สองด้านของการ (ไม่) เลือกตั้ง

คนอยากเลือกตั้ง กับคนไม่อยากเลือกตั้ง ล้วนมีเหตุผลของตนเอง ที่น่าสนใจเพราะต่างฝ่ายก็อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่า


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

คนอยากเลือกตั้ง กับคนไม่อยากเลือกตั้ง ล้วนมีเหตุผลของตนเอง ที่น่าสนใจเพราะต่างฝ่ายก็อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่า

ฝ่ายที่ไม่อยากให้เลือกตั้ง อ้างว่าการเลือกตั้งไม่ได้วัดว่าประเทศเป็นประชาธิปไตย พร้อมกับอ้างด้านมืดของกระบวนการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ประเด็นคือบางส่วนของคนไม่อยากเลือกตั้ง ที่กุมอำนาจรัฐและกองทัพที่อยู่เบื้องหลังของ คณะทหาร คสช. ที่นอกจากจะไม่ใส่ใจว่าการเลือกตั้งสำคัญแค่ไหน ได้ออกมาแสดงท่าที ข่มขู่ คุกคามการแสดงออกของฝ่ายที่อยากเลือกตั้ง เรื่องการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ มีความพยายามสกัดขัดขวาง การชุมนุม การสร้างเรื่องตลก ๆ เช่นพยายามตั้งข้อหาเรื่องเสียงดังเกินกำหนด และพยายามป้ายสีถึงเรื่องความไม่จงรักภักดี

หากใช้มุมมองแบบตัดตอน การเลือกตั้งในทางปฏิบัติยังคงมีปัญหาที่ทำให้เห็นชัดว่าการได้มาซึ่ง สส.และรัฐบาลหลังเลือกตั้ง อาจจะไม่ได้มีคุณภาพตามที่คาดหวังที่เป็นอุดมคติ

การใช้เงินซื้อคะแนนเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผ่านกลไกหัวคะแนนที่มีทั้งจัดตั้งและบังคับ (หัวคะแนนเลือกผู้สมัคร ผู้สมัครเลือกพรรค พรรคเลือกรัฐบาล) ยังคงเป็นรากฐานที่เป็นรูปธรรมไม่หนีไปไหน) ในขณะที่ช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้ง กับคนที่มีสิทธิลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง ยังคงเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ไร้ประสิทธิภาพ

ขณะที่พรรคซึ่งประกาศตัวสนับสนุนคณะทหารให้ต่ออายุออกไป ก็สามารถใช้กลไกที่ได้เปรียบสารพัดโกยเงิน หว่านทุ่มให้นักการเมืองระดับสัมภเวสีเข้าพรรค ตามมาด้วยการทำให้การเลือกตั้งยากเกินกว่าที่ควรจะเป็น (บัตรใบเดียว และวิธีคิดคะแนนพิสดาร กติกาประเภท 350 เขต 350 เบอร์ เข้าไปอีก) ตามมาตรการ “สลายพรรคการเมือง” (แต่ไม่ได้สลาย สว.ลากตั้งของตัวเองที่มี 250 คนรองรังอยู่แล้ว) ที่ทำให้การเลือกตั้งหนนี้ก็แทบจะเป็นปาหี่ไปเลย

กระบวนรูปธรรมที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่ต่อเนื่องของการเลือกตั้ง ที่ทำให้รัฐบาลที่มาจากกระบวนการนี้ถูกรัฐประหารซ้ำซาก โดยคนที่ทำรัฐประหารไม่เคยถูกลงโทษ จนกลายเป็นสิทธิอันชอบธรรมในการรัฐประหารโดยปริยาย

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้การเลือกตั้งสามานย์ลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่

– การออกแบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในรอบ 12 ปีนี้ เพราะคนออกแบบกลัว “ผีทักษิณ” จะกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง ผลลัพธ์คือยากต่อการทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น

– สื่อของรัฐและกองทัพ รวมทั้งแกนนำรัฐบาล ไม่มีความพยายามใด ๆ เลยที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยยุติธรรม โปร่งใส่ การกล่าวว่าให้ประชาชนเลือก “คนดี” (คำนิยามที่เลื่อนลอย) ไม่ใช่คำชี้แนะที่เป็นทางออก

– ฝ่ายทหารโดยเฉพาะผู้นำกองทัพบก (ซึ่งมีบทบาทสำคํญใน คสช.) มีท่าทีไม่เป็นมิตรต่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยเปิดเผยตั้งแต่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ถึงขั้นเคยกล่าวว่า ไม่การันตีว่าจะไม่มีรัฐประหารซ้ำอีก

ถึงตอนนี้ ข้ออ้างและเหตุผลของฝ่ายที่ต้องการไม่ให้เลือกตั้ง (ด้วยการเลื่อนเลือกตั้ง) อาจจะมีแต้มต่อเหนือกว่า โดยการอ้างถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ข้ออ้างและเหตุผลดังกล่าวเท่ากับการทำลายความชอบธรรมของฝ่ายไม่อยากเลือกตั้งเสียเอง เพราะกฎกติกาที่เขียนไว้รัดกุมเรื่องเงื่อนเวลาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก บังคับเอาไว้ล่วงหน้า

การไม่เลือกตั้งด้วยการเลื่อนเลือกตั้ง จึงเป็นการ “เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า” ที่ไม่อาจอ้างความชอบธรรมใด ๆ มาลบล้างได้

ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงสัญญาประชาคมกับชาวโลก ที่คณะทหาร คสช.ให้ไว้ ที่กลายเป็นแค่สายลมที่ปลายลิ้น ที่กระดกไร้กระดูกธรรมดา

ทางด้านฝ่ายที่อยากเลือกตั้งเอง เรียกร้องให้ คสช.ต้องรีบออกมากำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน และยังต้องทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มีหลักประกันได้ว่า ต้องเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมด้วย โดยอ้างถึงการที่ประชาชนทั้งประเทศรอคอยอย่างอด (อยาก) และทนกันมากว่า 4 ปีแล้ว กับความคาดหวังที่จะเห็นประชาธิปไตยกลับคืนมา และได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะมีกติกาพิกลพิการมากมายดักรออยู่

เหตุผลของฝ่ายอยากเลือกตั้งและไม่อยากเลือกตั้งที่ต่างขั้วกันอย่างมากนี้ มีโอกาสที่จะยกระดับขึ้นเป็นประเด็นที่เป็น “ความแตกต่างที่ไม่อาจประนีประนอมได้” ในระยะต่อไป หากมีประเด็นย่อยเข้ามาเสริมให้ความแตกต่างบานปลาย

คำถามเก่าว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งที่เชื่อมโยงไปถึงการดำรงอยู่ของอำนาจรัฐเผด็จการภายใต้ยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศ 20 ปีที่เลิศหรูเหนือจริง ล้วนไม่ใช่ข่าวดีสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเลย

ไม่ว่านักลงทุนจะเลือกอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม

 

Back to top button