบรรลุเป้าหมาย ดังนั้นในระหว่างที่ยังไม่ถึงเวลาประกาศผลของความเคลื่อนไหวที่เป็นทางการออกมา ก็อย่าได้ใส่ใจมากนัก เพราะว่า 1. อาจจะเป็นข่าวปล่อยเพื่อสร้างราคาหุ้น โดยเลี่ยงหลบไม่ให้เข้าข่ายใช้ข้อมูลวงในหรือ อินไซเดอร์เทรดดิ้ง ที่ ก.ล.ต.นั่งทำตาปริบ ๆ ไม่สามารถลงโทษใครได้ (แบบเดียวกับกรณีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์บอกว่าการบินไทยจะมีกำไรในไตรมาสนี้น่ะแหละ) 2. อาจจะเป็นข่าวจริงจากคนที่ไม่ต้องการให้ดีลสำเร็จ เพราะข่าวรั่วเสียก่อน

ยิ่งเป็นกรณีข่าวที่เกี่ยวข้องกับการควบรวม TMB ด้วยแล้ว โอกาสล่มมีมากกว่าสำเร็จ ดูได้จากบทเรียนตอนต้นเดือนกันยายน ตอนที่มีข่าวเป็นตุเป็นตะถึงขั้นที่ว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง อนุมัติดีลควบรวมธุรกิจกับ KTB แล้วและคาดว่าจะรู้ผลใน 2 เดือน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นข่าวที่มีความเป็นไปได้ต่ำมากในทางปฏิบัติ

ครั้งนี้เป็นข่าวขึ้นมาเพราะมีข่าวออกมาว่า ผู้บริหารของ TMB จูงมือผู้บริหารของ TBANK หรือ ธนาคารธนชาตเข้าพบ รมว.คลัง เพื่อหารือเรื่องการควบรวม 2 แบงก์เข้าด้วยกันในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TMB และ รมว.อภิศักดิ์ก็ออกมายอมรับว่า มีการพบปะ และบอกใบ้อีกว่า พร้อมสนับสนุน

เรื่องนี้ ถูกขยายความโดยสื่อด้านธุรกิจที่ใช้จินตนาการสูงเกินระดับปกติ นำเสนอไปเสมือนหนึ่งว่า ดีลนี้น่าจะจบลงได้ ถึงขั้นระบุ (เสมือนซ่อนกล้องใต้โต๊ะเจรจา หรือส่งโดรนไปบินว่อนเหนือโต๊ะเจรจา) ว่า การเจรจาการควบรวมกิจการครั้งนี้บรรลุแล้ว 2 ฝ่าย ยังเหลือฝ่ายกระทรวงการคลังที่ยังมีข้อติดขัดในการควบรวมครั้งนี้

ไม่เพียงเท่านั้น สื่อบางรายยังล้วงลึกไปถึงขั้นว่า ยังติดขัดแค่บางประเด็นที่ รมว.คลัง ยังมีข้อสงสัยและไม่เห็นด้วย เพื่อให้ต้องลุ้นต่อไป (แบบละครโทรทัศน์น้ำเน่า) ว่า รมว.คลังจะเห็นชอบต่อแผนควบรวมครั้งนี้หรือไม่

ที่สุด ๆ ก็คือการนำเสนอว่า หนึ่งในเงื่อนไขของดีลนี้คือ หลังควบรวม จะไม่มีการลดจำนวนพนักงานลง ซึ่งเหลือเชื่อเกินกว่าจะเป็นจริงในทางปฏิบัติ

ในเบื้องต้น เสียงปฏิเสธอย่างเป็นทางการของดีลนี้ก็เกิดขึ้น (แม้จะชวนให้ตีความว่าปฏิเสธตามเนื้อผ้าไปอย่างนั้นเอง) จากผู้ที่น่าจะเกี่ยวข้อง  เริ่มตั้งแต่นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารธนชาต ชี้แจงว่า ดีลดังกล่าวขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้และประโยชน์ของการควบรวมกิจการธนาคารตามนโยบายของรัฐบาลแต่ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ พร้อมยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างของธนาคาร จะเป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยยึดมั่นในหลักการที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ของลูกค้า ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงพนักงาน และยังคงดำเนินธุรกิจตามแผนงานปกติ ทั้งเรื่องการอนุมัติธุรกรรมต่าง ๆ การเปิดรับพนักงานทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และการลงทุนในโครงการที่มีความคุ้มค่าในการลงทุนของธนาคาร

พูดอย่างนี้ แสดงว่าความเป็นไปได้ในเรื่องรายละเอียดของดีลควบรวม ยากกว่าที่คาด

ทางด้านนายอภิศักดิ์เอง บอกสั้น ๆ ว่าดีลนี้ “ไม่ทราบ” และโฆษกกระทรวงคลังก็ออกมาย้ำว่า ไม่รู้เรื่อง ในขณะที่นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่า ธปท. ก็แบ่งรับแบ่งสู้ตามสไตล์ว่า ถ้าการควบรวมตอบโจทย์นั้นได้ ก็เป็นสิ่งที่แบงก์ชาติก็คงสนับสนุน แต่ยังไม่มีการหารือเป็นทางการเข้ามา

ข่าวดีล TMB-TBANK ก็ยังคงเป็นข่าวที่เป็นไปตามจินตนาการของสื่อ และนักวิเคราะห์ต่อไป มองในแง่ของวิศวกรรมการเงินแล้ว ดีลนี้ค่อนข้างยากมาก ด้วยหลายเหตุผล แต่หลักทั่วไปแล้วโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ซับซ้อน ทำให้การจัดการกับการถือหุ้นหลังดีลจบทำได้ลำบาก

ตัวอย่างเช่น ถ้า TBANK (หรือ TCAP ที่เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TBANK) ต้องการปิดดีล เพื่อคงสัดส่วนสำคัญในอำนาจการบริหารธนาคารใหม่ จะต้องจ่ายเงินซื้อหุ้นจากกระทรวงการคลังที่ถือหุ้นใน TMB อยู่ประมาณ 26% ทั้งหมด หากจ่ายเป็นเงินสด ต้องใช้เงินมหาศาลเผื่อสำหรับการทำ Tender Offer ด้วย แต่ถ้าต้องการซื้อบางส่วนเพื่อประหยัดเงิน ต้องเพิ่มทุนมาแลกหุ้นระหว่าง TCAP กับคลัง   นอกจากนั้นยังมีคำถามตามมาอีกว่าธนาคารแคนาดา อย่าง โนวา สโกเทียที่ถือใน TBANK 48% จะคงสัดส่วนหุ้นในธนาคารใหม่หรือไม่ และยังไม่นับสัดส่วนหุ้นของ ING และราคาหุ้นของคลังที่ถือใน TMB อีก

ใครที่คิดว่าดีลนี้ง่าย คงต้องจินตนาการสูงกว่าวิสามัญมนุษย์ ยิ่งมีข่าวรั่วออกมาอย่างนี้ ยิ่งทำให้โอกาสปิดดีลมีน้อยกว่าล้มดีลหลายเท่า ข่าวรั่วเดือนธันวาคมเรื่อง ควบรวม TMB-TBANK จึงน่าจะเป็นตลกหน้าม่านมากกว่าจะถือจริงจัง

 

Back to top button