พาราสาวะถี

คนไม่ตื่นเต้นเนื่องจากสิ่งที่เห็นและเป็นไปมันผ่านกระบวนการรับรู้กันมาตั้งแต่ก่อกำเนิดพรรคสืบทอดอำนาจกันแล้ว ดังนั้น หลังการลาออกของ 4 รัฐมนตรีตามมาด้วยวันรุ่งขึ้นพรรคพลังประชารัฐประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเคาะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยมีชื่อของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกวางไว้เป็นอันดับหนึ่ง คนจึงบอกกันแค่ว่าก็เท่านั้น ยึกยัก ลีลากันไปทำไม


อรชุน

คนไม่ตื่นเต้นเนื่องจากสิ่งที่เห็นและเป็นไปมันผ่านกระบวนการรับรู้กันมาตั้งแต่ก่อกำเนิดพรรคสืบทอดอำนาจกันแล้ว ดังนั้น หลังการลาออกของ 4 รัฐมนตรีตามมาด้วยวันรุ่งขึ้นพรรคพลังประชารัฐประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเคาะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยมีชื่อของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกวางไว้เป็นอันดับหนึ่ง คนจึงบอกกันแค่ว่าก็เท่านั้น ยึกยัก ลีลากันไปทำไม

หากเทียบกับละครก็ถือเป็นละครน้ำเน่าที่คนเห็นพล็อตเรื่อง ก็รู้แล้วว่าจะเดินกันไปในทิศทางใด สิ่งที่เหลือจากนี้ก็คือ 4 อดีตรัฐมนตรีจะทำการแห่ขันหมากไปสู่ขอโดยมีสินสอดทองหมั้นคือ ตำแหน่งผู้นำประเทศจากการสืบทอดอำนาจ การเดินตามนโยบายประชารัฐทั้งหลายแหล่ รวมถึงการเป็นเด็กดีทำตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่รอก็คือจะตอบรับทันทีหรือดึงจังหวะ ซื้อเวลา ไม่ให้น่าเกลียดเท่านั้นเอง

ความจริงมันไม่มีอะไรให้ต้องยืดเยื้อ ในเมื่อผู้นำเผด็จการก็รับสารภาพเอง มีพรรคเดียวที่จะเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ส่วนพรรคอื่น ๆ นั้นสนับสนุนแต่ไม่ได้เสนอชื่อ ยังต้องอธิบายอะไรกันอีก สิ่งที่เหลือคือ ท่านผู้นำจะปรับตัวเป็นนักการเมืองที่ไม่เจ้ายศเจ้าอย่างอย่างไร ถนัดแต่สั่งให้คนซ้ายหันขวาหัน และมีแต่คนคอยพินอบพิเทา จากนี้ไปต้องยกมือไหว้ขอคะแนนเสียงประชาชน มันจะทำได้เนียนตา เป็นธรรมชาติหรือเปล่า

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องรายการคืนวันศุกร์เลิกจัดเลยหรือเปล่า และการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในตำแหน่งนายกฯและหัวหน้าคสช. อะไรที่ต้องเพลา ๆ ลงบ้าง ทั้งหมดเหล่านี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่าคนที่อ้างเรื่องปฏิรูปการเมือง จะเป็นนักการเมืองต้นแบบได้ไหม แต่หากยังไปพูดเวทีไหนแล้วติดดาบ พาดพิงถึงนโยบายพรรคโน้น คนของพรรคนี้ ไม่มีทางทำโน่นนี่ได้ มีแต่พรรคเราและตัวเราเท่านั้นที่ทำได้ พฤติกรรมแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากนักการเมืองซังกะบ๊วยที่ท่านกล่าวหามาตลอดเกือบ 5 ปี

ส่วนการเลือกตั้งหนนี้จากเวทีสัมมนาของมติชนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ปริญญา เทวานฤมิตรกุล บอกว่าจะเป็นการแข่งขันของ 3 ก๊กคือ ก๊กเพื่อไทยและเครือข่าย ก๊กพลังประชารัฐกับพรรคสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ และก๊กประชาธิปัตย์ โดยปลายทางก็จะมีการไหลรวมกันของสองพรรคอย่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ บนข้อแม้ว่าพรรคสืบทอดอำนาจต้องชนะเลือกตั้งด้วย

ถูกส่วนหนึ่ง แต่ความจริงน่าจะเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งแบบ 3 ก๊ก 2 พวกเสียมากกว่า คงไม่ต้องสาธยายกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับมุมมองของ สุรชาติ บำรุงสุข ที่อยากเห็นพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แต่ต้องเตรียมยาไว้ 3 ขนานคือ ยาบำรุงหัวใจ ยาประสาท และยากล่อมประสาทให้นอนหลับ เพราะหากผู้นำเผด็จการไม่เปลี่ยนบุคลิกที่เป็นอยู่น่าจะใช้ชีวิตในสภาลำบาก

