‘THAI’ คืนเวที SET50

เพิ่มรายได้ !! ลดต้นทุน !! ขายเครื่องบินเก่า !!


สำนักข่าวรัชดา

เพิ่มรายได้ !! ลดต้นทุน !! ขายเครื่องบินเก่า !!

เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความฝันของผู้บริหาร “การบินไทย” ชุดแล้วชุดเล่า

แถมยังเป็นความหวังของผู้มีส่วนได้เสียอื่น เช่น ผู้ถือหุ้น ผู้โดยสาร กระทั่งพนักงานทีจีส่วนใหญ่อีกด้วย

ท่ามกลางภาวการณ์แข่งขันที่นับวันยิ่งเปรียบเสมือนมหาสมุทรโชกเลือดเข้าไปทุกที

ผู้เล่นมีจำนวนมากรายขึ้น ต้นทุนพุ่ง ราคาขายหด แน่นอนนั่นหมายถึงกำไรขั้นต้นที่บางเบา แทบไม่เหลืออะไร

ซ้ำร้าย หลายครั้งถึงขั้นต้องกินเนื้อตัวเอง อดรนทนบินเพื่อรักษาไว้ซึ่งส่วนแบ่งตลาด ไทม์สลอต และรูทติ้งการบิน

สำคัญสุด คือต้องรักษาหน้าตาความเป็น “สายการบินแห่งชาติ” ที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ไว้อย่างสุดชีวิต

เรื่องนี้เอง เวลามองปัญหาการบินไทย คงต้องเปิดใจให้กว้างเข้าไว้

จริงอยู่ อาจมีผู้บริหารและกรรมการบางชุดที่ไร้ความสามารถ ขาดวิสัยทัศน์ แถมโกง!

…แต่ส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า การบินไทยคือการบินไทย มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งหลักเกณฑ์ที่สลับซับซ้อนชวนพิศวงในหลายกรณี จำกัดให้การดำเนินงานในหลายภาคส่วนไม่สามารถกระทำได้อย่างคล่องตัวนัก

เรียกได้ว่า ไม่สอดคล้องกับโลกการแข่งขันของธุรกิจการบิน ที่ปัจจุบันถือเป็น “โอเพ่นสกาย” อย่างสิ้นเชิง

ทีนี้ ย้อนมาที่ความฝันของผู้บริหาร เพราะหากทำได้จริง นั่นหมายถึงชื่อเสียง เกียรติยศ และความภาคภูมิใจต่อการทำดีเพื่อชาติ

เฉกเช่นเดียวกับความหวังของผู้มีส่วนได้เสียอื่น เพราะความฝันที่เป็นจริงย่อมนำมาซึ่งผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่ดีขึ้น ผู้โดยสารได้รับบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น และแน่นอน พนักงานได้รับความมั่นคงและมั่งคั่งจากวิชาชีพมากขึ้น

รวมถึงความภาคภูมิใจที่มีต่อองค์กรก็พลอยสูงขึ้นตามไปด้วย

คำถามจึงบังเกิดขึ้นว่า แล้วฝ่ายบริหารทีจีจะทำอย่างไรให้บริษัทคืนสู่สถานะ ที่สามารถต่อกรทางธุรกิจได้อย่างมีสภาพอีกครั้ง ?? โดยไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ที่คอยทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์รัฐ และประชาชน

ล่าสุด สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI หรือ “ดีดีถั่ว” แถลงแผนการดำเนินงาน และเป้าหมายไว้น่าสนใจอยู่ 3 เรื่อง

เรื่องแรกคือ แผนการจำหน่ายเครื่องบินเก่า 20 ลำ ซึ่งขณะนี้เจรจาเบื้องต้นกับผู้ซื้อไปแล้ว 16 ลำ มูลค่าราว 4 พันล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

ไฮไลต์สำคัญนอกเหนือจากการกำจัดเครื่องเก่าไร้ประโยชน์ เพื่อผันกลับมาเป็นรายได้พิเศษให้บริษัทแล้ว

