ทำ (ความเข้า) ใจ
เมื่อตลาดหุ้นแปรปรวนจนกระทั่งดัชนีแปรปรวนในวอลล์สตรีท กลายเป็นแหล่งทำกำไรชั่วคราวเป็นปีแรก แม้ที่ผ่านมาจะทำให้คนที่ซื้อความเสี่ยงขาดทุนมาตลอด การปรับท่าทีการลงทุนในยามที่ดัชนียังแกว่งไกวพร้อมจะร่วงไปหาแนวรับใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องชะตากรรมที่ต้องเผชิญในปี 2562 ที่ว่ากันว่าจะเป็นปีเผาจริง
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อตลาดหุ้นแปรปรวนจนกระทั่งดัชนีแปรปรวนในวอลล์สตรีท กลายเป็นแหล่งทำกำไรชั่วคราวเป็นปีแรก แม้ที่ผ่านมาจะทำให้คนที่ซื้อความเสี่ยงขาดทุนมาตลอด การปรับท่าทีการลงทุนในยามที่ดัชนียังแกว่งไกวพร้อมจะร่วงไปหาแนวรับใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องชะตากรรมที่ต้องเผชิญในปี 2562 ที่ว่ากันว่าจะเป็นปีเผาจริง
ล่าสุด อลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟด ออกมาพยากรณ์ พร้อมให้ข้อมูลเชิงลบว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่สภาวะ “เฟ้อผสมถดถอย” หรือ Stagflation ซึ่งเป็นสภาวะที่เศรษฐกิจต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจเติบโตช้าและกลับมามีอัตราว่างงานสูง
เหตุปัจจัยของภาวะ Stagflation ที่ใครก็ยอมรับว่าแก้ไขยากมาก คือด้านหนึ่งสงครามการค้า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ แพงขึ้น ผลักดันให้เฟดหมดทางเลือกอื่นใด นอกจากขึ้นดอกเบี้ยสกัด ผลพวงตามมาคือ ความสามารถทำกำไรของบริษัทชั้นนำลดลง ส่งผลต่ออัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานที่เริ่มเข้าสู่ระดับเต็มที่แล้ว
Stagflation ส่งผลให้ข้าวของเครื่องใช้มีราคาแพง และ ประชาชนตกงาน เป็นสภาวะเดียวกันกับที่เคยเกิดมาแล้วในปี 1970 แต่ปัญหาคนตกงานจะเริ่มต้นออกฤทธิ์ก่อนในตลาดเกิดใหม่ แล้วค่อยลามไปยังตลาดสหรัฐฯ เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้คนตกงาน เศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอลงเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
กรีนสแปนยังยอมรับว่า ภาวะที่ว่ายังคาดเดาไม่ได้ว่า จะหนักแค่ไหนและยาวนานเท่าไหร่ การที่ดัชนีตลาดหุ้นร่วงมากว่า 20% ใน 2 เดือน ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี
แม้สิ่งที่กรีนสแปนพูดอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป แต่สิ่งที่เรารู้แน่ ๆ คือวิกฤติจะเกิดแน่นอน ประเด็นคือเมื่อไหร่ ? ใช่ตอนนี้หรือไม่ ? ไม่มีใครตอบได้ ชัดเจน
สถานการณ์ที่ “โลกไม่สวย” จากนี้ไป นักลงทุนมีสองทางเลือกคือ 1. ทำใจ 2. ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ของตลาด
แรกสุดที่ต้องยอมรับว่าจุดดีของการที่ดัชนีตลาดร่วงหนัก ทำให้ราคาตลาดของหุ้นลงมาให้ซื้ออย่างสมเหตุสมผลมากมาย จากค่าพี/อีที่ต่ำลง บางรายค่า พี/บีวี ที่ต่ำกว่า 1 เท่า บอกว่าน่าซื้ออย่างมากถ้ามีเงินสดในมือ
เพียงแต่เรื่อง “ทำใจ” (ไม่ว่าจะถืออุเบกขาหรือไม่) ก็เลี่ยงไม่พ้น เพราะช่วงยามนี้ มุมมองแบบ “โลกสวย” ช่วยอะไรมากไม่ได้ หรือช่วยได้ระดับต่ำมาก
เพียงแต่ชีวิตบนเส้นทางการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอนั้น นี่มิใช่วิกฤติเลวร้ายสุด เพราะฉะนั้น การกอดกระชับมุมมองอนาคตที่เลวร้าย คงไม่ใช่เรื่องน่ายินดี และไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
หนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจคือ การยอมรับในปรัชญาเก่าแก่แบบสุนิยมที่ว่าด้วย “โลกที่เป็นไปได้ดีที่สุด” ของนักคิดเยอรมันหรือ The Best of All Possible World ซึ่งในมุมของนักคิดที่เชื่อมั่นทางด้านวิทยาศาสตร์เคยโจมตีมาแล้ว
ความคิดที่สอนให้คนมองโลกในแง่ดีโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือ ลัทธิสุทรรศนิยมของไลบ์นิซ นักปราชญ์ชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 17 ที่เชื่อว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระเจ้าประทานมาเป็นไปด้วยดี”
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ไลบ์นิซ นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาคู่ปรับของไอแซค นิวตัน ได้เขียนบทความทางปรัชญาชื่อดัง Essays of Theodicy on the Goodness of God, the Freedom of Man and the Origin of Evil) เพื่อตอบโจทย์ที่ตกค้างและถกเถียงทางคริสต์จักรว่า ทำไมการดำรงอยู่ของสิ่งชั่วร้ายจึงแพร่กระจายทั่วจักรวาล
