ญี่ปุ่นบนความหมิ่นเหม่

ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่ทำท่าแข็งค่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เริ่มกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในระหว่างนี้


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่ทำท่าแข็งค่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เริ่มกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในระหว่างนี้

ล่าสุดค่าเงินเยน เทียบกับดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ระดับเหนือ 110 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง ซึ่งมีผลทำให้ดัชนีนิกเกอิของตลาดหุ้นโตเกียวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งที่มีข่าวร้ายเกิดขึ้น

ข่าวร้ายที่กลายเป็นข่าวดีคือ ดุลการค้าล่าสุดของญี่ปุ่นกลับขาดดุลอีกครั้งในรอบหลายเดือน ที่ร้ายกว่านั้นขาดดุลต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เสียอีก

ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในช่วงเช้าวานนี้ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นระบุว่า ยอดส่งออกเดือนมกราคมร่วงลง 8.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 5.57 ล้านล้านเยน ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของอุปสงค์ในต่างประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.  2560 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน

ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 0.6% สู่ระดับ 6.99 ล้านล้านเยนในเดือน ม.ค. เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าพลังงานของญี่ปุ่นลดลงด้วย

ส่วนยอดขาดดุลการค้าเดือน ม.ค. อยู่ที่ 1.42 ล้านล้านเยน (1.279 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศจีนร่วงลงอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

ตัวเลขขาดดุลการค้าต่อเดือนสูงที่แท้จริงระบุว่า มากกว่านั้น และถือเป็นประวัติการณ์ถึง 1.63 ล้านล้านเยน (ราว 521,000 ล้านบาท) ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีสาเหตุหลักจากราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นหลังเงินเยนแข็งขึ้น

เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหม่อีก ขณะที่มุมมองเชิงบวกของตลาดหุ้นและบรรดานักวิเคราะห์การเงิน ล้วนไม่ได้ช่วยให้ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคของเมืองปลาดิบกระเตื้องขึ้นมาได้

ข้อมูลจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ระบุว่า เดือนมกราคมที่ผ่านมาญี่ปุ่นขาดดุลการค้าสูงถึง 1.63 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นสถิติต่อเดือนที่ย่ำแย่เป็นประวัติการณ์ และสูงยิ่งกว่าสถิติเดิม 1.48 ล้านล้านเยนในเดือนมกราคมปีที่แล้ว

จากการเปรียบเทียบตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1979 ญี่ปุ่นมักจะขาดดุลการค้าสูงเป็นพิเศษในเดือนมกราคม เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่

เดิมทีนั้น นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่า ยอดขาดดุลในเดือนมกราคมปีนี้ไม่น่าจะเกิน 1.3 ล้านล้านเยน แต่ก็ผิดอีกจนได้ เพราะมันรุนแรงยิ่งกว่าที่ผมคาดไว้มาก

นักเศรษฐศาสตร์ยอมรับว่า  ญี่ปุ่นคงแก้ปัญหาขาดดุลการค้าได้ไม่ง่ายนัก พร้อมเตือนว่า ญี่ปุ่นจะประสบปัญหาขาดดุลการค้าต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน

แม้มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นราว 6.4% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ราว ๆ 4.8 ล้านล้านเยน ซึ่งถือเป็นการขยับขึ้นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนหลังจากที่การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ กลับมาคึกคัก ทว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศกลับเพิ่มขึ้นอีก 7.3% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 6.43 ล้านล้านเยน โดยสาเหตุหลักเกิดจากราคาเชื้อเพลิงประเภทปิโตรเลียม, ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบที่ขยับสูงขึ้น

เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตินิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดของโลกในรอบหลายสิบปี ทำให้ญี่ปุ่นต้องสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกือบทั้งหมดที่มีอยู่ และจำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานภายในประเทศ

นับแต่เดือนพฤศจิกายนมา ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 7.373 แสนล้านเยน สาเหตุจากต้นทุนนำเข้าน้ำมันและแก๊ส ขณะที่ยอดการส่งออกสินค้าเกี่ยวกับสมาร์ตโฟนไปยังเอเชียร่วงลง

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมียอดการนำเข้าเพิ่มขึ้น 12.5% จากปีก่อนหน้า แตะที่ระดับ 7.66 ล้านล้านเยน โดยมีการนำเข้าน้ำมันที่ยังไม่ผ่านกรรมวิธีเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ซึ่งมีราคาสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ขณะที่ยอดการส่งออกนั้นเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% แตะที่ 6.93 ล้านล้านเยน ท่ามกลางการชะลอตัวลงของอุปสงค์สมาร์ตโฟนในเอเชีย

เมื่อพิจารณาในภูมิภาค การขาดดุลของญี่ปุ่นกับคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอย่างจีนนั้น เพิ่มขึ้นแตะ 5.031 แสนล้านเยน เนื่องจากยอดการนำเข้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและสมาร์ตโฟนของญี่ปุ่นนั้นเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 6.234 แสนล้านเยน แม้ว่ายอดการนำเข้าสินค้า เช่น ข้าวโพดที่ใช้เป็นอาหารสัตว์จะแซงหน้ายอดการส่งออกเครื่องยนต์เครื่องบิน นอกจากนี้ยอดการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ ก็ร่วงลงเช่นกัน

เมื่อเทียบกับสหภาพยุโรป (EU) พบว่า ยอดขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นแตะ 1.382 แสนล้านเยน เป็นผลมาจากยอดการนำเข้ารถยนต์จากเยอรมนีและยาจากไอร์แลนด์ที่สูงขึ้น

เหตุปัจจัยที่เกิดจากการเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าในต่างประเทศ ทำให้ตัวเลขขาดดุลการค้าระยะสั้นดูเลวร้ายลง แต่หากประเมินในภาพรวม ถือว่าเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเท่านั้นเอง ความหมิ่นเหม่ทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะสั้น จึงไม่ควรด่วนมองโลกเชิงลบสิ้นเชิง (รวมทั้งเรื่องการเข้าสู่สังคมสูงวัย)

จะมองแบบ “โลกสวย” ทำนอง “ในผาทึบ มีถ้ำทอง” ก็คงได้

 

Back to top button