ชัวร์ หรือ มั่วนิ่ม
อนาคตของธนาคารทหารไทย (TMB) ที่คาดว่าจะมีการควบรวมกับธนาคารธนชาต (TBANK) ในเครือทุนธนชาต ที่ดูเหมือนจะราบรื่น ดูจะสะดุดเอาง่าย ๆ ในเรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้นของกระทรวงการคลัง ภายหลังการควบรวมแล้ว
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
อนาคตของธนาคารทหารไทย (TMB) ที่คาดว่าจะมีการควบรวมกับธนาคารธนชาต (TBANK) ในเครือทุนธนชาต ที่ดูเหมือนจะราบรื่น ดูจะสะดุดเอาง่าย ๆ ในเรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้นของกระทรวงการคลัง ภายหลังการควบรวมแล้ว
คนแรก ปลัดกระทรวงคลัง นายประสงค์ พูนธเนศ ซึ่งนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการธนาคาร TMB ด้วย ออกมาบอกว่า สำหรับการใส่เงินเพื่อรักษาสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลังควบรวมให้ได้ 25% กระทรวงการคลังมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ อย่างไหนจะคุ้มค่ามากกว่ากัน โดยตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างการพิจารณาตัวเลข ซึ่งจะต้องนำข้อสรุปดังกล่าวมาเสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาเห็นชอบ
เหตุผลที่เข้าใจกันอยู่ที่ว่าสัดส่วน 25% นั้น เป็นสัดส่วนสำคัญที่เรียกกันว่า swinging vote rights สามารถชี้นำทิศทางของคณะกรรมการได้ดี เพียงแต่ถ้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน กระทรวงการคลังจะต้องลงขันอีกประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท
ตรงนี้แหละที่เป็นประเด็นเพราะถ้ากระทรวงคลังจะลงขันเพิ่ม ต้องตอบคำถามที่ไม่ง่ายว่าทำไมต้องจ่ายเพิ่ม
ในทางกลับกัน ถ้าไม่อยากซื้อหุ้นเพิ่มทุนรักษาสัดส่วนการถือครอง ก็คงต้องขายทิ้งออกมา แต่อย่างที่รู้กันอีกน่ะแหละว่า กระทรวงคลังเคยประกาศชัดว่าต้นทุนของตัวเองนั้นอยู่ที่ 3.80 บาท จะไม่มีทางขายต่ำกว่านั้นแน่นอน คำถามคือใครจะซื้อหุ้นที่ราคานั้นให้ขาดทุน เพราะต้องมีการเพิ่มทุนอีกมาก ที่จะทำให้ราคาหุ้นลดลง เพราะกำไรต่อหุ้นจะลดลง ตามสัดส่วนหุ้นที่เพิ่มขึ้น
เมื่อวานนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กลับบอกหน้าตาเฉยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานกรณีการควบรวมระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต ส่วนประเด็นว่าหากมีการควบรวมกิจการเกิดขึ้นจริงกระทรวงการคลังจะเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นหรือไม่นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่ม เพราะการลงทุนในธนาคารทหารไทยไม่ใช่การลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ จะต้องพิจารณาถึงผลตอบแทนด้วย หากไม่คุ้มก็ไม่เพิ่ม
คำพูดของนายอภิศักดิ์ ในรูป “แทงกั๊ก” คือ ไม่ปฏิเสธ และไม่ยอมรับ เรื่องการรักษาสัดส่วนถือครองหุ้น แสดงว่า ดีลนี้ ยังมีโจทย์สำคัญที่ต้องทำการบ้านต่อไป เรื่องที่จะควบรวมกันง่าย ๆ เพื่อเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท คงไม่ได้เห็นในเร็ววัน
ดังนั้นกระแสข่าวที่ออกมาว่า ในเร็ว ๆ นี้จะลงนามเอ็มโอยูร่วมกัน โดยที่มีความชัดเจนเรื่องสัดส่วนถือหุ้นของ 4 รายใหญ่ ธนาคารหลังการควบรวมที่จะใช้ชื่อ TMB ต่อไป โดยชื่อของ TBANK จะถูกปลดออกเหลือแต่ตำนาน โดยสัดส่วนที่จะถือว่าสำคัญ คือ ธนาคาร ING Bank N.V. กระทรวงการคลัง กลุ่มทุนธนชาต และ Scotia Netherlands Holding B.V.
ดีลควบรวมระหว่าง TMB กับ TBANK มีความซับซ้อนเพราะประวัติความเป็นมาของธนาคารทั้งสองแห่งนั่นเอง
TMB ที่เริ่มจัดตั้งขึ้นมาโดยกองทัพไทยทั้งสาม ผ่านวิบากกรรมระหกระเหินมายาวนานนับแต่ยุคทองของธุรกิจธนาคารพาณิชย์แบบเก่าสิ้นสุดลงในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง มีการเพิ่มทุนหลายระลอก จนกระทั่งในปี 2547 มีการควบรวมและจัดสรรโครงสร้างถือหุ้นใหม่ โดยรวมเอาสถาบันการเงิน 3 แห่ง คือ TMB-บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย-ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ รวมเป็น TMB ที่ยังเหลือชื่อเดิมเอาไว้ แต่กองทัพไม่ได้ถือหุ้นใหญ่อีกต่อไป กระทรวงการคลังกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ต่อมา กลุ่มธนาคาร ING ของเนเธอร์แลนด์เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนและถือหุ้นในสัดส่วนอันดับสอง แต่สามารถได้สิทธิ์คัดเลือกผู้บริหารได้ โดยที่กระทรวงการคลังประกาศเสมอมาว่า พร้อมจะขายหุ้นออกจากมือ ถ้าได้ราคาคุ้มทุน 3.80 บาท แต่ที่ผ่านมา แม้จะมีกำไรต่อเนื่อง แต่กำไรบางมาก โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา ที่มีกำไรสุทธิโตเด่นมาก แต่ก็ทราบกันดีว่า กำไรที่เกิดขึ้นมาจากกำไรพิเศษจากการ “ขายลูกกิน” จากการขายรับรู้กำไรจากดีล บลจ.ทหารไทย 1.2 หมื่นล้านบาท ให้กลุ่ม อีสต์สปริงส์ ไม่ใช่กำไรจากการดำเนินงาน ที่ชวนเศร้ามากกว่าชื่นชมเช่นกัน เพราะมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่รายได้มิใช่ดอกเบี้ยที่ได้รวมเอาส่วนกำไรพิเศษเข้ามาด้วย
ส่วน TBANK ก็มีประวัติเติบโตจากธุรกิจเงินทุนที่ยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ และเร่งโตทางลัดในลักษณะ “ปลาเล็กกินปลาใหญ่” เทกโอเวอร์กิจการธนาคารเก่าแก่อย่างธนาคารนครหลวงไทย เข้ามาในร่มธงเดียวกัน และที่ผ่านมาก็มีกำไรจากการดำเนินงานที่ล่าช้ามาก ต้องพึ่งพาการ “ขายลูกกิน” สร้างกำไรพิเศษมาเป็นระยะ ๆ
ดีลการควบรวมนี้ อาจจะเป็นไปตามสูตร “1+1=3″ หรือ “1+1=1.5″ ยังไม่จบง่าย ดังนั้น คงต้องติดตามกันไปเรื่อย ๆ
รู้แค่ว่าตอนนี้ ยังไม่ใช่เวลาของการซื้อหุ้น TMB หรือ TCAP โดยพิจารณาแค่ดีลควบรวมกิจการเป็นสำคัญ ก็พอแล้ว