พาราสาวะถี

ประกาศขีดเส้นให้รัฐบาลว่าหากวันนี้ยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา วันพรุ่งนี้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะนัดชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อกดดันต่อไป โดยในมุมของ ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มมองว่าหากเลือกตั้งช้ากว่าวันที่ 10 มีนาคม เกรงว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นสุ่มเสี่ยงที่จะโมฆะ


อรชุน

ประกาศขีดเส้นให้รัฐบาลว่าหากวันนี้ยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา วันพรุ่งนี้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะนัดชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อกดดันต่อไป โดยในมุมของ ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มมองว่าหากเลือกตั้งช้ากว่าวันที่ 10 มีนาคม เกรงว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นสุ่มเสี่ยงที่จะโมฆะ

ขณะที่ฝ่ายกุมอำนาจก็ไม่ได้คล้อยตามหรือหวาดหวั่นต่อคำขู่ดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะผู้คุมความมั่นคงอย่าง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ประกาศกร้าวเช่นกันว่า ห้ามมีการชุมนุมยืดเยื้อ โดยยกเอากฎหมายการชุมนุมสาธารณะมาเป็นข้ออ้างว่า ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่แบบวันต่อวัน อย่างไรก็ตาม ท่าทีของทั้งสองฝั่งคงเป็นการหยั่งเชิงกันเสียมากกว่า

เพราะตามข่าวที่ออกมาคือ จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งภายในเร็ววันนี้ ฟากฝั่งของกกต.ถ้าฟังเสียง พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา ผู้เป็นเลขาธิการ การยืนยันว่าเลือกตั้ง 24 มีนาคม กกต.มีเวลา 45 วันที่จะพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อให้อยู่ในกรอบของ 150 วัน อ่านสถานการณ์แบบนี้ ก็หมายความว่าสิ่งที่ฝ่ายเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็วเนื่องจากเกรงจะเป็นโมฆะก็คงไม่เกิด

ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่ากกต.เองก็เล่นลูกเพลย์เซฟ เพื่อไม่ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางและยังต้องรับผิดชอบในคดีแพ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย แม้จะมีเนติบริกรประจำรัฐบาลอย่าง วิษณุ เครืองาม และอดีตกรธ.อีกสองหน่อออกมายืนยันการันตีว่า การจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ไม่นับรวมการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ภายใน 60 วันก็ตาม

ความจริงแล้ว ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับกกต.ในการที่จะบริหารจัดการไม่ว่าจะเป็นความพร้อมหรือความรวดเร็วในกระบวนการทำงานทั้งหมด ที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งนั้นไม่ได้ล่าช้า เพียงแต่ว่าหนนี้มันมีเงื่อนไขของตัวเลขที่ต้องประกาศรับรองให้ได้จำนวนร้อยละ 95 บวกเข้ากับระบบการเลือกตั้งที่ปรับเปลี่ยนไป แต่วิธีการในการนับคะแนนและรวบรวมคะแนนก็ไม่ได้ยุ่งยากแต่ประการใด

เห็นด้วยอีกครั้งกับ ไพศาล พืชมงคล กุนซือของบิ๊กป้อมที่โพสต์เฟซบุ๊กระบุ ประเทศกูมี เขียนกฎหมายเรื่อง 150 วันแล้วตีความกันวุ่น ! พวกหนึ่งตีความตามตัวหนังสือและเจตนารมณ์ว่า 150 วันหมายถึงจัดการเลือกตั้งเสร็จคือประกาศผลการเลือกตั้งได้ส.ส.ร้อยละ 95 พวกหนึ่งตีความว่า 150 วันคือวันหย่อนบัตรเลือกตั้งไม่รวมการสอบสวนแจกใบเหลืองใบแดงกับเลือกตั้งใหม่และประกาศผลเลือกตั้ง อีกพวกตีความ 150 วันหมายถึงวันประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง

ระยะเวลา 30 ปีมาแล้วบ้านเมืองสับสนวุ่นวายก็เพราะทำแบบนี้แหละ คงไม่ต่างจากคนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยกันอยู่ว่า มีเนติบริกรชั้นครูกำกับดูแลในการเขียนกฎหมายแล้ว ทำไมปล่อยให้เกิดการตีความ หรือเป็นเพราะกฎหมายแม่กับกฎหมายลูกมันเขียนกันคนละทีและมีมุมมองกันคนละด้าน จึงทำให้เกิดความยุ่งยากวุ่นวาย หรือท้ายที่สุดมันคือเจตนาที่จะทำให้เป็นเช่นนี้แล

