ขีดจำกัดของทรัมป์และสหรัฐฯ

เดือนธันวาคมปีนี้ นักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วสหรัฐฯ ได้เรียนรู้ว่า เดือนสุดท้ายของปี ซึ่งโดยปกติจะเป็นเดือนขาขึ้นของดัชนีตลาดและราคาหุ้น แต่ปีนี้ นอกจากจะไม่มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า December Effect หรือ Santa Claus Rally แล้ว ยังถือได้ว่าเป็นสถิติใหม่ของเดือนธันวาคมที่เลวร้ายสุดรอบ 87 ปี นับตั้งแต่ ค.ศ. 1931 เป็นต้นมา  


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

เดือนธันวาคมปีนี้ นักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วสหรัฐฯ ได้เรียนรู้ว่า เดือนสุดท้ายของปี ซึ่งโดยปกติจะเป็นเดือนขาขึ้นของดัชนีตลาดและราคาหุ้น แต่ปีนี้ นอกจากจะไม่มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า December Effect หรือ Santa Claus Rally แล้ว ยังถือได้ว่าเป็นสถิติใหม่ของเดือนธันวาคมที่เลวร้ายสุดรอบ 87 ปี นับตั้งแต่ ค.ศ. 1931 เป็นต้นมา

ความเลวร้ายที่เกิดในช่วงเวลาคริสต์มาสอีฟที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก แล้วส่งผลพวงต่อเนื่องเป็นวงกว้างในวันวันคริสต์มาส เริ่มจากตลาดหุ้นนิวซีแลนด์-ออสเตรเลีย ลุกลามไปที่โตเกียวแล้วก็ทั่วทั้งเอเชีย สำหรับตลาดที่ไม่ได้หยุดทำการ ทำให้นักลงทุนขวัญผวา ถือว่าปีนี้ไม่น่าบันเทิงใจเอาเสียเลย

ความเลวร้ายของบรรยากาศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ ที่ดัชนี SET ร่วงหลุดแนวรับ 1,590 จุดอย่างสิ้นสภาพนับแต่เปิดตลาด หลังจากที่สองวันทำการที่ผ่านมา บรรดากองทุนรวมได้พยายามทำวินโดว์เดรสซิ่งด้วยมุมมองฝืนธรรมชาติแบบโลกสวย จนต้องยอมปรับท่าทีใหม่ขายทิ้งเพื่อปรับพอร์ตใหม่ ซึ่งมีผลให้ดัชนีต้องหาแนวรับใหม่อุตลุด

คำถามคือ แนวรับไหน จะเอาอยู่ เพราะดูเหมือนสัญญาณเทคนิคจะใช้การไม่ได้ชั่วคราว

เหตุผลคือ สหรัฐฯ เริ่มแสดงให้เห็นขีดจำกัดของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และที่ร้ายกว่านั้น โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มแสดงขีดจำกัดความสามารถในการเป็นผู้นำที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่เคยคุยโตช่วงหาเสียงคือ “นำอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง”

การแสดงออกดุจหมาบ้าของทรัมป์ล่าสุด เมื่อเขาออกโรงใช้ถ้อยคำรุนแรงจู่โจมทางวาจากล่าวโทษธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ว่ากำลังซ้ำเติมความกังวลแก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเปรียบเทียบเฟดว่าเป็นเหมือน “นักกอล์ฟที่ซุ่มซ่าม”

คำพูดที่เริ่มต้นในทวิตเตอร์ส่วนตัวของทรัมป์ ที่ระบุว่า “ปัญหาทางเศรษฐกิจเดียวของเราคือเฟด….เฟดอยากเป็นนักกอล์ฟทรงพลัง แต่ไม่สามารถทำสกอร์ได้เพราะไม่มีสัมผัส พวกเขาพัตต์ไม่เป็น” ถือเป็นถ้อยคำอันรุนแรง ที่สอดรับกระแสข่าวลือว่าอาจจะมีการปลดเจอโรม พาวเวลล์ ออกจากประธานเฟด

เหตุผลคือ การที่เฟดมีแนวทางนโยบายการเงินที่เป็นอิสระจากทำเนียบขาว ซึ่งดูแลนโยบายการคลัง ทำให้ทรัมป์แสดงความผิดหวังอย่างเกรี้ยวโกรธต่อสิ่งที่เขาเรียกว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยแย่ ๆ ของธนาคารกลาง

