NER เด้ง5% นิวไฮรอบ1เดือน ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ทะลุ 1.5 หมื่นลบ. เดินหน้ารุกตลาดตปท.เต็มสูบ
NER เด้ง5% นิวไฮรอบ1เดือน ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ทะลุ 1.5 หมื่นลบ. เดินหน้ารุกตลาดตปท.เต็มสูบ โดยปิดตลาดวันนี้ ราคาอยู่ที่ระดับ 1.98 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 5.32% สูงสุดที่ระดับ 1.99 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.90 บาท มูลค่าการซื้อขาย 92.41 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวราย หุ้น บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ปิดตลาดวันนี้ ราคาอยู่ที่ระดับ 1.98 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 5.32% สูงสุดที่ระดับ 1.99 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.90 บาท มูลค่าการซื้อขาย 92.41 ล้านบาท
ทั้งนี้ ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 1 เดือน นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.99 บาท เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.61
นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NER เปิดเผยว่า แผนงานปี 2562 บริษัทวางเป้ายอดขายอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท โดยคาดปริมาณการขายผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้นเป็น 260,000 ตัน จากปี 2561 คาดอยู่ที่ระดับ 220,000 ตัน ตามความต้องการยางในตลาดโลกจะเติบโตตามปกติในแต่ละปีประมาณ 2-5%
โดยบริษัทเดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจรจากับลูกค้าจีน 3 รายที่คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อรวมกันประมาณ 15,000 ตันต่อปี และวางแผนขยายตลาดลูกค้าสิงคโปร์เพิ่ม ที่ปัจจุบันบริษัทมีการทำสัญญาระยะยาว (Long Term Contact) กับลูกค้าไปแล้วกว่า 11 ราย จากที่มีอยู่ 8 ราย ทำให้บริษัทมีลูกค้าที่รอรับรู้รายได้ที่แน่นอนส่วนหนึ่งแล้ว
ทั้งนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างยื่นขอให้ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่ของยุโรป 3 ราย ซึ่ง 1 ในนั้น คือ มิชลิน เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการผลิตของโรงงานและผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นใบเบิกทางสำหรับการรุกเปิดตลาดส่งออกไปยังยุโรป หลังจากที่ผ่านมาบริษัทได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากบริดจสโตน ทำให้บริษัทสามารถส่งออกสินค้าไปขายในจีนและภูมิภาคเอเชียได้ดี คาดว่าการตรวจสอบของมิชลินและขั้นตอนต่าง ๆ น่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี หรือรู้ผลในปี 2563 ซึ่งทันเวลารองรับปริมาณผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2563
ขณะที่ราคายางพาราที่มีการฟื้นตัวเพิ่มขึ้นจากปลายปี 2561 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการส่งออกยางในประเทศที่มีความต้องการยางธรรมชาติเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณยางธรรมชาติในคลังสินค้าของผู้ส่งออกลดลงในช่วงก่อนหน้า ทำให้ผู้ส่งออกมียางธรรมชาติไม่เพียงพอในการส่งออก จึงต้องเร่งซื้อยางเพื่อส่งออกและรักษาระดับสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับปกติ
รวมทั้งรัฐบาลจีนได้เพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจยางของจีน ทำให้บริษัทได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้ เนื่องจากบริษัทได้กำหนดราคาในวันที่ทำการซื้อขายกับลูกค้า และมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเข้ามาเสริมด้วย
อย่างไรก็ดี นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า โครงการปรับปรุงเครื่องจักรสำหรับผลิตยางแผ่นผสม (RSS Mixtures Rubber) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจะทำให้กำลังการผลิตยางผสมสูงขึ้น 60,000 ตันต่อปี โดยจะเริ่มเดินเครื่องในเดือน ก.พ. 2562 ขณะที่แผนการก่อสร้างโรงงานใหม่ผลิตยางแท่ง (STR20) และยางผสม (Mixtures Rubber) กำลังการผลิต 172,800 ตันต่อปีคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 และเริ่มรับรู้รายได้ส่วนเพิ่มในปี 2563 ดังนั้นเมื่อรวมทั้งสองส่วนจะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 465,600 ตันต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทเน้นการสร้างเสถียรภาพของผลการดำเนินงานไม่ให้ผันผวนตามธรรมชาติของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ด้วยการซื้อสินค้าจริงมาผลิตเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อ โดยไม่มีนโยบายเก็งกำไรจากสต๊อก พร้อมทั้งรักษาสมดุลของฐานลูกค้าเพื่อบริหารความเสี่ยง