เลื่อนแล้วบานปลาย

เลื่อนเลือกตั้งไหม ? ถึงตอนนี้ยังไงก็เลื่อน เพราะ 24 ก.พ. ไม่ทันแล้ว เว้นแต่จะประกาศพระราชกฤษฎีกาในวันจันทร์ อังคาร แล้ว กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง 24 ก.พ.ทันที เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า กกต.ต้องรอให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาก่อน จึงกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน


ท้ายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

เลื่อนเลือกตั้งไหม ? ถึงตอนนี้ยังไงก็เลื่อน เพราะ 24 ก.พ. ไม่ทันแล้ว เว้นแต่จะประกาศพระราชกฤษฎีกาในวันจันทร์ อังคาร แล้ว กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง 24 ก.พ.ทันที เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า กกต.ต้องรอให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาก่อน จึงกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน

เข้าใจตรงกันนะ ที่หลายคนไปกดดัน กกต.นั้นไม่ถูก กกต.ไม่มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้งเอง กกต.ต้องรอประกาศพระราชกฤษฎีกา สมมติประกาศวันที่ X กกต.ก็ต้องกำหนดวันเลือกตั้ง เป็นวันที่ X+45 ถึง X+60 แล้วสมมติเลือกตั้งวันที่ Y กกต.ก็ต้องรับรองผลเลือกตั้งภายในวันที่ Y+60 เพื่อให้เปิดประชุมสภาได้

ทบทวนกันอีกครั้ง ตามผังที่รัฐบาล คสช.ฉายสไลด์ให้พรรคการเมืองดูตอนประชุมร่วมกับ กกต. คือวันที่ 2 ม.ค.ประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 4 ม.ค. กกต.กำหนดวันรับสมัคร ส.ส. (14-18 ม.ค.) กำหนดวันเลือกตั้ง 24 ก.พ. หลังเลือกตั้ง กกต.ก็ต้องประกาศรับรองผลภายในวันที่ 25 เม.ย. จากนั้นภายใน 3 วัน คสช.ต้องคัดเลือก 250 ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ และภายใน 15 วัน ซึ่งคาดว่าจะเป็น 9 พ.ค. ก็มีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เดินหน้าสู่กระบวนการเลือกประธาน เลือกนายกฯ ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ เมื่อใด ครม.ชุดนี้และ ม.44 จะหมดไปทันที

แต่ตอนนี้ วันเลือกตั้งกลับไปสู่ความไม่แน่นอน ขึ้นกับประกาศพระราชกฤษฎีกาเมื่อไหร่ ถ้าเอาตามความเหมาะสมของวิษณุ เครืองาม ที่ชี้ว่าควรเป็น 24 มี.ค. ก็จะเลื่อนวันประกาศรับรองผลไปเป็นภายใน 22 พ.ค. ซึ่งฟังเหมือนไม่มีปัญหาอะไร ช้าไป 1 เดือน คงไม่ลงแดงตาย อย่าง “ท่านใหม่” ว่า

กระนั้นก็จะมีปัญหาการตีความ ที่อดีต กกต.สมชัยตั้งคำถามมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 268 บทเฉพาะกาล กำหนดให้ “การเลือกตั้งแล้วเสร็จ” ภายใน 150 วันหลัง พ.ร.ป.เลือกตั้งบังคับใช้ คือวันที่ 9 พ.ค.นั้น รวมถึงต้องประกาศผลให้แล้วเสร็จหรือไม่

อดีต กรธ.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โต้อดีต กกต.สมชัยว่า 150 วันหมายถึงวันเลือกตั้งเท่านั้น แต่หลายคนก็ยังสงสัย เพราะคำว่า “วันเลือกตั้ง” กับ “เลือกตั้งแล้วเสร็จ” น่าจะต่างกัน ไม่มีอะไรรับประกันว่า ถ้าหลังเลือกตั้งมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลจะตีความตาม กรธ.

ถ้าศาลตีความตรงข้าม เห็นว่าเลือกตั้งโมฆะ อดีต กรธ.ทั้งคณะจะเอาหัวเป็นประกันไหม

ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะยุ่งกันไปใหญ่ อย่างที่หมอเลี้ยบอธิบายว่า ถ้าเลือกตั้งโมฆะ รัฐบาล คสช. สนช. ก็จะอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีอะไรบังคับว่าต้องเลือกตั้งเมื่อไหร่

ปัญหาอีกประการคือ หลังเลือกตั้ง 60 วันระหว่างรอ กกต.ประกาศรับรองผล ซึ่งตรงกับพระราชพิธีนั้น หลายคนพูดราวกับว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สังคมหยุดนิ่ง หยุดความสนใจทางการเมืองโดยสิ้นเชิง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่

สมมติเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ไม่เกินวันรุ่งขึ้น ก็จะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการ ว่าพรรคไหนได้ ส.ส.กี่คน ได้คะแนนเท่าไหร่ ซึ่งถ้าชัดเจนไปเลยว่าใครได้เป็นรัฐบาล สมมติเช่นพลังประชารัฐชนะเกินครึ่ง ก็แล้วไป แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่จะไม่มีพรรคใดฝ่ายใดชนะเด็ดขาด ต้องเกิดการเจรจา ล็อบบี้ ต่อรอง กระแสสื่อกระแสสังคมก็จะกะเก็ง วิจารณ์ขรม จับขั้วพรรคนั้นพรรคนี้ กกต.ซึ่งจะทยอยรับรองผล (ไม่ใช่เก็บไว้ประกาศครั้งเดียว) ก็เจอแรงกดดันหนักเมื่อแจกใบเหลืองใบส้ม

60 วันจึงอาจเป็นช่วงการเมืองร้อนแรง สับสน หรืออึมครึม อลวน ไม่ใช่ช่วงการเมืองสงบอย่างที่คิดกัน

 

Back to top button