ผถห. NOK ไฟเขียวเพิ่มทุน RO จับตา “จุฬางกูร-การบินไทย” ใส่เงิน 1.8 พันลบ.
ผถห. NOK ไฟเขียวเพิ่มทุน RO จับตา "จุฬางกูร-การบินไทย" ใส่เงิน 1.8 พันลบ.
บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 วันนี้ (22 ม.ค.) มีมติเห็นชอบการเพิ่มทุนจดทะเบียน ด้วยคะแนนเสียง 99.96% โดยจะเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 908.80 ล้านบาท จาก 2,499.25 ล้านบาท เป็น 3,408.05 ล้านบาท มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 908.80 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) 2.5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุน ที่ราคาหุ้นละ 2.75 บาท คาดว่าจะระดมทุนได้ราว 2,500 ล้านบาท
ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ NOK กล่าวว่า การเพิ่มทุนของบริษัทในครั้งนี้ คาดหวังว่าผู้ถือหุ้นใหญ่จะเข้ามาเพิ่มทุนอย่างน้อย 30% แต่คงจะไม่มีรายใดต้องการถือหุ้นเกิน 25% เพราะจะต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (tender offer) ส่วน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 จะเพิ่มทุนในบริษัทหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถระบุได้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ยังคงต้องให้สายการบินนกแอร์ดำรงคงอยู่ ขณะที่หลังการเพิ่มทุนแล้วเสร็จก็จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก ทำให้คาดว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะปลดเครื่องหมาย C หุ้น NOK ในไตรมาส 1/62
โดยปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของ NOK ประกอบด้วย นายณัฐพล จุฬางกูร ถือหุ้น 23.77%, THAI ถือหุ้น 21.80%, นายทวีฉัตร จุฬางกูร ถือหุ้น 18.86%, นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ถือหุ้น 12.50%
ด้านนายประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NOK กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจะหยุดขาดทุนภายในปีนี้ ซึ่งเลื่อนจากปีที่แล้ว เพราะประสบปัญหาราคาน้ำมันสูง และนักท่องเที่ยวจีนลดลงหลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต
“ความท้าทายที่จะหยุดขาดทุนในปีนี้ เงินทุนที่ต้องใช้เพื่อให้มีเงินเพียงพอในช่วงที่เราหยุดขาดทุน คือหยุดขาดทุนต่อเนื่อง 3 ไตรมาส จากนั้นจะนำไปสู่ช่วงบริษัทเจริญเติบโต” นายประเวช กล่าว
โดยการเพิ่มทุนครั้งนี้จะช่วยหยุดยั้งที่จะทำให้หุ้น NOK ถูกแขวนเครื่องหมาย SP หรือหยุดพักการซื้อขาย หลังจาก ณ วันที่ 30 ก.ย.61 บริษัทมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ 647.57 ล้านบาท เพราะคาดว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้จะเพียงพอต่อการดำเนินงานและทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกอีกครั้ง
“การเพิ่มทุนครั้งนี้ มีส่วนสำคัญ โดยได้หารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ว่าเมื่อปิดงบสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 61 กว่างบการเงินจะได้รับการตรวจสอบการเพิ่มทุนก็เสร็จสิ้นแล้ว การเพิ่มทุนครั้งนี้ช่วยหยุดยั้งไม่ให้แขวน SP หุ้น NOK” นายประเวช กล่าว
ทั้งนี้ การเพิ่มทุนจะส่งผลดีต่อการเติบโตและเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบริษัท โดยไม่กระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และมีสถานภาพทางการเงินและฐานทุนที่มั่นคง โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนไปใช้ปรับปรุงฝูงบิน ขยายเส้นทางและเครือข่ายการบิน และรองรับความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูงขึ้นเพื่อให้บริษัทมีศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรม โดยคาดว่าบริษัทจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนและได้รับเงินจากการเพิ่มทุนเข้ามาภายในกลางเดือน ก.พ. 62
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะปรับปรุงฝูงบิน โดยเตรียมปลดระวางเครื่องบิน ATR จำนวน 2 ลำ และใช้เครื่องบินที่มีอยู่ ได้แก่ โบอิ้ง 737 จำนวน 8 ลำ และ เครื่อง Q400 จำนวน 4 ลำ เพื่อลดประเภทเครื่องบินให้น้อยเพื่อลดค่าซ่อมบำรุงและอะไหล่ อย่างไรก็ตามยังคงคำสั่งจองซื้อโบอิ้ง 737Max จำนวน 6 ลำ ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อของคณะกรรมการและผู้บริหารชุดก่อน รวมถึงยังมีแผนขยายเส้นทางบินไปอินเดีย และ ฮิโรชิมาในญี่ปุ่น โดยได้ร่วมมือกับสายการบินนกสกู๊ตด้วย
นายประเวช กล่าวอีกว่า บริษัทจะเพิ่มทุนเท่าที่จำเป็น แต่มีปัจจัยที่บริษัทคงไม่สามารถควบคุมได้ โดยกรณีมีหุ้นสามัญเพิ่มทุนเหลือจากการจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนในรอบแรก บริษัทจะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือให้ผู้ถือหุ้นที่ประสงค์จะจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเกินสัดส่วนตามสัดส่วนการถือหุ้นในราคาเดียวกัน โดยการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว บริษัทจะดำเนินการจัดสรรหุ้นที่เหลือจนกระทั่งไม่มีหุ้นสามัญเพิ่มทุนเหลือจากการจัดสรรอีก หรือจนกว่าไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดประสงค์ที่จะจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทไม่สามารถเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้หมด ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมาย บริษัทก็อาจพิจารณาหาแหล่งเงินทุนอื่นเพิ่มเติมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ด้านผู้ถือหุ้นหลายราย ระบุว่าไม่ต้องการซื้อหุ้นเพิ่มทุนราคาที่สูงกว่ากระดาน โดยราคาหุ้น NOK ปิดวันนี้อยู่ที่ 2.32 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ขณะที่ราคาจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ NOK อยู่ที่ 2.75 บาท
อนึ่ง จากตารางแสดงข้อมูลการใช้สิทธิ์เพิ่มทุนของกลุ่ม จุฬางกูร และ การบินไทย หากใช้สิทธิเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น จะส่งผลให้ได้เงินเพิ่มทุนรวมเป็นจำนวน 1.85 พันล้านบาท