พาราสาวะถี
ครม.สัญจรกับรัฐมนตรีหาเสียง อุ๊บ!รัฐมนตรีตรวจราชการ รอบนี้ยกโขยงกันไปที่จังหวัดเชียงใหม่และลำปาง เนื้อหาสาระจากปากของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอะไรที่ไม่ต้องตีความ คงไม่ต้องบอกเสียด้วยซ้ำไปว่าจะพูดว่าอะไรบ้าง การเมืองก็ยังเป็นเรื่องเลือกให้ดี ไม่เลือกคนที่ทำผิด แต่ไม่ยักบอกว่าต้องเลือกคนใหม่อย่าไปเลือกแบบเดิม
อรชุน
ครม.สัญจรกับรัฐมนตรีหาเสียง อุ๊บ!รัฐมนตรีตรวจราชการ รอบนี้ยกโขยงกันไปที่จังหวัดเชียงใหม่และลำปาง เนื้อหาสาระจากปากของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอะไรที่ไม่ต้องตีความ คงไม่ต้องบอกเสียด้วยซ้ำไปว่าจะพูดว่าอะไรบ้าง การเมืองก็ยังเป็นเรื่องเลือกให้ดี ไม่เลือกคนที่ทำผิด แต่ไม่ยักบอกว่าต้องเลือกคนใหม่อย่าไปเลือกแบบเดิม
คงเป็นเพราะเขินหรืออายที่พรรคในคาถาอย่างพลังประชารัฐ ไล่ตั้งแต่แกนนำที่ไม่นับรวม 4 รัฐมนตรีไปจนถึงอดีตส.ส. อดีตรัฐมนตรีที่เข้ามาร่วมงาน ล้วนแล้วแต่เป็นของเก่าหรือเข้าทำนองพวกนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลวที่หัวหน้าเผด็จการและชาวคณะช่วยกันรุมประณามและไม่ให้ราคามานับตั้งแต่ยึดอำนาจ เพิ่งมาเปลี่ยนท่าทีเอาช่วงขวบปีที่มีพรรคการเมืองของตัวเองนี่เอง
แต่จับสัญญาณจากการเลื่อนเลือกตั้ง ผนวกเข้ากับการไม่ยอมประกาศตัวให้ชัดว่าจะตอบรับนั่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพปชร.หรือไม่ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา กระแสที่เคยร้อนแรง ยิ่งนานวันยิ่งแผ่วลง เข้าสู่โซนอันตรายประเภทหย่อนบัตรไปไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ที่ตั้งเป้าจะกำไรกลายเป็นเสียของไปเสียฉิบ
เหตุผลหนึ่งมาจากการเลือกใช้บริการนักการเมืองประเภทคอนเน็กชั่นสุดยอด แต่คนเหล่านี้มีดีก็มีเสีย เพราะบริวารรอบตัวมักจะแอ็กชั่นจนเกินงาม หรือแม้กระทั่งแกนนำเองพอได้อยู่หน้าไมค์ก็ปราศรัยแบบไม่ลืมหูลืมตา ประเด็นที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนเกิดความหมั่นไส้และรอจะสั่งสอนองคาพยพเผด็จการในวันเลือกตั้ง
ความจริงในแวดวงการเมืองมีการเตือนกันโดยตลอด บริบทของการเลือกสำหรับคนไทยหากเป็นเมื่อก่อนหวังผลจากการสาดกระสุนได้ แต่หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นไป ประชาชนไม่ได้เป็นแบบนั้นอีกต่อไป ประกอบกับความทันสมัยของเทคโนโลยี เข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย ยิ่งทำให้คนมีเหตุมีผลและอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัยเหล่านั้นมาช่วยในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดีด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำหรับการเลือกตั้งที่จะตัดสินใจว่าเลือกหรือไม่เลือกน่าจะมีอยู่เพียงแค่ 3 ประการเท่านั้นคือ ชอบ หมั่นไส้และสงสาร ปัจจัยแรกไม่ต้องรอข้อมูล ไม่ต้องมีอะไรมาประกอบการตัดสินใจทั้งหมด ชอบใคร เชียร์ใครก็รอวันที่จะไปกาบัตรเพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจัยนี้จะมีผลโพลมาเป็นเครื่องชี้วัด อย่างที่บอกว่า เหตุที่ทำให้เกิดการยึกยักเรื่องวันเลือกตั้ง ก็มาจากปัจจัยนี้เป็นสำคัญ
ส่วนเรื่องความหมั่นไส้นั้น อันนี้ถือเป็นนิสัยของคนไทยโดยส่วนใหญ่ ประเภทใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองแน่ แล้วก็แสดงออกให้คนเห็นว่าไม่มีใครทำอะไรข้ากับพวกข้าได้ จากที่เคยเฉย ๆ ก็เลยจะทำให้หันไปตัดสินใจเลือกอีกพวกหรืออีกข้างได้ในทันทีทันใด เพื่อเป็นการสั่งสอนว่าเวลามีอำนาจวาสนาแล้วอย่ายกตนข่มท่านหรือเหยียบหัวคนอื่น มองไม่เห็นว่าใครจะมาเก่งเกินตัวเองและพวกพ้องอีกแล้ว
