เสียงเตือนก่อนถึงปากเหว

สงครามชักเย่อเรื่องการหยุดใช้งบประมาณรัฐบางส่วน หรือภาวะชัตดาวน์ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่รู้ผลระหว่างทำเนียบขาวกับพรรคเดโมแครตในสภาล่าง เริ่มส่งสัญญาณเตือนออกมาแล้วว่า จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรกอย่างรุนแรง


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

สงครามชักเย่อเรื่องการหยุดใช้งบประมาณรัฐบางส่วน หรือภาวะชัตดาวน์ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่รู้ผลระหว่างทำเนียบขาวกับพรรคเดโมแครตในสภาล่าง เริ่มส่งสัญญาณเตือนออกมาแล้วว่า จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรกอย่างรุนแรง

ล่าสุดคำเตือนนี้มาจาก ฟิทช์ เรทติ้งส์ ยังออกรายงานเตือนว่า สหรัฐฯ อาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากระดับ Aaa ในปีนี้ โดยระบุว่า ปัญหาชัตดาวน์อาจส่งผลกระทบต่อเพดานหนี้ของประเทศ

นายเจมส์ แมคคอร์แมค หัวหน้าฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือของฟิทช์ กล่าวว่า หากภาวะชัตดาวน์ยังคงดำเนินไปจนถึงวันที่ 1 มี.ค. และส่งผลให้เพดานหนี้กลายเป็นปัญหาในอีกหลายเดือนต่อมา ฟิทช์อาจจำเป็นต้องเริ่มคิดถึงกรอบนโยบายและการที่รัฐบาลอาจจะไม่สามารถผลักดันงบประมาณผ่านรัฐสภา โดยฟิทช์จะพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ว่าจะสอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ Aaa หรือไม่

คำเตือนดังกล่าวช่วยย้อนสติคนอเมริกันว่า นับตั้งแต่เรตติ้งของรัฐบาลถูกปรับลดจาก AAA ในยุคเริ่มแรกของประธานาธิบดี บารัก โอบามา มาเหลือที่ Aaa ที่ฮือฮามาแล้ว เรตติ้งของรัฐบาลอเมริกันยังไม่เคยฟื้นตัวกลับมาดีเลย ส่งผลต่อต้นทุนการคลังในระยะยาวของประเทศตามไปด้วย

คำเตือนนี้ หากยังไม่ได้ผล และนำไปสู่การปรับลดเรตติ้งครั้งใหม่จริง เท่ากับภาวะชัตดาวน์ได้กลายเป็น “ก้อนกรวดในรองเท้า” ที่ชาวอเมริกันต้องสวมใส่ จะย้อนกลับก็ไม่ได้ จะเดินต่อไปก็เจ็บ คงทำได้แต่เพียงรอคอยให้ทุกขั้วอำนาจทางการเมืองยอมถอยคนละก้าว เพื่อเคาะทรายเม็ดนี้ออกจากรองเท้า เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนเดินต่อไปได้

ข้อเท็จจริงจากการต่อสู้เพื่อเอาชนะกันในทางอำนาจจน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีไม่สามารถผ่านออกมาบังคับใช้บางส่วน ต้องนำเงินสำรองมาทดรองจ่ายล่วงหน้าแก้ปัญหาบางส่วนไป สะท้อนว่าผู้นำพรรคการเมืองและทำเนียบขาวกำลังใช้ปัจจัยของความหวาดกลัว (Fear Appeal) มาประกอบคำอธิบายพฤติกรรมของฝ่ายตน

ภาวะชัตดาวน์ เป็นผลพวงมาจากการเสนอของบประมาณก่อสร้างกำแพงเหล็กกั้นผู้อพยพ 5,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.8 แสนล้านบาท ตลอดชายแดนติดต่อสหรัฐฯ-เม็กซิโก ทั้งที่แต่แรกนายทรัมป์ระบุว่าจะให้รัฐบาลเม็กซิโกออกงบก่อสร้างทั้งหมด แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากของพรรคเดโมแครตไม่ยอมผ่านให้ เพราะมองเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุที่สูญเปล่า

