BCPG เตรียมปิดดีล “วินด์ฟาร์ม” 1 โครงการ รับแผนดันกำลังผลิตพุ่งแตะ 1,000 MW ภายใน 5 ปี
BCPG เตรียมปิดดีล “วินด์ฟาร์ม” 1 โครงการ รับแผนดันกำลังผลิตพุ่งแตะ 1,000 MW ภายใน 5 ปี
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมสรุปการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมอย่างน้อย 1 โครงการเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 60 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในไทยและฟิลิปปินส์ โดยในส่วนนี้จะเป็นการผลิตไฟฟ้าตามการลงทุนใหม่ (green field) ราว 70% และเป็นการซื้อกิจการ (M&A) ราว 30%
“ลมมีศักยภาพเยอะสามารถผลิตไฟฟ้าต่อวันเยอะกว่าโซลาร์ ส่วนโซลาร์เทรนด์จะมาทางรูฟท็อปมากขึ้นเราก็โฟกัสในมุมที่เป็น digital energy พลังงานลมเราโฟกัสทุกที่ในโลกนี้ ปีนี้ก็มีโอกาสที่จะเห็นมีกำลังผลิตใหม่เข้ามาในมือ” นายบัณฑิต กล่าว
สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเห็นว่ายังมีหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพและน่าสนใจในการเริ่มพัฒนาในลักษณะ green field ได้แก่ เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ส่วนพื้นที่ยุโรปเหนือ ที่มีการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมกระจุกตัวและเต็มพื้นที่แล้วจะเป็นโอกาสของการทำ M&A
ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ยังเดินหน้าตามแผนงาน โดยจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) จากโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น 2 โครงการ, การผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในอ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช 10 เมกะวัตต์ และผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ retail ซึ่งเป็นการทำตลาดกับผู้บริโภครายย่อยผ่านการทำโซลาร์รูฟท็อป ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ขนาด 12 เมกะวัตต์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีโอกาสการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 1 ขนาด 124 เมกะวัตต์ มูลค่าราว 5-6 พันล้านบาท ที่บริษัทให้ความสนใจและอยู่ระหว่างเข้าไปศึกษารายละเอียด หากจะลงทุนต้องยื่นข้อเสนอเข้าไปภายใน 5 สัปดาห์ข้างหน้า และการเติบโตในรูปแบบ retail โซลาร์รูฟท็อป ที่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) สนับสนุนให้มีโซลาร์รูฟท็อป 10,000 เมกะวัตต์ตลอดแผน 20 ปี
ส่วนการพัฒนาโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่นก็มองโอกาสนอกเหนือจากโซลาร์ฟาร์มที่มีอยู่แล้ว ยังมองการลงทุนโรงไฟฟ้าไบโอแมส และการร่วมกับพันธมิตรอย่างพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ จากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มตัวกลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Peer-to-Peer ผ่านอินเทอร์เน็ต เข้าไปร่วมพัฒนาในรูปแบบ digital energy