ขณะที่เรื่องของความสงสารนั้น การเลือกตั้งหลังรัฐประหารปี 2549 เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจน ใครก็ตามที่คนส่วนใหญ่มองว่าถูกรังแกโดยไร้เหตุผลหรือถูกไล่ต้อนจนไร้ที่ยืน ทั้ง ๆ ที่คนที่กระทำเช่นนั้นก็หาได้ดีเด่นกว่าคนที่ถูกกระทำไม่ ปัจจัยนี้ถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญไม่น้อย ดังนั้น เราจึงจะได้เห็นว่าการทับถมคนที่ก็รู้ว่าเป็นใคร ในห้วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้มีให้เห็นน้อยมาก
เผด็จการยุคนี้จึงสร้างวาทกรรมการเคารพกฎหมายมาเป็นเครื่องมือ เพื่อที่จะทำให้สังคมเห็นว่าสิ่งใดก็ตามที่ได้กระทำไปไม่ใช่การใช้อำนาจบาตรใหญ่รังแกฝ่ายตรงข้าม แต่ก็ไม่ได้ทำให้สังคมส่วนใหญ่คล้อยตามเช่นนั้น เพราะกฎหมายหลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่คณะเผด็จการเขียนกันขึ้นมาเพื่อปิดปากหรือใช้สกัดกั้น ทำลายล้างฝ่ายต่อต้าน
มิหนำซ้ำ กรณีนาฬิกาหรูที่วันนี้จบในมุมของกระบวนการ แต่ในเชิงความรู้สึกของประชาชนสัมผัสกันได้ว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ยิ่งมีประเด็นยุติธรรมแบบป้อม ๆ ยิ่งทำให้น้ำหนักของความเคลือบแคลงที่มีอยู่เพิ่มขึ้นไปอีก และยังแผ่ขยายกลายไปเป็นประเด็นทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจสอบการทุจริตไปอีกต่างหาก
ยังมีการพูดถึงเรื่องผบ.ทบ.โจมตีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่คัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง โดย จาตุรนต์ ฉายแสง แสดงความเห็นว่า การพูดของผบ.ทบ.แสดงถึงความไม่เข้าใจเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตย มีอคติ คับแคบและเป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแตกแยกในสังคม ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นการชุมนุมแสดงความคิดเห็นย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพ ตราบใดที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไร จะว่าเป็นความวุ่นวายได้อย่างไร
ส่วน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็บอกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคือประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าไม่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง การเดินหน้าประชาธิปไตยวันนี้ แม้มีการเลือกตั้ง แต่กติกาในรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกออกแบบเป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงอยากให้ประชาชนส่งเสียงดัง ๆ โดยการไปเลือกตั้ง เพื่อให้ดังพอจน 250 ส.ว.แต่งตั้งต้องเคารพผลการเลือกตั้ง ไม่ให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งฝืนเสียงประชาชนแล้วนำไปสู่ความขัดแย้งอีก
หลักการถือว่าคมกริบ แต่พอพูดถึงประเด็นประชาธิปไตยสุจริต โดยอธิบายว่า คนที่อ้างตนเองเป็นประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้งนั้น ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต้องไม่ใช่แค่มีอำนาจ แต่ต้องใช้อำนาจอย่างสุจริตด้วย ไม่ใช่เพื่อพวกพ้องหรือบุคคล ละเมิดสิทธิของคนในสังคม จนนำไปสู่ความขัดแย้ง จึงมีคำขวัญว่า ประชาชนเป็นใหญ่ประชาธิปไตยสุจริต
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของกลอนพาไป เหตุผลง่าย ๆ ที่คนจะโต้แย้งอภิสิทธิ์ก็คือผิดตั้งแต่คนพูดแล้ว เพราะประชาธิปไตยโดยสุจริต ต้องเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ไปตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร ไม่ใช่การเกิดงูเห่าแล้วปล้นมติของประชาชนเสียงส่วนใหญ่ สิ่งสำคัญคือพรรคการเมืองที่อ้างประชาธิปไตยต้องไม่บอยคอตต์การเลือกตั้งแล้วไปโบกมือดักกวักมือเรียกทหาร แล้วคนแบบนี้พวกนี้อยากรู้นักว่าจะเรียกว่าเป็นนัก(อ้าง)หลักการหรือจะเรียกว่าอะไร