การตัดขายเครื่องปลดระวาง ซึ่งถือเป็น Asset For Sale จะช่วยให้หยุดการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์และเครื่องบินได้ในทันที เมื่อรายการซื้อขายแล้วเสร็จ

จากงบการเงินปี 2560 พบว่า THAI มีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 470 ล้านบาท และด้อยค่าเครื่องบินอีก 2.72 พันล้านบาท ขณะที่มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 2.11 พันล้านบาท

นั่นหมายถึงหากตัดในส่วนเฉพาะด้อยค่าเครื่องออกไปได้ เท่ากับว่า การบินไทยจะกลายเป็นมีกำไรอยู่ราว 6 ร้อยล้านบาท ถูกต้องหรือไม่ !?!?

เช่นนั้น หากการเจรจาลุล่วง ขายเครื่องปลดระวางออกไปได้ก่อน 16 ลำ จากทั้งหมด 20 ลำ ก็น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้มีตัวเลขบวกในบรรทัดสุดท้ายได้ไม่ยาก !

แต่ที่แน่ ๆ อีก 4 ลำหลังคงขายลำบากยากเย็นเอาเรื่องอยู่ไม่น้อย เพราะ 2 ลำในจำนวนนั้น คือ แอร์บัส A340-500 และ 600 รุ่นในตำนาน

เพราะเนื่องจากไร้ประสิทธิภาพเชิงพาณิชย์เมื่อนำมาให้บริการ เลยไม่เป็นที่ต้องการแล้ว อีกหนึ่งปัญหาสำคัญ คือ ราคาตลาดที่ทรุดฮวบฮาบลง จนการตั้งด้อยค่าวิ่งไล่ไม่ทัน

หากบอร์ดชุดไหนทะเล่อทะล่าขายออกไปที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าบุ๊ก มีหวังโดนกล่าวหาว่าทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งอาจถูกสอบ และหนีไม่พ้นเสี่ยงตะรางเป็นแน่แท้

ประเด็นนี้คงต้องรอดูว่าดีดีคนปัจจุบัน ซึ่งมีดีกรีเป็นนักการเงินระดับซือแป๋ จะแก้เกมช่วยบินไทยให้พ้นวิกฤติได้อย่างไร… 

เรื่องที่สอง คือ เป้ารายได้ โดยดีดีถั่วเล็งไว้ที่ 2 แสนล้านบาท สำหรับปีนี้ (2562) ซึ่งก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี แม้ตัวเลขจะใกล้เคียงกับปี 2560 และปี 2561 ที่ 1.91 และ 1.49 แสนล้านบาท (งวด 9 เดือน) ตามลำดับ

แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อเครื่องจักรผลิต คือ เครื่องบิน ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น แล้วจะไปสร้างรายได้เพิ่มเป็นกอบกำได้อย่างไร ?

และต้องอย่าลืมว่า แม้รายได้คงที่ แต่หากตัดด้อยค่าจากการขายเครื่องออกไปได้ภายในปีนี้…นั่นหมายถึงโอกาสจะมีกำไรได้เช่นกัน ใช่หรือไม่ !?!? 

เรื่องที่สาม ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่สุด คือ แผนการซื้อเครื่องบิน (ใหม่) 38 ลำ !!

