สัญญาลมๆแล้งๆ
ในที่สุด การเลือกตั้งที่เคยมีสัญญาประชาคมเอาไว้เดือนกุมภาพันธ์ ก็มีเค้าลางชัดเจนแล้วว่าต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด ด้วยข้ออ้างทางเทคนิค
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
ในที่สุด การเลือกตั้งที่เคยมีสัญญาประชาคมเอาไว้เดือนกุมภาพันธ์ ก็มีเค้าลางชัดเจนแล้วว่าต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด ด้วยข้ออ้างทางเทคนิค
เมื่อสายวานนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เปิดเผยว่า “ต้องเลื่อนเลือกตั้ง และจัดตารางกิจกรรมการเมืองให้ลงล็อก” ไม่ให้กระทบงานพระราชพิธี ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้กระทบการเลือกตั้ง แต่ไปกระทบกระบวนการหลังการเลือกตั้ง เช่น 24 กุมภาพันธ์ เลือกตั้ง จะทำให้ 24 เมษายน ประกาศผลจะตรงกับพระราชพิธีบางอย่าง
คำพูดดังกล่าว ทำให้การประชุม กกต.ที่จะมีขึ้นเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ไร้ความหมายอีกต่อไป
เหตุผลที่อ้างเรื่องงานพระราชพิธี กลายเป็นความชอบธรรมของกลุ่มคนที่ไม่ต้องการเลือกตั้งโดยปริยาย ในขณะที่สัญญาประชาคมกับชาวโลก ก็เป็นแค่สายลมที่ปลายลิ้นที่กระดกไร้กระดูกธรรมดา
บรรดาพรรคการเมืองที่เตรียมตัวและสรรพกำลังอย่างเอาจริงเอาจัง ก็คงต้องหงายเงิบกันไป พร้อมกับกลุ่มคนทั่วไปที่เคยเชื่อว่าในช่วงก่อนการเลือกตั้งเศรษฐกิจจะคึกคักจากเงินสะพัดที่เกิดขึ้น
ส่วนประเด็นว่าเจตนารมณ์ของการเลื่อนออกไปจะเกี่ยวข้องกับผลการเลือกตั้งของใครบ้าง ก็ว่ากันไป
สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น การเลื่อนเลือกตั้งไม่ใช่ข่าวดีแน่นอน เพราะโอกาสที่จะมีกระแสข่าวที่ส่งเสริมหรือดันราคาหุ้นบางรายการ จะมีน้อยหรือไม่มี เป็นเรื่องธรรมดา
ยิ่งล่าสุดอนาคตของเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม ไม่เป็นใจเอาเสียเลย
ล่าสุด นอกจาก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนธันวาคม ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 แล้ว ยังตามมาด้วยดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี ขณะที่ภาคการผลิตของเยอรมนีขยายตัวต่ำสุดรอบ 33 เดือน และสเปนขยายตัวต่ำสุดรอบกว่า 2 ปี ส่วนภาคการผลิตของฝรั่งเศสหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 27 เดือน ขณะที่อิตาลีหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
ในด้านสงครามการค้า แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะพยายามป่าวร้องทวาร ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน เป็นไปได้ แต่ตัวแทนสายเหยี่ยวที่ทำหน้าที่เจรจา นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) กลับสวนทางกล่าวว่า เขาต้องการขัดขวางไม่ให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยอมรับ “สัญญาลม ๆ แล้ง ๆ” จากจีนในการเจรจาแก้ไขความขัดแย้งทางการค้า
ล่าสุดการที่ แอปเปิล อิงก์ ประกาศปรับลดคาดการณ์รายได้ประจำไตรมาสแรกของปีการเงินของบริษัทซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา จากเดิมที่คาดไว้ในช่วง 8.9-9.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงเหลือ 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ ส่งผลให้ราคาหุ้นแอปเปิลดิ่งลงอย่างหนักในการซื้อขายนอกเวลาทำการ และส่งผลกระทบต่อหุ้นบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกันด้วย
เหตุผลของแอปเปิล อิงก์ โดย นายทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่ระบุว่า เป็นผลจากยอดขาย iPhone ที่ชะลอตัวลงในจีน ทั้งจากเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงเพราะได้รับแรงกดดันจากข้อพิพาททางการค้าแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนยังเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าจากแอปเปิล เพราะแอปเปิลเป็นบริษัทของสหรัฐฯ และหันไปซื้อสินค้าจากบริษัทจีนแทน เช่น หัวเว่ย
ไม่เพียงเศรษฐกิจโลกจะออกอาการแย่ เศรษฐกิจไทยเองก็เริ่มส่อแววแผ่วลงชัดเจนขึ้น
ล่าสุด สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 101.73 ขยายตัว 0.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.65% จากเดือนพฤศจิกายน 2561
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 102.30 ขยายตัว 0.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.01% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 102.62 ขยายตัว 0.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.36% เมื่อเทียบเดือนพฤศจิกายน 2561 ส่วนดัชนีหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.25 ขยายตัว 0.06% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ส่งผลให้ CPI ปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ย 1.07% ส่วน Core CPI ขยายตัว 0.71%
อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคมที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 บ่งบอกถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อมีคำอธิบายว่า มีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาพลังงาน และราคาผลผลิตทางการเกษตรบางชนิดตามปริมาณผลผลิตที่ออกมา ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นยังขยายตัวได้ สอดคล้องกับเครื่องชี้อุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ดังนั้น แม้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2561 ขยายตัว 1.07% อยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.8-1.6% ก็ไม่ใช่ข่าวดี เพราะด้านหนึ่ง ราคาสินค้าอุตสาหกรรมแพงขึ้น สวนทางกับราคาผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ (อาหาร) ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของฤดูกาลและเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิต รวมทั้งความต้องการจากในประเทศและต่างประเทศที่ส่งผลต่อราคาทั้งด้านบวกและลบ
ที่น่าสนใจคือ กระทรวงพาณิชย์ตั้งสมมติฐานว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปีนี้มีโอกาสจะขยายตัวได้มากกว่าระดับที่ประมาณการไว้ที่ 0.86% ซึ่งอาจจะอยู่ในระดับ 1% ได้ เนื่องจากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศเกิดขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียง เช่น วัสดุอุปกรณ์ทำป้ายผู้ลงสมัคร, รถกระบะ เป็นต้น นอกจากนี้ การเลือกตั้งยังมีผลต่อความเชื่อมั่นของทั้งประชาชนและนักลงทุนในการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นด้วย
แน่นอนว่า สมมติฐานดังกล่าวใช้การไม่ได้แล้ว
เมื่อปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ พลังขับเคลื่อนตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรคงเดาไม่ยาก
คำพูดของใครบางคนที่พล่อย ๆ ว่า ไม่ได้เลือกตั้งจะ “ตายห่ากันรึไง” คงได้พิสูจน์กันแน่นอนว่า สัญญาลม ๆ แล้ง ๆ จะส่งผลลบหรือบวกแค่ไหน