ไลบ์นิซเริ่มด้วยคำถามปริศนาว่า ถ้าพระเจ้า (คริสต์) ทรงเป็น “ที่สุดของความรอบรู้แห่งจักรวาล” เหตุใดความอยุติธรรม และทุกเทวษจึงดำรงอยู่
จากคำถามดังกล่าวไลบ์นิซสรุปออกมาเป็นข้อ ๆ ว่า
1) พระเจ้าทรงออกแบบจักรวาลไว้หลายรูปแบบไม่จำกัด
2) ในบรรดาจักรวาลทั้งหมด มีจักรวาลเดียวเท่านั้นที่ดำรงอยู่จริง (แต่อาจจะมีหลายโลก และหลากมิติ)
3) จักรวาลที่พระเจ้าทรงเลือกให้ดำรงอยู่ มีเหตุผลในตัวเอง
4) พระเจ้าทรงมีความดีสัมบูรณ์ยิ่งยวด
5) ดังนั้นจักรวาลที่พระผู้ทรงความดีสัมบูรณร์ยิ่งยวดเลือก จึงมีแต่สิ่งดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หรือโลกที่เป็นไปได้ดีที่สุด
บทสรุปแบบ “สีข้างเข้าถู” เกิดผิดที่ผิดเวลาอย่างยิ่ง เพราะความเฟื่องฟูของการค้นพบความรู้ “วิทยาศาสตร์” ใหม่ ๆ ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกของโลก ทำให้ข้อเสนอถูกวิพากษ์ย่อยยับ
หนึ่งในเสียงวิพากษ์ปรัชญา “โลกที่เป็นไปได้ดีที่สุด” ได้แก่ วอลแตร์ ที่ลงมือชำแหละ “ไลบ์นิซ” จนละเอียดเป็นผุยผงในนิยายเสียดสี “ก็องดีด” อันลือลั่น
วอลแตร์ไม่เพียงแค่วิพากษ์ไลบ์นิซเท่านั้น ยังมุ่งเลยไปโจมตีสถาบันศาสนา โจมตีความคิดที่งมงายและพิธีกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงเสียดสีคณะพระที่ได้แสวงหาความร่ำรวยและอำนาจความเป็นใหญ่ หรือพระที่ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม เขายังต้องการคัดค้านสงครามและต่อต้านการล่าอาณานิคมและการค้าทาสในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังได้คัดค้านวิถีชีวิตแบบธรรมชาติเกินไปหรือ คนเถื่อนผู้ทรงเกียรติ (noble savages) ที่รุสโซเสนอ
วอลแตร์ใช้นิยาย “ก็องดีด” เป็นรูปแบบของโจทย์เรื่องความเป็นไปในโลกนี้ เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญภัยพิบัติจากธรรมชาติและจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน ดังเห็นได้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองลิสบอน และสงครามเจ็ดปีระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศอังกฤษ ที่สร้างความเสียหายและคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย ทำให้เขาตั้งคำถามขึ้นว่าเขาควรจะยังไว้วางใจในระบบความเชื่อที่มีอยู่ ควรจะเชื่อถือในสถาบันต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบหลักของสังคมของเขาต่อไปหรือไม่ เขาควรจะเชื่อมั่นในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ และหวังจะรังสรรค์ผืนแผ่นดินและสังคมขึ้นใหม่หรือไม่
ในเรื่อง ก็องดีดต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่าง ๆ นานาตลอดการเดินทางของเขาจากแคว้นเวสท์ฟาลีในเยอรมันตะวันตกไปทางทิศตะวันออกสู่ทวีปอเมริกาใต้ ในส่วนนี้จะชี้ให้เห็นความเป็นจริงในโลกที่ก็องดีดเผชิญล้วนแต่เป็นสิ่งที่เลวร้าย ทั้งจากภัยธรรมชาติ (วาตภัย แผ่นดินไหว เรือล่ม เป็นต้น) และภัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ (สงคราม ความบ้าคลั่งทางศาสนา การค้าทาส โรคระบาด เป็นต้น) วอลแตร์แสดงให้เห็นว่าไม่มีระบบความคิดทางปรัชญาหรือศาสนาใด ๆ ที่จะขจัดความเลวร้ายเหล่านี้ไปจากมนุษย์ได้
ต่อมาส่วนที่สอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของนิยาย เรื่องเกิดขึ้นในสู่ทวีปอเมริกาใต้ ก็องดีดได้เรียนรู้เรื่องราวจากเมืองในฝัน 3 เมือง ได้แก่ เมืองในฝันด้านการเมือง เมืองในฝันด้านวิถีชีวิตตามธรรมชาติ และเมืองในฝันด้านปรัชญา (มีเงื่อนไขบางประการที่จะทำให้เกิดเมืองในฝันได้ เช่น ขนาดต้องไม่ใหญ่เกินไป มีทรัพยากรธรรมชาติที่เพียงพอ มีปราการธรรมชาติ และการพรางตาจากโลกภายนอก) ที่ล้วนไม่เหมาะกับสามัญมนุษย์จะอยู่อาศัย
ในตอนท้ายวอลแตร์ก็ได้ชี้ทางออกการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่าง “ตีนติดดิน” คือ แต่ละคนต้องทำงานร่วมกัน
บทสรุปของวอลแตร์คือการทำความเข้าใจ สำคัญกว่าการทำใจ
นักลงทุนในตลาดหุ้น ก็มีทางเลือกในสถานการณ์แปรปรวน ถ้าอยากอยู่สู้ต่อไป คือ ทำใจ แบบไลบ์นิซ หรือทำความเข้าใจ แบบวอลแตร์