นาฏกรรมของความไม่(เคย)พอ

​บทเรียนจากกรณี 2 พ่อลูกคนดังระดับติดอันดับเศรษฐีหุ้นหัวแถวประเทศไทยต่อเนื่องนานหลายปี ที่ถูกคำสั่งใช้มาตรการลงโทษจาก ก.ล.ต.ล่าสุดในคดีให้ข้อมูลวงในสร้างราคาหุ้น ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ของการปล่อยให้ความโลภครอบงำจนไม่สามารถแยกแยะเหตุผลออกจากกันระหว่างการเป็นเจ้าของรายใหญ่ในกิจการบริษัทมหาชน กับความมั่งคั่งส่วนบุคคล


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

​บทเรียนจากกรณี 2 พ่อลูกคนดังระดับติดอันดับเศรษฐีหุ้นหัวแถวประเทศไทยต่อเนื่องนานหลายปี ที่ถูกคำสั่งใช้มาตรการลงโทษจาก ก.ล.ต.ล่าสุดในคดีให้ข้อมูลวงในสร้างราคาหุ้น ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ของการปล่อยให้ความโลภครอบงำจนไม่สามารถแยกแยะเหตุผลออกจากกันระหว่างการเป็นเจ้าของรายใหญ่ในกิจการบริษัทมหาชน กับความมั่งคั่งส่วนบุคคล

นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ และ นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ มีชื่อเกี่ยวข้องในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ 2 บริษัทจดทะเบียน คือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS โรงพยาบาลเครือข่ายเอกชนรายใหญ่สุดของประเทศ กับบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA

​ทั้งคู่เป็นกรรมการ BDMS ด้วยกัน โดยนายปราเสริฐ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ CEO ด้วย ส่วนใน BA มีนายปราเสริฐเท่านั้นที่มีที่นั่งในกรรมการและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ด้วย แต่คนหลังเป็นแค่ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง ไม่มีตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทอย่างเป็นทางการ

เรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อ ก.ล.ต.เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้แก่ (1) นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ (2) นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ และ (3) นางนฤมล ใจหนักแน่น กรณีสร้างราคาหลักทรัพย์บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BA) โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 499.45 ล้านบาท และสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน

​รายละเอียดระบุว่า ก.ล.ต.ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2559 นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ และนางนฤมล ใจหนักแน่น ร่วมกันซื้อขายหุ้น BA อย่างต่อเนื่อง และจับคู่ซื้อขายหลักทรัพย์ BA ระหว่างกันเองในลักษณะอำพรางการซื้อขาย ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ และส่งผลให้ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น BA ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

​หากย้อนดูข้อมูลระหว่างช่วงดังกล่าว พบว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2558 เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยถูกต่างชาติเทขายออกมาค่อนข้างมากจนดัชนี SET หลุดไปใต้ 1,300 จุด แต่ราคาหุ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนมกราคมของ BA กลับวิ่งสวนทางจากใต้ 20.00 บาท มาอยู่ที่แถว ๆ ระดับเหนือ 22.00 บาท

​หลังจากนั้นราคาหุ้นของ BA ก็วิ่งจากระดับเหนือ 21.00 บาท ในเดือนกุมภาพันธ์ ขึ้นไปที่ระดับเหนือ 27.00 บาทในช่วงเดือนพฤษภาคม อันเป็นช่วงที่ราคาหุ้นบริษัทนี้ทำได้สูงสุดเป็นหลักหมุด เพราะหลังจากนั้นมา ผลประกอบการที่มีกำไรถดถอยลง แม้จะไม่ถึงกับขาดทุน แต่ก็ทำให้ราคาหุ้นเป็นขาลงยาวนาน ล่าสุดอยู่ที่แถว 12.00 บาท

การกระทำของ 2 พ่อลูก และนางนฤมล ใจหนักแน่น เข้าข่ายอินไซเดอร์เทรดดิ้งเอาเปรียบนักลงทุนรายอื่นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ก.ล.ต. ระบุว่า การกระทำของบุคคลทั้งสามเป็นความผิดหลายมาตรา พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ทำให้มีมติของคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ให้ ก.ล.ต.นำมาตรการลงโทษทางแพ่ง ให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินค่าปรับรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 499.45 ล้านบาท ซึ่งหากผู้กระทำความผิดทั้งสามรายไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ.กำหนด ก.ล.ต.จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่งตามอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด