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ภาวะชัตดาวน์ได้กลายเป็นเครื่องมือการเมืองที่ทำให้ชาวอเมริกันฝันร้ายอีกครั้ง

สถานการณ์ชัตดาวน์ หรือการปิดทำงานของหน่วยราชการบางส่วนของรัฐบาลสหรัฐฯ กระทบต่อพนักงานรัฐ 8 แสนคน เนื่องจากร่างงบประมาณแผ่นดินยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จนยืดเยื้อทำลายสถิติกินระยะเวลายาวนานที่สุด

สถิติเดิมของการชัตดาวน์เกิดขึ้นในยุควิลเลียม “บิล” คลินตัน พรรคเดโมแครตเป็นประธานาธิบดี เมื่อปี 2538 ข้ามเข้าสู่ปี 2539 กินเวลารวม 21 วัน จากการขัดแย้งเมื่อตอนนั้น คลินตันต้องการจัดทำงบประมาณสมดุล แต่พรรครีพับลิกันต้องการให้ตัดลดงบประมาณลงอีกมาก

ส่วนสถานการณ์ข้ามปี 2561 มายังปี 2562 ครั้งนี้ มีรายละเอียดต่างออกไป เพราะสมาชิกสภาล่างและสภาสูงต่างลงมติให้จ่ายค่าจ้างคืนพนักงานรัฐทันที ในส่วนที่ยังทำงานต่อ แม้จะไม่ได้เงินค่าจ้าง หากที่ทำการเปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากไม่มีการออกเช็คค่าจ้างให้พนักงานรัฐ งวดวันที่ 11 ม.ค.

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวยืนยันระหว่างการเดินทางเยือนชายแดนสหรัฐฯ ติดเม็กซิโกว่า จะใช้มาตรการประกาศภาวะฉุกเฉินรับมือสถานการณ์ชัตดาวน์ และให้เกิดการสร้างกำแพงเหล็กกั้นผู้อพยพ และล่าสุด ประชดด้วยการสร้างข่าวจ่ายเงินซื้ออาหาร “แดกด่วน” มารับแขกในทำเนียบขาว เพราะพ่อครัวหยุดทำงานชั่วคราว

แม้นายทรัมป์จะทำเจ้าเล่ห์เรียกร้องให้พรรคเดโมแครตประนีประนอมเพื่อจบสภาวะชัตดาวน์ อ้างว่าจะเป็นชัยชนะของทุกคน แต่ก็ยังขู่ว่าพร้อมจะประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ แต่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาแห่งพรรคเดโมแครต ก็ยังไม่ตกหลุมพราง กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่เรื่องกำแพงกั้นระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา แต่เป็นกำแพงกั้นความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลนายทรัมป์ เป็นรอยแยกที่ใหญ่มาก และนายทรัมป์คือต้นตอของความแตกแยกนี้

คำเตือนล่าสุดของฟิทช์ เรตติ้งส์ ทำให้ นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส ธนาคารพาณิชย์อันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัว 0% ในไตรมาสแรกของปีนี้ หากการชัตดาวน์ยังคงยืดเยื้อต่อไป

นายไดมอนเรียกร้องให้บรรดาผู้นำของสหรัฐฯ ทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ขณะที่รัฐบาล, ประชาชน และภาคธุรกิจต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา และสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของทุกคน

คำเตือนดังกล่าว เปรียบได้กับการเหยียบเบรกก่อนที่รถจะแล่นถึงขอบปากเหว ในขณะที่คนขับรถกำลังทะเลาะกับผู้โดยสารบางคน จนไม่มีคนถือพวงมาลัย คำถามคือ ใครจะกล้าหยุดรถ หรือกระโดดออกนอกหน้าต่าง

คำตอบอยู่ที่ใครจะมีปัจจัยความหวาดกลัวมากกว่ากัน

 

Back to top button