ส่วนท่านผู้นำก็ท่องตำราตามกฎหมาย ไปพูดกับครูในวันครูที่คุรุสภา ก็ยังพกเอาประเด็นเรื่องการเลือกตั้งไปบอกด้วยว่า ยังไงก็มีแน่เพราะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ภายในกรอบ 150 วันไม่เกิน 9 พฤษภาคมนี้ ก่อนที่จะยกเอาพระราชพิธีสำคัญมาเป็นเหตุผลในการที่ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้คนไทยทั้งประเทศเข้าใจกันหมดแล้วว่า ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เท่ากับพระราชที่สำคัญของคนทั้งประเทศ

แต่รัฐบาลต้องแยกแยะให้ได้ การเตรียมการ งานเตรียมความพร้อม เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง เงื่อนเวลาตามหมายกำหนดการ กกต.ก็ได้รับทราบมาโดยตลอดอยู่แล้ว ขณะที่กรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องที่กกต.ต้องปฏิบัติตาม ทั้งหมดนี้จะไม่มีข้อกังขาถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเดินตามครรลองที่ต้องเป็นไป ไม่มีใครไปแสดงท่าทีเข้าข่ายชี้นำองค์กรอิสระ ไม่มีการยึกยักตั้งแต่ต้น ซึ่งจะว่าไปทั้งหมดก็มีที่มาจากการไม่ทำตามสัญญาเรื่องการเลือกตั้งของผู้นำเผด็จการนั่นเอง

รายการกู๊ด มันเดย์ ของ ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นเรื่องกวนใจที่เชื่อกันว่าน่าจะยั่วให้ท่านผู้นำตบะแตกได้เป็นระยะ จับอาการได้ตั้งแต่การประชุมครม.สัญจรที่ลำปาง ยิ่งมีการนำไปเทียบเคียงกับรายการคืนวันศุกร์ด้วยแล้ว แตกต่างกันลิบลับ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผู้นำเผด็จการไปบอกกับครูว่า การเดินสายต่างจังหวัดเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ชอบฟังอะไรที่ยาวเกิน 5 นาที

พอมีรายการของอดีตนายกฯมาเป็นตัวเปรียบเทียบทฤษฎีนี้ของท่านผู้นำคงใช้ไม่ได้ เพราะความจริงมันไม่ใช่เรื่องระยะเวลาในการพูด หากแต่เป็นเนื้อหาที่นำเสนอต่างหาก หรือจะพูดให้ชัดก็คือมันอยู่ที่ “กึ๋น” ของคนพูด ประชาชนไม่ได้อยากฟังแค่ว่าได้หรือเสียอะไร อย่างที่ผู้นำเผด็จการพยายามจะยัดเยียดข้อกล่าวหา หากแต่ประชาชนยุค 4.0 ที่รัฐบาลนี้พล่ามว่าเป็นผลงานอันเลิศเลอเพอร์เฟกต์ เขาอยากจะฟังว่าผู้นำประเทศนี้มีวิสัยทัศน์อะไรที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่ใช่จะอดตายกันอยู่แล้วอย่างที่เป็นอยู่

ความไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลคสช.มีอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ไม่มีใครกล้าที่จะแสดงออกเพราะกลัวต่ออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่สำหรับ ยามารุดดิน ทรงศิริ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง คงไม่ได้คิดเช่นนั้น จึงไปยืนชู 3 นิ้วใกล้กับจุดที่วิษณุให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม.ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่ได้มีแอ็กชั่นอะไรมาจากฝ่ายรัฐบาล

ทว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่ได้คิดเช่นนั้น จึงทำให้ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ เพื่อนร่วมสถาบันยามารุดดินออกมาเรียกร้องเจ้าหน้าที่ให้เลิกติดตามตัวนักศึกษารายนี้ได้แล้ว พร้อมกับขอให้เจ้าหน้าที่พักก่อน ทหารมีไว้รบกับศัตรูไม่ได้มีไว้รบกับประชาชน ตำรวจก็มีไว้ป้องกันประชาชนไม่ได้มีไว้คุกคามประชาชน สัญญาณจากปัญญาชนแม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่ในภาวะเปลี่ยนผ่านเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจโดยเฉพาะที่เป็นพวกเผด็จการพึงต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่ง

Back to top button