คำถามต่อมาคือ นางนฤมล ใจหนักแน่น เป็นใคร เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ร่วมเจอบทลงโทษในคดีอินไซเดอร์เทรดดิ้ง หลังจากที่เคยถูกลงโทษไปแล้วเมื่อปี 2555 ในความผิดทำนองเดียวกัน กับราคาหุ้นบริษัท BGH (ชื่อรหัสเดิมก่อนเปลี่ยนเป็น BDMS) มาแล้ว

​นางนฤมล มีตำแหน่งเป็นเลขานุการสำนักประธานคณะผู้บริหารของ BA แต่ในปี 2555 นางนฤมลถูก ก.ล.ต.ลงโทษร่วมกับนายธวัชวงค์ ธะนะสุมิต (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการ BGH กรณีใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BGH เพื่อตนเองและบุคคลอื่น โดยนางนฤมลร่วมกับ น.ส.วิพร จิตรสมหวัง ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนให้นายธวัชวงค์ ได้ซื้อหุ้น BGH จำนวน 1,030,000 หุ้น เป็นจำนวนเงินรวม 10,488,534 บาท ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ น.ส.วิพร และนางนฤมล ที่เป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญด้านบวกต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น BGH ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชน เกี่ยวกับธุรกรรมที่ BGH เข้าควบรวมกิจการกับบริษัท เฮลท์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) ด้วยการเข้าซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมดของ HN (Entire Business Transfer) ในช่วงปี 2553 ต่อเนื่องถึงปี 2554 ซึ่งส่งผลให้ BGH เป็นเครือข่ายกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ มีน.ส.วิพร และนางนฤมล ให้ความช่วยเหลือ โดยให้นายธวัชวงค์ ได้ยืมใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และอำนวยความสะดวกในการชำระเงินค่าซื้อและรับเงิน

​ครั้งนั้น นายธวัชวงค์ น.ส.วิพร และนางนฤมล ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบ ซึ่งคณะกรรมการเปรียบเทียบได้เปรียบเทียบปรับนายธวัชวงค์ ในฐานะตัวการ เป็นเงิน 9,821,867.35 บาท น.ส.วิพร และนางนฤมล ในฐานะเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน เป็นเงินรายละ 333,333.33 บาท

​เนื่องจากกติกาในปัจจุบันตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์แก้ไขใหม่ ทำให้ 2 พ่อลูก ต้องขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของทั้ง BA และ BDMS รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนอื่น ๆ (ถ้ามี) โดยปริยาย ตั้งแต่วันที่กำหนดในหนังสือที่ ก.ล.ต.จะแจ้งต่อไป

​สำหรับคนบางคน เรื่องของเกียรติยศอาจจะไม่มีความหมายเท่ากับเงิน แต่การสูญเสียทั้งเงินและเกียรติยศพร้อมกัน จะเรียกเป็นสุขนาฏกรรมคงไม่ได้

 

ขออภัย

       ตามข้อเขียนเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคม มีความผิดพลาด เพราะข้อเท็จจริง นางนฤมล น้อยอ่ำ และนางนฤมล ใจหนักแน่น มิใช่บุคคลคนเดียวกัน ซึ่งนางนฤมล น้อยอ่ำ ดำรงตำแหน่งกรรมการ BA และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และกรรมการบริหารความเสี่ยงของ BDMS ซึ่งไม่ได้ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษในคดีอินไซเดอร์เทรดดิ้งกับราคาหุ้น BA และ นางนฤมล น้อยอ่ำ ไม่เคยถูกลงโทษเมื่อปี 2555 แต่อย่างใด

       ผู้เขียนขออภัยต่อนางนฤมล น้อยอ่ำ เป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ และจะนำข้อผิดพลาดดังกล่าวมาดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดประการอื่นใดอีก

 

Back to top button