ดราม่าน้ำแล้งขี่พายุ ทะลุฟ้า
ฝนมาล่าช้าอย่างนี้ เกษตรกรลงมือปลูกพืชผลไม่ได้ ความหวังจะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง คงต้องทำใจเลิกหวังกันได้แล้ว
ฝนมาล่าช้าอย่างนี้ เกษตรกรลงมือปลูกพืชผลไม่ได้ ความหวังจะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง คงต้องทำใจเลิกหวังกันได้แล้ว
ราคาพืชผลตกต่ำ ยังจะดีเสียกว่าภาวะเยี่ยงนี้ คือ ไม่สามารถจะลงมือปลูกพืชผลอะไรได้เลย เพราะเมื่อเพาะปลูกไม่ได้ ก็ไม่มีรายได้ แต่หากปลูกพืชผลได้ แม้ราคาพืชผลต่ำ ก็ยังพอมีรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัวได้บ้าง
ผมว่า ชะตากรรมเกษตรกรในภาวะวิกฤตภัยแล้งตอนนี้ อาจจะเลวร้ายกว่าเกษตรกรตอนปีน้ำท่วมปี 54 นั้นเสียอีก
เพราะวิกฤตน้ำเที่ยวนี้ เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ตอนน้ำท่วมปีนั้น ผลเสียหายเกิดขึ้นเฉพาะชาวนาภาคกลาง และก็ยังสามารถชดเชยความเสียหายด้วยการทำนาปรังต่อมาได้
รัฐบาลตอนนั้น ก็ยังเยียวยาความเสียหายให้เกษตรกรตามสมควร แต่รัฐบาลตอนนี้ ที่ระวังตัวแจในเรื่องที่จะไปทำอะไรซ้ำรอยรัฐบาลเก่า ก็ยังไม่มีท่าทีอะไรในการออกมาตรการช่วยเหลือเหมือนกัน
“น้ำท่วม-น้ำแล้ง” คือคู่แฝดในวงจรอุบาทว์ ทำอย่างไรจึงจะมีแหล่งเก็บกักน้ำที่มากพอ อาทิ เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ที่ใช้กักเก็บน้ำยามหน้าฝน ไม่ให้ปล่อยน้ำจำนวนมากไหลลงสู่ที่ต่ำ ออกสู่ทะเลไปโดยเปล่าประโยชน์
ขณะเดียวกันยามหน้าแล้งที่ฝนไม่ตก หรืออาจจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงอย่างเช่นตอนนี้แหละ ก็จะได้นำน้ำจากแหล่งกักเก็บต่างๆ ออกมาบรรเทาแล้ง
นี่คือระบบบริหารจัดการที่จะต้องปฏิบัติจัดทำแผนจัดการน้ำทั้งระบบให้ได้
รัฐบาลชุดที่แล้วคิดได้ เรื่องแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งต้องอาศัยเงินลงทุนวางโครงสร้างรากฐานเป็นจำนวนสูงพอสมควร แต่คนก็ไปตราหน้าด่าว่าเรื่องโกง ทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือทำ
รัฐบาลชุดนี้ท่านเข้ามา ท่านบอกว่าจะไม่ทำโครงการใหญ่ในเรื่องน้ำ แต่โครงการเล็ก ผมก็ยังไม่เคยได้ยินว่าท่านปฏิบัติจัดทำที่ไหนเหมือนกันนะ
ก็เลยไม่รู้ว่า แนวทางแก้น้ำท่วม-น้ำแล้งของรัฐบาลทหาร จะออกมาแนวใด
คนที่น่าจะรู้เรื่องดีที่สุดถึงวิธีแก้ปัญหาน้ำไม่ให้เกิดวิกฤตทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้งในประเทศไทย ก็น่าจะเป็นอธิบดีกรมชลประทาน
แต่วันนี้ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลฯ กลับกลายเป็นตัวตลกหน้าม่าน ที่คอยประจบประแจงและหาทางห้อยโหนขั้วอำนาจไปเสียแล้ว
คงหวังจะได้อยู่ในตำแหน่งนานๆ ก็เลยออกมาให้ข่าวเอาใจขั้วอำนาจว่า “ฝ่ายการเมือง” (รัฐบาลที่แล้ว) เป็นผู้สั่งการให้พร่องน้ำเหลือแค่ 45% ของความจุเขื่อน เพราะเกรงจะเกิดน้ำท่วมซ้ำรอยปี 54
ก็เลยเป็นตัวการต้นเหตุของวิกฤตขาดแคลนน้ำเที่ยวนี้
นอกจากนี้ การพร่องน้ำจำนวนมาก ก็ยังเป็นสาเหตุให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก จากเดิมพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังมีแค่ 5-6 ล้านไร่ ได้ขยายพื้นที่ออกมาเป็น 15 ล้านไร่
ก็เป็นธรรมดาของคนชอบห้อยโหนอำนาจล่ะครับ พอกล่าวโทษรัฐบาลเก่าไปแล้ว ก็ยกยอตัวเองเป็นวีรบุรุษว่า ได้ทำการห้ามปรามฝ่ายการเมืองยุคนั้นไปแล้ว ในที่สุดฝ่ายการเมืองได้ยอมรับเหตุผลตน แต่ความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นมากมายไปแล้ว
คำพูดอธิบดีฯ ก็ดูเท่ดีนะครับ แต่พอถามกลับไปว่า ที่ฝ่ายการเมืองพร่องน้ำเหลือ 45% น่ะ มันพร่องกันปีไหน ปรากฏว่าเป็นปี 2555 หลังปีน้ำท่วม 54 ครับ
นี่มันผ่านแล้ง ผ่านฝนมา 4 ปีจนเป็นปี 2558 แล้วนะ อธิบดีประสาทเพี้ยนคนนี้ ก็ยังหาเรื่องโทษแก๊สโซฮอล์เพื่อเอาใจขั้วอำนาจอยู่นั่นแหละ
ลองคิดกันให้ดีนะครับ ถ้าจะโทษเรื่องพร่องน้ำมากจนเกิดวิกฤตภัยแล้งเวลานี้ มันก็น่าจะโทษรัฐบาลประยุทธ์มากกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์มิใช่หรือ
เจ้าอธิบดีคนนี้ มุ่งส.พ.เพลินจนเกือบจะเป็นการหาเหาใส่หัวตัวเองเสียแล้ว