แต่ถ้าประเมินจากการกล้าประกาศว่าไม่กลัวเปลืองตัว ถ้ากลัวก็ไม่กระโจนมายึดอำนาจตั้งแต่ปี 2557 ก็น่าจะเป็นสัญญาณว่า เผด็จการที่จะกลายร่างเป็นนักการเมืองคงเตรียมตัวมาดี พร้อมรับทุกสถานการณ์ ยิ่งการพูดล่าสุดเมื่อวันวาน ยิ่งทำให้เห็นถึงความมั่นอกมั่นใจ ด้วยการยืนยันว่าหลังมีรัฐบาลใหม่ประเทศต้องปรองดอง จะเดินขบวนหรือตีกันอีกไม่ได้ เพราะเป็นคนเลือกมาเอง ยิ่งทำให้เห็นถึงกระบวนการคิดและวิธีที่จะนำมาใช้หลังกลับมาสืบทอดอำนาจ

ปัญหาก็คือ ที่อ้างว่าประชาชนเลือกมาเองนั้นใช่คนและพรรคที่ประชาชนเสียงส่วนใหญ่อยากให้เข้าไปทำหน้าที่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็จะห้ามอย่างที่ท่านว่าไม่ได้ และถ้าไม่มีกฎหมายพิเศษรวมทั้งมาตรายาวิเศษ ไม่ทราบว่าจะรับมือกันอย่างไร เว้นเสียแต่จะใช้อภินิหารบางอย่างให้มีอำนาจแบบนั้นนั่นก็อีกเรื่อง ส่วนที่บอกกับเกษตรกรว่าต้องปรับตัวถ้าไม่ปรับการแก้ปัญหาก็ไม่สำเร็จทั้งชาตินี้และชาติหน้า ไม่เข้าใจว่าผู้นำเผด็จการเข้าใจปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรมากน้อยขนาดไหน

อยากเห็นเหมือนกันหลังเลือกตั้งแล้วมีรัฐบาลใหม่ที่เป็นขบวนการสืบทอดอำนาจ หากสภาพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนยังเป็นอยู่เหมือนปัจจุบัน คิดว่าจะไม่มีม็อบกลุ่มความเดือดร้อนมากดดันอย่างนั้นหรือ มีแน่และจะจัดการอย่างไรนั่นเป็นเครื่องหมายตัวโต เอาเฉพาะกรณีม็อบต้านเขื่อนวังหีบที่บุกทำเนียบฯเมื่อไม่กี่วันก่อน ก็ตาลีตาเหลือกแก้ปัญหาแบบปะผุกันแทบไม่ทัน

ถนนสายเลือกตั้งนั้น จะรีบด่วนสรุปว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้ รายทางของการเลือกตั้งทุกครั้ง มักจะมีอุบัติเหตุทางการเมือง หรือเรื่องที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะการขุดคุ้ยปมส่วนตัวหรือปัญหาที่บางครั้งคนที่ถูกโจมตีก็คาดไม่ถึง ซึ่งในรายของผู้นำเผด็จการแม้จะสุดมั่นใจว่าไม่มีเรื่องให้เปิดโปง แต่อย่าวางใจกลเกมการเมืองเป็นอันขาด

ดังเช่นเรื่องวันเลือกตั้ง หากเป็นทุกครั้งที่ผ่านมาเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส.และกกต.ประกาศวันอย่างชัดเจนแล้ว นักการเมืองทุกคนจะตั้งหน้าตั้งตาหาเสียง โน้มน้าว จูงใจให้ประชาชนเดินเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งและพรรคที่สังกัดเอง แต่วันนี้ ยังมีคนที่ไม่เชื่อมั่นว่า 24 มีนาคมจะได้เลือกตั้งตามกำหนดหรือเปล่า

ไม่เว้นแม้แต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปกติหากเป็นเรื่องที่ชัดเจนตามกฎหมาย ว่ากันไปตามระบบจะตอบตามหลักการและยืนตามนั้นหนักแน่น แต่หนนี้กลับบอกว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ผู้มีอำนาจไม่ค่อยจะเต็มใจให้มีการเลือกตั้ง แม้จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งซึ่งถือว่าเป็นหลักประกันว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ยอมรับว่า ตนก็ไม่กล้าพูดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะมีการเลือกตั้ง จึงอยากให้เผื่อใจไว้

ทั้งหมดทั้งมวลคงต้องโทษคนที่เที่ยวไปป่าวประกาศว่าจะเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2558 แล้วเลื่อนกันมาหลายหน จนกระทั่งเพลงที่ตัวเองเขียนแท้ ๆ แล้วทำตามสัญญาไม่ได้ต้องยกเลิกหายเข้ากลีบเมฆ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ความน่าเชื่อถือทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่สักแต่ว่าจะพูดอะไรก็ได้โดยไม่รับผิดชอบหรือเอาแต่แก้ตัวต่าง ๆ นานา ขนาดมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังชักเข้าชักออกขนาดนี้ แล้วถ้ามีอำนาจแบบนักการเมืองในอดีตที่ปลิ้นปล้อนเป็นกิจวัตร ไม่รู้ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร

Back to top button