EGCO มั่นใจกำไรปี 62 โต 6% รับส่วนแบ่งกำไรโรงไฟฟ้า “Paju” กำลังการผลิต 1,823 MW

EGCO มั่นใจกำไรปี 62 โต 6% รับส่วนแบ่งกำไรโรงไฟฟ้า “Paju” กำลังการผลิต 1,823 MW


นายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายกำไรจากการดำเนินงานปี 62 เติบโต 6% แม้ปีนี้จะทำได้พลาดเป้าหลังจากได้ขายโรงไฟฟ้ามาซินลอค ประเทศฟิลิปปินส์ แต่ปีหน้าจะรับส่วนแบ่งกำไรจากการจะเข้าลงทุน 49% ในโรงไฟฟ้า Paju ขนาด 1,823 เมกะวัตต์ (MW) ในเกาหลีใต้ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว และคาดว่าการโอนหุ้นจะแล้วเสร็จเดือน ม.ค.62 ก็จะมีส่วนแบ่งกำไรเข้ามาช่วยชดเชยส่วนแบ่งกำไรที่หายไปจากโรงไฟฟ้ามาซินลอค

นอกจากนี้ จะมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ในมือทยอย COD เข้าระบบในปี 62 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีในลาว และโรงไฟฟ้าถ่านหินซานบัวนาเวนทูรา ประเทศฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันก็ยังมองหาโอกาสการเข้าลงทุนใหม่เพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีความชัดเจน 2 โครงการในช่วงต้นปี ซึ่งจะเข้ามาช่วยผลักดันให้กำไรจากการดำเนินงานกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

“EGCO เราไม่ได้เน้นว่าจะต้องได้กี่เมกะวัตต์ เพราะเราจะเน้นเป้าหมายคือเราพยายาม maintain ผลตอบแทน โรงไฟฟ้าแต่ละชนิดให้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน เราเน้นการเติบโตให้ได้ 6% เราไม่ได้ซีเรียส ไม่เป็นประเด็นหลัก แต่ประเด็นหลักของเราคือทำอย่างไรให้ได้เห็นการเติบโต 6% เราดูว่าโครงการอะไรที่ทำแล้วจะทำให้การเติบโตตามเป้าหมายที่เราอยากได้…ถ้าเราทำแค่โครงการที่มีอยู่ก็จะไม่ถึงฝัน ต้องเร่งหา ถ้าปีหน้าได้อีกเราก็มีความสุขถึงฝันแน่ๆ แม้แต่ได้ Paju ก็ยังไม่ถึงเป้าเพราะเราไม่มีมาซินลอค อันนี้ก็แค่มาแทนมาซินลอค เราต้องหาเพิ่มเข้ามาอีก” นายจักษ์กริช กล่าว

โดยในปีที่ผ่านมา EGCO มีกำไรสุทธิ 1.18 หมื่นล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงาน 9.27 พันล้านบาท ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีกำไรสุทธิ 2.18 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นกำไรจากการขายโรงไฟฟ้ามาซินลอค และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW รวม 1.42 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ 7 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 7.86 พันล้านบาท

นายจักษ์กริช กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการลงทุนในปี 62 บริษัทจะใช้เงินลงทุนรวม 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างพัฒนา และการเข้าซื้อโรงไฟฟ้า Paju โดยการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าในมือที่อยู่ระหว่างพัฒนา 3 โครงการ รวม 544 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการรวม 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินทุนของบริษัท 4 พันล้านบาท

โดยส่วนที่เหลือจะเป็นเงินกู้โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี กำลังผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 160 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินซานบัวนาเวนทูรา กำลังผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 223 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองโครงการจะเริ่ม COD ทั้งหมดในไตรมาส 4/62 ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ในลาว กำลังผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 161 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/65

สำหรับการเข้าซื้อโรงไฟฟ้า Paju มูลค่า 2.62 หมื่นล้านบาทนั้น จะมาจากเงินทุนของบริษัทราว 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือราว 1.3 หมื่นล้านบาท จะกู้จากแบงก์ต่างประเทศมากกว่า 1 ราย อายุ 5 ปี ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาเงินกู้ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้หนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มเป็น 1.1:1 จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 1:1 ขณะที่ในระยะยาวก็อาจจะศึกษาการปรับหนี้ในส่วนนี้ต่อไป

