ราคาหุ้นกับ PEG

ความรู้และมายาคติในตลาดหุ้น มักจะสวนทางกันเสมอ แต่ทั้งสองอย่างล้วนมีผลเชื่อมโยงกับราคาหุ้นเสมอ


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ความรู้และมายาคติในตลาดหุ้น มักจะสวนทางกันเสมอ แต่ทั้งสองอย่างล้วนมีผลเชื่อมโยงกับราคาหุ้นเสมอ

ยามนี้ ความผันผวนของตลาดหุ้นไทย เข้มข้นถึงขั้นนักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์รายใหญ่จำต้อง “แทงกั๊ก” กันด้วยการประดิษฐ์ถ้อยคำใหม่ป้องกันตัวเอง

ล่าสุด เพิ่งอ่านเจอวานนี้เองคือการชี้แนะว่าจากนี้ไปดัชนี  SET จะแกว่งตัวกว้างกว่าเดิม ที่มีความหมายว่า จะผันผวนมากขึ้นยากคาดเดา

ในความผันผวนเช่นนี้ นักลงทุนที่อยากพกหินมากกว่าพกนุ่น จำต้องหาความรู้ที่มีไว้รู้ทันตลาดและรู้ทันนักวิเคราะห์มากขึ้น เป้าหมายคือการค้นพบหุ้นที่ดีกว่าเดิม

หนึ่งในความรู้ที่จำเป็นคือ เรื่องของ อัตราส่วน PEG หรือ price/earning growth ratio (เรียกให้ถูกต้องตามหลักคือ P/E to earnings growth ratio) ที่เกิดจากการคำนวณอัตราส่วนที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ และซ้ำซ้อนกัน ได้แก่ P/E ratio กับ earning growth เพื่อหาสัดส่วนใหม่ที่ช่วยอ้างอิงราคาหุ้นในอนาคตที่แม่นยำได้

เดิมนั้นนักวิเคราะห์จำนวนมาก เชื่อว่าการคำนวณแบบที่ว่าไม่น่าถูกต้อง แต่ปัจจุบันเริ่มยอมรับกันมากขึ้นว่า บางทีสิ่งที่ไม่น่าจะเข้ากันได้นี่แหละ มันสามารถใช้ได้แม่นยำกว่าเดิม ก็ทำไมจะเมินเฉย ไม่ใช้ประโยชน์ล่ะ

การคำนวณหา PEG เป็นส่วนหนึ่งของคำแนะนำ คงมีขึ้นเพื่อความรอบคอบมากขึ้นในการประเมินค่าราคาหุ้นที่ควรเข้าซื้อในการลงทุน หรือ การปรับพอร์ต

PEG ที่ต่ำกว่า 0.5 ถือว่าปลอดภัย ส่วนที่ค่าสูงกว่า 1 แสดงว่าควรขายมากกว่าซื้อ

ข้อสรุปว่าด้วย PEG เบื้องต้นอย่างง่าย ๆ ถือว่าถ้าใช้เป็น จะมีประโยชน์มาก เช่นทำให้เรารู้เลยและตัดสินใจว่า ทำไมราคาหุ้นบางตัวถึงควรซื้ออย่างยิ่ง เพราะค่า PEG ต่ำกว่า 0.4 เท่า แม้บางครั้งเทียบค่า P/E แล้วดูสูงไม่ควรซื้อ และทำไมหุ้นบางตัวที่คนนิยมถึงควรอยู่ห่าง ๆ

นักลงทุนที่รู้วิธีการคำนวณหุ้นที่เลือกขึ้นมาบนฐานของหลักการ PEG ratio (ดูตารางประกอบ) เพื่อหา upside หรือ downside ของหุ้นแบบนักวิเคราะห์ ที่คำนวณเองได้ และแม่นยำพอสมควรที่จะชี้ว่า หุ้นไหนควร-ทยอยสะสม-ซื้อเล่นสั้น-ซื้อเก็งกำไรตามข่าว ตัวไหนควร-ขายทิ้งตามรอบ-ทิ้งเพราะพื้นฐานเปลี่ยน-ทิ้งเพราะไร้ข่าวดี

ยกตัวอย่างง่าย ๆ หุ้นขนาดเล็กมากของบริษัทขายอุปกรณ์ตกแต่งอาคารที่ระยะหลังเริ่มลงทุนบางส่วนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กในรูปคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์เขตใจกลางเมือง ปีที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิเติบโต 70% แต่กำไรต่อหุ้นเติบโตน้อยกว่า จากระดับ 2 สตางค์ต่อหุ้น เป็น 3 สตางค์ต่อหุ้น เหตุเพราะมีการแปลงวอร์แรนต์เป็นหุ้นสามัญเพราะครบอายุ

กำไรต่อหุ้นที่เติบโต 50% ในปีที่ผ่านมา ทำให้ค่าพี/อีลดฮวบ และทำให้ PEG ต่ำกว่า 0.5 เท่า คิดจากพื้นฐานแล้วน่าซื้อสะสมอย่างยิ่ง แต่ราคาล่าสุดที่ 0.65 บาทต่อหุ้น อาจจะทำให้หลายคนมองว่า เป็นหุ้นที่ควรเมินข้ามไป

มุมมองเช่นนี้ ทำให้เสียโอกาสมานักต่อนักแล้ว เพราะหากนำไปเทียบกับหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่กำไรสูงสุดของปีก่อน ที่กำไรสุทธิต่อหุ้นลดลง 10% และมีค่าพี/อี ที่ 11 เท่า ทำให้ PEG มากกว่า 1.1 เท่า จะเห็นชัดเจนว่า ซื้อหุ้นตัวไหนมีโอกาสทำกำไรมากกว่ากัน

การเป็นนักลงทุนที่สามารถ “เอาชนะตลาด” ได้ต่อเนื่อง ต้องการมากกว่าแค่ เก่ง กับ เฮง

 

Back to top button