UPA ทุ่ม 81.69 ลบ. ลุยโครงการน้ำประปาลาวสัมปทาน 50 ปี เล็งลงทุนธุรกิจพลังงานทางเลือกเพิ่ม

UPA ทุ่ม 81.69 ลบ. ลุยโครงการน้ำประปาลาวสัมปทาน 50 ปี เล็งลงทุนธุรกิจพลังงานทางเลือกเพิ่ม มั่นใจผลงานปี 62 โตก้าวกระโดด หลังจ่ายไฟโรงไฟฟ้า 3 โครงการ คาดเพิ่มรายได้ 48 ล้านบาท/ปี


นายอุปกิต ปาจรียางกูร ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้เข้าลงทุนในโครงการน้ำประปาแสนดินใน สปป. ลาว  โดยลงทุนผ่านบริษัท เอไอดีซี วอเตอร์ โฮลดิ้ง (สิงคโปร์) พีทีอี แอลทีดี (AIDC Water Holding (Singapore) Pte. Ltd.) (AWH) ซึ่งจะเป็นผู้ถือหุ้น 60% ของ บริษัท เอเชีย วอเตอร์ จำกัด ผู้เดียว (Asia Water Sole Company Limited) (AWS) โดยเป็นผู้ที่ดำเนินโครงการผลิตน้ำประปาแสนดินจากการรับโอนโครงการน้ำประปาจาก บริษัท เอเชีย ลงทุน พัฒนาและก่อสร้าง จำกัด เพียงผู้เดียว (Asia Investment, Development & Construction Sole Co., Ltd.) (AIDC)

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะซื้อหุ้นของ AWH ในจำนวน 30% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ AWH จาก AIDC ในวงเงิน 2.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 81.69 ล้านบาท (อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 31.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562) ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมใน AWS ในสัดส่วน 18% โดยการลงทุนในโครงการน้ำประปา บริษัทฯ จะใช้เงินจากเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในอดีต ตามวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 15 มกราคม 2562 และเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ

โครงการน้ำประปาตั้งอยู่ที่เมืองนาทรายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ ใน สปป.ลาว ดำเนินธุรกิจผลิตน้ำประปาจ่ายให้กับน้ำประปานครหลวงของลาว (Nam Papa Nakhone Luang of Lao) โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี กำลังการผลิตรวม 48,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แบ่งกำลังการผลิตออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 ในอัตรา 24,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มประมาณปีที่ 13 ของโครงการจะขยายกำลังการผลิตออกเป็น 48,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยปัจจุบันการก่อสร้างเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์” นายอุปกิต กล่าว

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทฯในปี 2562 คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการโซลาร์สหกรณ์การเกษตรทั้ง 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสหกรณ์ผู้ผลิต และผู้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อ.กระแสสินธุ์ ,โครงการสหกรณ์การเกษตรวิเชียรบุรี  และโครงการสหกรณ์การเกษตรกะทูน กำลังการผลิตรวม 7.95 เมกะวัตต์ ทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมเข้ามาสนับสนุน โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 4.12 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 25 ปี ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ประมาณ 48 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังพัฒนาและมองหาโอกาสในการลงทุนพลังงานทางเลือกใหม่รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคตอีกด้วย

Back to top button