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการลงทุนโรงไฟฟ้า Paju จะสร้างผลตอบแทนที่ดีและโอกาสการลงทุนใหม่ในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันการซื้อขายไฟฟ้าในเกาหลีใต้จะเป็นการขายในระบบพลู โดยไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แต่โรงไฟฟ้า Paju ซึ่งใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นโรงไฟฟ้าลำดับต้นๆ ที่ถูกเรียกให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ขณะที่กลุ่ม SK E&S ซึ่งเป็นพันธมิตรในโรงไฟฟ้า Paju มีความเชี่ยวชาญธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ก็จะร่วมมือกันเพื่อเปิดโอกาสลงทุนในธุรกิจ LNG ในภูมิภาคต่อไป

โดยทั้งบริษัท และ SK E&S อยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจ LNG และโรงไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือนม.ค.62 ซึ่งความร่วมมือในธุรกิจโรงไฟฟ้าน่าจะเกิดขึ้นในต่างประเทศ ส่วนในธุรกิจ LNG มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ได้รับสิทธิการจัดหาและนำเข้า LNG ราว 5 ล้านตัน/ปี แต่ในล็อตแรกจะนำเข้า 1.5 ล้านตัน/ปีในปี 62 นั้น บริษัทไม่ได้เข้าร่วมประมูลแต่อย่างใด เนื่องจากติดเงื่อนไขที่ผู้เข้าประมูลจะต้องเป็นเจ้าของแหล่งผลิตด้วย แต่ก็มองโอกาสเข้าประมูลระยะต่อไปหากเงื่อนไขผ่อนคลายลง

นายจักษ์กริช กล่าวเพิ่มว่า บริษัทยังมองหาดีลการซื้อกิจการ (M&A) เพิ่มเติม โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ตลาดยังเติบโต โดยในช่วงต้นปี 62 น่าจะมีความชัดเจน 2 โครงการ ซึ่งมีทั้งโครงการพลังงานหมุนเวียนและเชื้อเพลิงฟอสซิล หลังปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาหลายโครงการในหลายประเทศทั้งที่มีฐานผลิตอยู่แล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และในประเทศใหม่ๆ เช่น อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม เป็นต้น

ส่วนโครงที่อยู่ในแผนอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ ในเวียดนาม ที่ถือหุ้น 30% คาดหวังจะได้ PPA ภายในปีหน้า เพราะโครงการดังกล่าวยังถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของเวียดนามที่ต้องเริ่ม COD ในปี 67

ส่วนในประเทศบริษัทมองโอกาสลงทุนใหม่ สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) หลังจากที่ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ปี 2561-2580 มีโอกาสจะเปิดแข่งขันรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP ตามแผนที่จะมีโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน รวมประมาณ 8,300 เมกะวัตต์ ตลอดแผน โดยเฉพาะโครงการที่มีโอกาสเปิดแข่งขันก่อนเป็นลำดับแรก ๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2 โครงการ รวม 1,400 เมกะวัตต์ รองรับการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 66 และ 67 บริษัทก็มีที่ดินรองรับการลงทุนดังกล่าวแล้ว หรือหากจะมีการประมูลในพื้นที่อื่น ๆ บริษัทก็มีความพร้อมด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 30% ภายในปี 69 จากปัจจุบันอยู่ที่ 20.49% โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังมาจากก๊าซฯ 52.91% และ ถ่านหิน 26.6% ขณะที่เมื่อเข้าซื้อโรงไฟฟ้า Paju แล้วเสร็จจะมีสัดส่วนผลิตไฟฟฟ้าจากก๊าซฯเพิ่มเป็นราว 55% ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วรวม 4,260.03 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับโรงไฟฟ้า Paju จะเพิ่มเป็น 5,153.3 เมกะวัตต์

ด้านความคืบหน้าในการนำพื้นที่โรงไฟฟ้าระยองที่หมดอายุไปแล้วมาพัฒนาเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 62 ซึ่งหากจะมีการลงทุนก็จะเป็นการลงทุนร่วมกับพันธมิตร ส่วนความสนใจเข้าซื้อซองประมูลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 นั้นบริษัทยังอยู่ระหว่างพิจารณายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ โดยหากเข้าประมูลก็จะยื่นร่วมกันกับพันธมิตร

นอกจากนี้ยังมองโอกาสการลงทุนธุรกิจใหม่ๆในอนาคต เช่น การบริหารจัดการไฟฟ้า สมาร์ทมิเตอร์ โดยบริษัทมีทีมงานที่คอยมองหาโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruptive technology)

Back to top button