แน่นอน นอกเหนือจากเป็นการเพิ่มกำลังผลิตแล้ว การหาฝูงบินใหม่มาทดแทนยังถือเป็นการเพิ่มมูลค่าในการให้บริการ ให้สมกับฉายา National Premium Airlines ด้วย

ปัจจุบัน หลายสายการบินระดับโลกอื่น ๆ ใช้เครื่องรุ่นใหม่ อาทิ A380 A350 และ Boeing787 (Dreamliner) เป็นฝูงบินหลักกันหมดแล้ว

เจ้าจำปีของเรายังคงรูปแบบอนุรักษนิยม ตะบี้ตะบันใช้เครื่องรุ่นเก่า เช่น A330 Boeing747 หรือกระทั่ง Boeing777 ชนิดเก่าอย่าง –200ER ซึ่งเก้าอี้ชั้นธุรกิจขึ้นชื่อเรื่อง “หลับ(ไ)หล”

การทดแทนฝูงบินเก่า พร้อมทั้งเพิ่มฝูงบินใหม่ จึงถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการบินไทยที่จะไปดึงลูกค้าจากสิงคโปร์แอร์ไลนส์ เอมิเรตส์ กาตาร์แอร์เวยส์ เอทิฮัด และอีกหลายสายการบินในภูมิภาคเอเชีย มาได้

อย่างไรก็ดี การจัดหาเครื่องบินใหม่ในช่วงที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบัน ไม่สามารถกระทำได้ง่ายนัก

นอกจากเรื่องเงินทุน อีกหนึ่งปัญหาใหญ่คือ การกลัว คำว่า “โกง” ได้ฝังตัวกลายเป็นเซลล์หลักของสมองคนไทยจำนวนมากไปซะแล้ว

ขยับนิด เสนอแผนซื้อหน่อย ก็ถูกตราหน้าว่า “ไอ้ขี้โกง” !!

แต่เอาเป็นว่า มาถึงบอร์ดชุดปัจจุบัน ถือว่างานอาจจะง่ายขึ้น เพราะแผนการจัดซื้อเครื่องอีก 38 ลำนี้ ค้างท่อมาจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งอนุมัติไว้ตั้งแต่ปี 2554 แล้ว

ประกอบกับ บอร์ดทีจีชุดปัจจุบันมีชื่อ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ นั่งเป็นประธาน และยิ่งมีกรรมการร่วมคณะที่ชื่อ วัชรา ตันตริยานนท์ ก็ยิ่งการันตีความเป็น “มือสะอาด” ได้หายห่วง !

ส่วนเรื่องเงินทุน คงต้องรอชมฝีไม้ลายมือ “ดีดี” ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยฝากผลงานสร้างศูนย์ราชการที่แจ้งวัฒนะ โดยท้ายสุดไม่ต้องเดือดร้อนงบรัฐสักแดง แถมยังบริหารธนารักษ์พัฒนาฯ จนฟื้นกลับมามีกำไรได้อย่างรวดเร็วใน 3 ปีอีกด้วย

เช่นนั้นการจั่วหัว THAI” คืนเวที SET50 ไว้ด้านบน คงเป็นการฉายภาพพัฒนาการของการบินไทยช่วงหลังจากนี้ ให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุด

ลดต้นทุน-ด้อยค่า เสริมคุณภาพในการให้บริการ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ THAI หยุดขาดทุน และกลับมามีกำไรได้อีกครั้ง

แน่นอน เมื่อมีกำไรก็ย่อมเกิดผลสะท้อนเชิงบวกผ่านราคาหุ้น นั่นก็ย่อมหมายถึงมูลค่าหลักทรัพย์รวมที่จะสูงขึ้นด้วย

SET50 คงไม่ใช่เป้าหมายที่ไกลเกินเอื้อม แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ คงต้องรอติดตาม !!

ป.ล. ได้ยินแว่ว ๆ มาว่า ตอนนี้ทำสัญญาซื้อขายเครื่องเก่าเสร็จไปแล้ว 8 ลำ และอยู่ระหว่างทำสัญญาส่งมอบ จริงไม่จริงลองยกหูกริ๊งกร๊างไปถาม “ดีดีถั่ว” ดูก็ได้

อีกอย่างที่ห้ามลืม คือ! หุ้น THAI ไม่ต้องรอให้มีกำไร ขอแค่มีความหวัง ราคาก็วิ่งได้นะจ๊ะ

อิ อิ อิ

Back to top button