พาราสาวะถี

สัปดาห์นี้น่าจะได้เห็นโฉมหน้าว่าที่ผู้สมัครส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อจำนวน 500 คนของทุกพรรคการเมือง เพราะต้องจัดทัพให้พร้อมก่อนจะไปยื่นใบสมัครระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์นี้ พวกที่ถูกดูดไปก่อนหน้าก็จะปรากฏโฉมว่าได้ลงพื้นที่ซึ่งตนหมายปอง หรือต้องขยับไปเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อหรือย้ายเขต เหตุผลไม่มีอะไรมากกระแสตก โพลของพรรคทำกี่รอบก็ไม่กระเตื้อง


อรชุน

สัปดาห์นี้น่าจะได้เห็นโฉมหน้าว่าที่ผู้สมัครส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อจำนวน 500 คนของทุกพรรคการเมือง เพราะต้องจัดทัพให้พร้อมก่อนจะไปยื่นใบสมัครระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์นี้ พวกที่ถูกดูดไปก่อนหน้าก็จะปรากฏโฉมว่าได้ลงพื้นที่ซึ่งตนหมายปอง หรือต้องขยับไปเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อหรือย้ายเขต เหตุผลไม่มีอะไรมากกระแสตก โพลของพรรคทำกี่รอบก็ไม่กระเตื้อง

ส่วนปัญหาที่มีบางพรรคบอกว่าการต้องยื่นเอกสารเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปีที่รวมเอาปี 2561 ไปด้วยนั้น อาจทำไม่ทัน โดยอ้างว่าเงื่อนเวลายื่นเสียภาษีจะไปสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม หากเป็นคนทั่วไปก็พอจะเข้าใจได้ว่าดึงจังหวะยื้อเวลาด้วยข้ออ้างสารพัด แต่สำหรับคนที่จะอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชน เรื่องเล็กน้อยเท่านี้และสำคัญกับอนาคตของตัวเอง ยังไม่เร่งรีบทำ แล้วชาวบ้านจะฝากผีฝากไข้ได้อย่างนั้นหรือ

ถูกต้องแล้วที่กกต.ยืนในหลักการ ทุกอย่างต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ผ่อนปรนกันไม่ได้ กรณีนี้เป็นแค่กระพี้ไม่ใช่แก่นสารสาระ ถ้าคนที่ได้ชื่อว่าผู้สมัครส.ส.ยังจัดการแค่เอกสารยื่นเสียภาษีไม่ได้ ก็ไม่ต้องคิดที่จะมาเสนอตัวให้ประชาชนเลือก หากจะสะท้อนปัญหาน่าจะเป็นเรื่องอื่นที่สำคัญกว่านี้ เช่น ความชัดเจนเรื่องการหาเสียงโดยเฉพาะกรณีโซเชียลมีเดีย

แต่พอฟัง พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต.อธิบายก็น่าจะสิ้นสงสัยกันไปได้ ใครที่มีเฟซบุ๊ก หรือแอปพลิเคชันไลน์ ไม่ต้องลบแอ็กเคาต์ แค่ไปแจ้งล่วงหน้าต่อผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้ง ระเบียบ กกต.ที่ออกมาเพื่อที่จะปกป้องตัวของผู้สมัครที่จะใช้ช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน ไม่ให้ถูกผู้อื่นปลอมแอ็กเคาต์เพื่อใส่ร้ายป้ายสี และเพื่อกกต.จะคำนวณเป็นค่าใช่จ่ายในการหาเสียงได้

เลขาฯกกต.ยืนยันอีกว่า ให้อิสระเสรีภาพในการหาเสียงเต็มที่ ทุกพรรคสามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่อย่าทำผิดกฎหมายก็แล้วกัน และขอให้เก็บใบเสร็จค่าใช้จ่ายไว้เป็นหลักฐาน ฟังอย่างนี้ไม่รู้ว่า จาตุรนต์ ฉายแสง และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ย้ำหนักแน่นว่าจะเดินหน้าหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียต่อไป สบายใจขึ้นมาหรือไม่ แต่คิดว่าน่าจะแค่เบาใจไม่ถึงกับพอใจแต่อย่างใด

ต้องไม่ลืมว่าไม่ได้มีเฉพาะแกนนำของพรรคไทยรักษาชาติและอนาคตใหม่เท่านั้น ที่กังขาต่อระเบียบและข้อห้ามในการหาเสียงของกกต. แม้กระทั่งประชาธิปัตย์ ธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคก็ตั้งข้อสังเกตว่า ระเบียบเลือกตั้งที่ออกมาไม่ชัดเจน ทั้งการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องแจ้งวิธีการการดำเนินการ รวมทั้งหลักฐานให้กกต.รับทราบตั้งแต่วันรับสมัครและใช้คำว่า หรือก่อนดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์

