เมื่อจีนเป็นหวัด
ความใหญ่ของเศรษฐกิจจีนนั้นไม่อาจปฏิเสธได้ คนที่คิดปฏิเสธคือคนที่หลุดโลก
พลวัต ปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
ความใหญ่ของเศรษฐกิจจีนนั้นไม่อาจปฏิเสธได้ คนที่คิดปฏิเสธคือคนที่หลุดโลก
คำกล่าวเมื่อสองทศวรรษว่า เมื่อใดที่จีนเป็นหวัด ชาติข้างเคียง มีโอกาสเข้าไอซียู อาจจะดูเกินเลยไปบ้าง แต่ต้องยอมรับว่ามีโอกาสเป็นไปได้ หากประมาทเลินเล่อ
ล่าสุดเช้าวานนี้ มีการประกาศตัวเลขล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน อยู่ที่ระดับ 49.7 ในเดือนธันวาคม ลดลงจากเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.2 โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนขยายตัวต่ำกว่า 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560
การตีความทั่วไป ระบุว่าเมื่อดัชนี PMI เคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนอยู่ในภาวะหดตัว ขณะที่ดัชนีที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 บ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวในภาคการผลิต
ไม่ต้องสงสัยอะไรเลยว่า ฤทธิ์เดชของสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ส่งผลรูปธรรมที่ชัดเจน
ผลพวงที่ตามมาจากข่าวร้ายดังกล่าว ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ร่วงไปกว่า 25 จุด และฮั่งเส็งของฮ่องกงร่วงกว่า 600 จุด
การถดถอยของเศรษฐกิจจีน ทำให้ตอกย้ำแนวทางวิเคราะห์เมื่อกลางเดือนธันวาคมของนายเจสัน ดอว์ นักวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนของธนาคารใหญ่ฝรั่งเศส โซซิเอเต้ เจนเนอราล ในสิงคโปร์ ล่าสุดเพิ่งออกบทวิเคราะห์ตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกว่า ปีที่แล้วที่เพิ่งผ่านไปเป็นแค่การเผาหลอกเท่านั้น ปีนี้ต่างหากตลาดเกิดใหม่จะมีปรากฏการณ์เผาจริง
เหตุผลที่นายดอว์นำมาอธิบาย คือ ปริมาณเงินหมุนเวียนในตลาดเก็งกำไรทั่วโลกจะเหือดหายลงไปมากทีเดียว เพราะมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของโลกจากสหรัฐฯ และล่าสุดสหภาพยุโรปที่เรียกว่า QE ถูกยกเลิกไป (เหลือแค่เพียงญี่ปุ่นที่คงเพิ่มมาทดแทนไม่ได้)
ปริมาณเงินที่เหือดแห้งลง ตามมาด้วยผลพวงต่อเนื่องของเงินเฟ้อ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของชาติต่าง ๆ จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราหวั่นไหว เงินจะไหลจากการปรับพอร์ตจากตลาดเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงสูงไปสู่ตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า
ตลาดตราสารหนี้ หรือตลาดพันธบัตรจะกลายเป็นตลาดที่ถือว่าปลอดภัยกว่า แต่ตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน จะเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ส่วนหนึ่งของความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดเจนคือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะย่ำแย่ลงเพราะสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ทำท่าบานปลายต่อเนื่องเป็นศึกยืดเยื้อยาวนาน
ดังนั้น ไม่ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยกี่ครั้ง ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะทุ่มเงินแทรกตลาดเงินมากแค่ไหน หรือราคาน้ำมันจะขึ้นหรือลง ความเสี่ยงของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่อย่าง อินเดีย บราซิล จีน จะพุ่งแรง ส่วนตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ก็น่าจะมีผลข้างเคียงตามไปด้วย
จีนเองก็ดูเหมือนจะรู้ตัวดีถึงผลสะเทือนทางลบนี้ เพราะเมื่อกลางเดือนธันวาคม ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ประกาศเปิดตัวเครื่องมือทางการเงินประเภทใหม่ เพื่อกระตุ้นการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็กและบริษัทเอกชน
เครื่องมือประเภทใหม่นี้มีชื่อว่า โครงการเงินกู้ระยะกลางแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (targeted medium-term lending facility หรือ TMLF) โดยขณะนี้ ทางแบงก์ชาติกำลังเปิดรับสมัครธนาคารที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อรับเงินทุนระยะยาวที่มีเสถียรภาพ นำไปสนับสนุนธุรกิจของตนต่อไป
PBOC ระบุว่า ระดับการเข้าถึงโครงการ TMLF สำหรับสถาบันการเงิน จะขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตของเงินกู้ที่ปล่อยให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม รวมถึงบริษัทเอกชน
ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ธนาคารแบบรวมหุ้น และธนาคารพาณิชย์ประจำหัวเมืองใหญ่ ที่มีการปล่อยกู้เป็นจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง และมีการดำเนินการตรงตามเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคงในภาพรวมนั้น จะมีสิทธิสมัครเข้าโครงการ TMLF ซึ่งครบกำหนดสูงสุด 3 ปี ในอัตราดอกเบี้ย 3.15% ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 0.15%
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางจีนใช้เครื่องมือทางการเงินอย่าง MLF เพื่อบริหารสภาพคล่องระยะสั้นและระยะกลางในระบบธนาคารของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังได้ประกาศเพิ่มโควตาการได้รับเงินกู้ relending และ rediscount อีก 1 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากการประกาศเพิ่มโควตาก่อนหน้านี้ได้ปรากฏให้เห็นประสิทธิภาพในการส่งเสริมการจัดหาเงินทุนแก่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม รวมถึงบริษัทเอกชน
มาตรการของ PBOC สอดรับกับแนวทางของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศจีน (CSRC) หรือ ก.ล.ต.จีน ที่เตรียมสนับสนุนให้บริษัทหลักทรัพย์จีนออกโครงการซื้อหุ้นคืน และทำธุรกรรมควบรวมกิจการและซื้อกิจการ (ทั้งฉันมิตรหรืออื่น ๆ) อีกทั้งเตรียมเพิ่มสภาพคล่องในตลาด พร้อมลดการแทรกแซงตลาดทุนหากไม่จำเป็น เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้นสำหรับนักลงทุน พร้อมระบุว่า CSRC จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนระยะยาวเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
ประกาศดังกล่าวแม้จะไม่มีผลเกิดขึ้นทันที แต่ในยามที่ค่าหยวนต่ำสุดในรอบหลายปีเทียบกับดอลลาร์ และมีแนวโน้มสำนักวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์เรื่องการลงทุนก็กำลังคิดจะปรับลดอัตราเติบโตของจีดีพีจีนลง ก็ถือเป็น “ขอนไม้ผุกลางลำธารเชี่ยว” และเป็น “มือที่มองเห็น” ในกลไกเศรษฐกิจแบบจีนที่เลียนแบบยาก เพียงแต่ในเชิงสัญลักษณ์ ถือว่าเป็นแค่การทำให้บรรยากาศ “หมี” ในตลาดหุ้นจีนที่ดำเนินมานานหลายเดือน พอมีความหวังมากขึ้นว่า ก.ล.ต.จีนยัง “เอาอยู่”
นอกจากนั้น จีนยังสร้างตัวช่วยอีกหลายด้าน เช่นมาตรการปล่อยสินเชื่อที่ยืดหยุ่นของธนาคารพาณิชย์ มาตรการของบริษัทหลักทรัพย์ มาตรการจูงใจต่างชาติเข้ามาในตลาดทุนจีน และการกำกับค่าเงินหยวน
เรียกว่าเตรียมกองหลังให้สนับสนุนกองหน้าเต็มตัวทีเดียว เพื่อรับกับสถานการณ์เลวร้าย
การเตรียมความพร้อมของจีน ยืนยันจากท่าทีของผู้นำอย่าง สีจิ้น ผิง ที่กล่าวในการประชุม G20 เมื่อเดือนธันวาคมว่า จีนยอมรับและเตรียมความพร้อมในการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ต่อไป เพราะเจตนารมณ์ที่เขาแบกรับมาจากสมัชชาประชาชนจีนปีก่อนหน้านี้คือ ทำให้ยุคสมัยของเขาแตกต่างจากยุคเหมาและเติ้ง ด้วยการยกระดับเป็นเจ้าเทคโนโลยีของโลก ใช้แนวคิดการพัฒนาใหม่ที่เน้นวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โปร่งใส และกระจายประโยชน์ ภายใต้คำขวัญ “เมด อิน ไชน่า 2025” ที่เป็นต้นเหตุของสงครามการค้าในปัจจุบัน
ภารกิจอันใหญ่หลวงที่สีต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า 2 เรื่อง (แลกกับฉันทานุมัติให้เขาเป็นผู้นำพรรคโดยไม่กำหนดเวลา) คือ 1) ให้จีนเป็นเจ้าเทคโนโลยีตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2) ผลักดันถนนสายใหม่ “One Belt, One Road” มีความคืบหน้าให้มากที่สุด เพื่อสลัดทิ้งจากโมเดลเศรษฐกิจเดิม ๆ ของธนาคารโลก-กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
เรื่องแรกมีความสำคัญมากสุด เพราะหากไม่สำเร็จ อนาคตของจีนก็จะตกเป็นเบี้ยล่างสหรัฐฯ ไปอีกยาวนาน แต่เรื่องหลังก็ไม่อาจทิ้งได้ เพราะไม่เช่นนั้นชาติในโครงการที่จีนไปชักชวนมาร่วมวงศ์ไพบูลย์จะมองว่า สี จิ้นผิง เป็น “ศรีธนญชัย”
เป้าหมายที่ไม่อาจถอยหลังกลับเช่นนี้ ทำให้แรงกดดันที่สี จิ้นผิงและพวกต้องแบกรับเป็นปรากฏการณ์ “สี ทนได้” จึงเป็นเดิมพันที่ใหญ่มหึมาสำหรับอนาคตจีน เพราะมาตรการที่ออกมาใหม่ มุ่งไปที่การลดการพึ่งพารายได้จากการค้าระหว่างประเทศที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในช่วง 20 ปีนี้ของจีน (คิดเป็น 33% ของ GDP)
การ “ติดหวัด” ของจีนจากตัวเลข PMI จึงเป็นระยะเปลี่ยนผ่านสำคัญที่ถือเป็นบทพิสูจน์รากฐานเศรษฐกิจของจีน แต่สำหรับชาติอื่น ๆ ที่มีความเปราะบางกว่า ช่วงเวลานี้ หมิ่นเหม่ต่อหายนะไม่น้อย