ส่องผลกระทบ 6 หุ้นสายการบิน-โรงแรม “ปากีฯ” ปิดน่านฟ้าเลวร้ายสุดกระทบกำไร 40%

ส่องผลกระทบ 6 หุ้นสายการบิน-โรงแรม “ปากีฯ” ปิดน่านฟ้าเลวร้ายสุดกระทบกำไร 40%


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลรวบรวมบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) ที่ได้ทำการประเมิณผลกระทบของหุ้นกลุ่มสายการบินที่คาดว่าจะได้รับปัจจัยกดดันจากกรณีสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประกาศปิดน่านฟ้ากะทันหัน จากสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐอินเดียและสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน

โดยเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา กองทัพปากีสถานได้ยิงเครื่องบินกองทัพอากาศอินเดียร่วงลง 2 ลำ บริเวณพื้นที่ความขัดแย้งในดินแดนแคชเมียร์ ซึ่งเครื่องบินลำหนึ่งร่วงลงพื้นที่ในควบคุมของอินเดีย และอีกลำหนึ่งตกลงในพื้นที่ควบคุมของปากีสถาน แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้น หลังมีรายงานว่า เครื่องบินกองทัพอากาศปากีสถาน รุกล้ำน่านฟ้าของอินเดียก่อนจะถูกผลักดันกลับไป ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มสายการบินของไทย ปรับตัวลงกันอย่างหนัก

โดยบล.เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นสายการบินของไทย ปรับตัวลงกันระนาว หลักๆกดดันจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างปากีสถานและอินเดีย จนนำไปสู่การปิดน่านฟ้า ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคต่อสายการบินนานาชาติ ที่ต้องบินข้ามพรมแดนน่านฟ้าระหว่างอินเดียและปากีสถาน สายการบินต่างๆ ต้องยกเลิกเที่ยวบินระยะสั้น หรือเลี่ยงไปใช้เส้นทางบินอื่นแทน

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย ASP ประเมินว่า การปิดน่านฟ้าของปากีสถาน จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยวของไทย ดังนี้ อุตสาหรกรรมการบิน กระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานสายการบิน ซึ่งปัจจุบันต้องเผชิญกับต้นทุนน้ำมันที่ผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงอยู่แล้ว โดยสายการบินที่กระทบมากสุด คือ สายการบินที่มีเส้นทางบินสู่ยุโรปโดยตรงมากสุด

อันดับที่ 1 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือTHAI ซึ่งมีรายได้จากภูมิภาคยุโรปราว 10% ของรายได้รวม ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยแนะนำ Switch

อันดับที่ 2 บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA แม้จะให้บริการเส้นทางบินในภูมิภาคอาเซียน แต่ส่วนหนึ่งมีการรับผู้โดยสารต่อจากสายการบินครบวงจร บินตรงจากยุโรปและตะวันออกกลาง โดยลูกค้ากลุ่มนี้ มีสัดส่วนรายได้ราว 33% ของรายได้รวม

ทั้งนี้ แม้สายการบินพันธมิตรของ BA อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหา โดยบินอ้อมเส้นทางอื่น แต่ก็ทำให้ล่าช้ากว่าปกติ อาจทำให้เกิดปัญหา และค่าใช้จ่ายระยะสั้น ทางพื้นฐานแม้ฝ่ายวิจัยฯยังให้ซื้อ แต่ระยะสั้นให้ชะลอการลงทุนไปก่อน

อันดับที่ 3 – บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT มีฐานลูกค้ายุโรปใกล้เคียงนักท่องเที่ยวราว 23% และราคาหุ้นที่ใกล้เคียงกับปัจจัยพื้นฐาน จึงยังคงนำนำ Switch

 

ด้าน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปคิดเป็น 17% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่หากพิจารณาเป็นรายบริษัท พบว่า ผู้ที่ให้บริการด้านห้องพักโรงแรมแตกต่างกัน คือ

บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)  หรือ CENTEL แม้มีสัดส่วนรายได้ค่าห้องจากยุโรปประมาณ 27% ของค่าห้องพัก ซึ่งคิดเป็น 50% ของรายได้รวม ที่อีกเหลือ 50% เป็นรายได้ธุรกิจอาหาร หากมองกรณีเลวร้ายสุด ผลกระทบของ CENTEL สุทธิน่าจะราว 13.5%

บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW  มีสัดส่วนรายได้ค่าห้องพักจากนักท่องเที่ยวยุโรป 10-15% ของค่าห้องพัก ซึ่งคิดเป็น 65% ของรายได้รวม ที่อีกเหลือ 35% เป็นรายได้จากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มโรงแรม หากมองกรณีเลวร้าย ผลกระทบสุทธิของ ERW จะราว 8%

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT หลังควบรวม NH Hotel ทำให้สัดส่วนรายได้มาจากโรงแรมต่างประเทศเป็นหลัก สัดส่วน 60-70% ของรายได้โรงแรม ซึ่งในจำนวนนี้ 65%เป็นรายได้จากค่าห้องพักโรงแรมในต่างประเทศ ที่เหลือ 35-40% เป็นการกระจายไปธุรกิจอื่น เช่นอาหาร, พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีก กรณีเลวร้าย ผลกระทบสุทธิของ MINT จะราว 40%

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าผลกระทบน่าจะแค่ช่วงสั้น ล่าสุดมีการแก้ปัญหา โดยเลี่ยงเส้นทางบินผ่านน่านฟ้าอินเดีย-ปากีสถาน มายังน่านฟ้าอิหร่าน ขณะนี้กำลังเจรจากับรัฐบาลอิหร่าน ประกอบกับเป็นช่วงปลายไตรมาส 1 เข้าสู่ช่วง Low Season ปกตินักท่องเที่ยวยุโรปจะมาไทยน้อยลงช่วงนี้อยู่แล้ว ผลกระทบจึงจำกัด

ภายใต้สถานการณ์นี้ ฝ่ายวิจัยฯ ชอบ ERW เพราะผลกระทบน้อยสุด และยังมี upside 22% รองลงมาคือ MINT แม้กระทบมาก แต่ธุรกิจกระจายตัวดี และ มี upside สูงสุด 25% ขณะที่ CENTEL มี upside น้อยสุด จึงแนะนำซื้อลงทุน ERW และ MINT

Back to top button