ทรัมป์ ซึ่งเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัมย์มาเกือบตลอดทั้งชีวิต ไม่เคยชื่นชอบกับการขึ้นดอกเบี้ย และยังชอบอวดอ้างเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองของสหรัฐฯ ว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จหลักของเขาในฐานะประธานาธิบดี ขณะที่ในระยะอันใกล้นี้ นักลงทุนมีความกังวลมากขึ้นต่อสไตล์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของทรัมป์และสงครามการค้าของเขากับจีน เพราะผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจากต้นทุนสินค้านำเข้าที่พุ่งขึ้น

คำกล่าวของทรัมป์ที่บอกว่าเฟดไม่เห็นใจตลาด ไม่เข้าใจถึงความจำเป็นของการทำสงครามการค้า และดอลลาร์แข็งค่า หรือแม้แต่เหตุชัตดาวน์โดยเดโมแครตเกี่ยวกับประเด็นชายแดน สะท้อนมุมมองส่วนตัวที่นักลงทุนพากันส่ายหน้าด้วยความระอาไปตาม ๆ กัน

ความเคลื่อนไหวล่าสุด ที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักใต้ 22,000 จุด เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากรณีนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้เรียกหารือร่วมกับผู้บริหารของธนาคารรายใหญ่ 6 แห่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความเพียงพอของสภาพคล่องในตลาด ทำให้ไม่สามารถบรรเทาความวิตกกังวลของนักลงทุนได้ เพราะข่าวลือที่ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการปลดนายเจอโรม พาวเวลล์ ออกจากตำแหน่งประธานเฟด เป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดเช่นกัน

นายมนูชินได้หารือกับผู้บริหารของธนาคารรายใหญ่ 6 แห่งของสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่ผู้บริหารของโกลด์แมน แซคส์, เจพี มอร์แกน เชส, แบงก์ ออฟ อเมริกา, มอร์แกน สแตนลีย์, เวลส์ ฟาร์โก และซิตี้กรุ๊ป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าธนาคารเหล่านี้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ ขณะที่ผู้บริหารของธนาคารรายใหญ่เหล่านี้ต่างก็ยืนยันว่าธนาคารยังมีสภาพคล่องเพียงพอในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและผู้บริโภค

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้นายมนูชินได้ออกมาสร้างความเชื่อมั่นด้วยการหารือกับ 6 ผู้บริหารธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้แก่ เจพี มอร์แกน เชส, แบงก์ ออฟ อเมริกา, โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนลีย์, เวลส์ ฟาร์โก และธนาคารซิตี้กรุ๊ป แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ตลาดคลายความวิตกกังวลลงได้ นอกจากนี้ นักลงทุนมองว่า การที่นายมนูชินได้เรียกประชุมคณะทำงานด้านตลาดการเงินของประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือกลุ่มเฉพาะกิจเพื่อป้องกันการทรุดตัวของตลาด (Plunge Protection Team) เมื่อวานนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจในขณะนี้

นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่หน่วยงานบางส่วนของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะชัตดาวน์ ขณะที่นายมิค มัลวานีย์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณแห่งทำเนียบขาวเตือนว่า ภาวะชัตดาวน์อาจจะยืดเยื้อไปจนถึงวันที่ 3 ม.ค.ปีหน้า หลังจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ไม่อนุมัติร่างกฎหมายที่บรรจุงบประมาณสำหรับก่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกวงเงินกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ ตามความประสงค์ของประธานาธิบดีทรัมป์

หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงหนัก ขณะที่หุ้นแอปเปิล ร่วงปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2560 นอกจากนี้ มูลค่าตลาดของบริษัทแอปเปิล อิงก์ ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 7 แสนล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 2560

สถานการณ์อย่างนี้ ต่อให้กองทุนคิดจะทำวินโดว์เดรสซิ่ง ก็คงได้แค่คิด แต่ไม่กล้าทำ

การเร่งขายหนักของกองทุนวานนี้ ส่งสัญญาณมากกว่าถอย

คริสต์มาสปีนี้ ตลาดหุ้นทั้งโลก มีสีแดงมากกว่าปกติ ยกเว้นตลาดที่ปิดทำการ

 

Back to top button