โดยที่ระเบียบดังกล่าวปรากฏว่าเมื่อผู้สมัครส.ส.ของพรรคเก่าแก่หลายเขตที่ยื่นต่อกกต.ปรากฏว่าไม่รับ แต่บางเขตก็รับ จึงเป็นปัญหาในทางปฏิบัติว่าจะดำเนินการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่กกต.กลางคงต้องไปทำความเข้าใจกับกกต.ในระดับพื้นที่ หากยังไม่เข้าใจกฎและกติกาที่ตัวเองเป็นผู้ควบคุมเช่นนี้จะมีปัญหาและทำลายบรรยากาศการหาเสียงไปโดยปริยาย

เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรอิสระควรจะปรับแก้คือการตอบข้อสงสัยของพรรคการเมือง เนื่องจากวิธีการที่ใช้ปัจจุบันคือ หากจะถามระเบียบต่าง ๆ จะต้องทำหนังสืออย่างเป็นทางการเข้าไป ทำให้ใช้เวลามากและไม่ทันการณ์ ดังนั้น ในช่วงการเลือกตั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการนี้ กกต.ควรที่จะมีหน่วยงานซึ่งสามารถตอบข้อสงสัยของผู้สมัครและพรรคการเมืองได้ทันทีเวลาที่เกิดปัญหา

เข้าใจว่าต้องมีกระบวนการและขั้นตอน แต่เพื่อไม่ให้ทุกอย่างล่าช้าจนกระทั่งบางเรื่องถูกมองว่าเป็นการดึงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพวกหนึ่งพรรคใด กกต.ยุคใหม่ที่เป็นยุคแห่งการปฏิรูป คงต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่ามีศักยภาพสมกับที่ใช้งบประมาณแผ่นดินเกือบ 6 พันล้านบาท กับการจัดการเลือกตั้งหนนี้

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับแคนดิเดตนายกฯ พลังประชารัฐคงไร้ปัญหา นอนมาตั้งแต่พรรคเริ่มเตาะแตะเบอร์ 1 ที่จะได้รับการเสนอชื่อต้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น ส่วนอันดับ 2 และ 3 ที่จะมาเป็นไม้กันหมาเพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีการล็อกเป้าสืบทอดอำนาจ ก็หนีไม่พ้น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ อุตตม สาวนายน ส่วนแนวโน้มจะเหลือแค่บิ๊กตู่ชื่อเดียวก็คงไม่มีใครว่าอะไร

เวลานี้เหลือเพียงแค่พิธีกรรมและการร่างเหตุผลเพื่อให้หัวหน้าเผด็จการใช้บอกกล่าวกับประชาชน ทำอย่างไรไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจเท่านั้น แต่ทำกันมาถึงขนาดนี้และหน้าทนกันได้ทุกเรื่อง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเกรงอกเกรงใจใครหน้าไหน ยิ่งท่านผู้นำย้ำนักย้ำหนาว่าให้ดูข้อกฎหมาย เมื่อมั่นใจว่าทุกอย่างทำถูกต้อง ก็ไม่เห็นว่าจะต้องมาเหนียมหรือวางฟอร์มกันอีกทำไม

แต่เมื่อผู้นำเผด็จการแบะท่าแบไต๋กันมาถึงขนาดนี้ คงไม่มีอะไรต้องกังวล แค่รอวันเหมาะสมตามฤกษ์พานาทีในการที่จะเปิดตัว เหมือนการเลื่อนเลือกตั้งที่หนี 24 กุมภาพันธ์ไม่ชนกับวันโลกาวินาศ ยอมเป็นโมฆะบุรุษ แต่คนจะจับตาต่อไปว่าหลังรับเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคสืบทอดอำนาจแล้ว บทบาททางการเมืองของผู้นำเผด็จการจะวางตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเอาเปรียบคู่แข่งอย่างน่าเกลียด

ขณะบรรดาคู่แข่งเพื่อไทยวันนี้ชัดเจนยิ่งว่า 3 แคนดิเดตเป็น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ ซึ่งรายแรกนั้นมีภาษีมากกว่าใครที่จะถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯหากพรรคนายใหญ่สามารถกำชัยชนะแล้วจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่ดูแนวโน้มแล้วน่าจะเป็นได้แค่นายกฯเงา ก็เขาล็อกกันไว้ขนาดนี้แล้ว จะยอมให้ใครมาแย่งชิงหรือปล่อยรัฐประหารเสียของได้อย่างไร

ด้านประชาธิปัตย์ก็ชัดเจนเหมือนกัน มีแค่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯหนึ่งเดียว ไม่ต่างจากภูมิใจไทยที่ก็จะมีเพียง อนุทิน ชาญวีรกูล เท่านั้นที่จะถูกเสนอชื่อ น่าสนใจตรงที่ล่าสุดเสี่ยหนูประกาศหาญกล้าท้าชิงตำแหน่งกับบิ๊กตู่และเฮียกวงจากพรรคสืบทอดอำนาจ ถ้าคำท้านี้ไม่ใช่แค่ปลุกใจลูกพรรคให้ฮึกเหิม ก็น่าคิดอยู่ไม่น้อยอะไรทำให้เจ้าตัวมั่นใจถึงขนาดนั้น นี่แหละการเมืองทุกกระบวนท่าต้องตีความ

Back to top button